ดัชนีหุ้นแผ่วหลัง ตลท.ประกาศให้ “เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ฯ” เป็นหลักทรัพย์ที่เข้าข่าย "มาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 1" ด้วยการห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย และ Cash Balance เหตุป่วนตลาดหุ้นไทย หลังถูกนำเข้าไปคำนวณดัชนี SET50 และ SET 100 อีกครั้ง ส่งผลให้ราคาหุ้น DELTA ผันผวนหนัก ล่าสุดปลายเดือนมีนาคมทะยานแบบไร้ปัจจัย และโบรกฯ มองมีการเก็งกำไรของต่างชาติ เชื่อมโยงตลาดซื้อขายล่วงหน้า พร้อมแนะนำ "Underperform" ราคา 590 บาท และแนะ “ขาย”
ราคาหุ้น DELTA หรือบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาราคาผันผวนหนัก เพราะบางวันราคาปรับขึ้นลงหวือหวามาก เพราะขึ้นแรงลงแรง และแต่ละวัน DELTA ขึ้นแท่นติดหุ้น 5 อันดับแรกที่มีการเปลี่ยนแปลงของราคามากที่สุด ลากยาวไปจนถึงช่วงปลายๆ เดือนราคาทะยานต่อเนื่องและสูงจนผิดสังเกต
ทั้งนี้ เมื่อ 30 มี.ค.66 DELTA ทะยานขึ้นไปปิดที่ 1,100.00 บาท เพิ่มขึ้น 94.00 บาท หรือ 9.34% มูลค่า 5,861.01 ล้านบาท เป็นหุ้นที่มีมูลค่าการซื้อขายมากเป็นอันดับแรกของวันและเป็นหุ้นที่มีราคาบวกมากสุดอันดับ 1 ของดัชนี SET 100 ส่วนวันที่ 31 มี.ค.ยังคงฉุดไม่อยู่ขึ้นไปปิดที่ 1,142.00 บาท เพิ่มขึ้น 42.00 บาท หรือ 3.82% มูลค่าซื้อขาย 5,294,946.94 กระทั่งก้าวขึ้นเดือนใหม่วันที่ 3 เม.ย. DELTA แผ่วลงมาแล้วกล่าวคือปิดที่ 970.00 บาท ลดลง 172.00 บาท หรือ 15.06% มูลค่า 2,601.87ล้านบาท เป็นหุ้นที่ติดอันดับมูลค่าขายสูงสุดอันดับ 3 ของวันและเป็นหุ้นที่มีราคาลดลงมากสุดอันดับ 1 ของดัชนี SET 100 และล่าสุดวันที่ 4 เมษายน ปิดที่ 964.00 บาท ลดลง 6.00 บาท หรือ 0.62%
สำหรับราคาที่พุ่งขึ้นเพราะแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติ เพราะวันที่ 30 มีนาคม ต่างชาติซื้อผ่าน NVDR 1,638.89 ล้านบาท และวันที่ 31 มีนาคม พบว่ามีการซื้อผ่าน NVDR อีก 386.80 ล้านบาท ส่งผลให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือมาร์เกตแคปของ DELTA พุ่งขึ้นเป็น 1.42 ล้านล้านบาท ครองความเป็นหุ้นขนาดใหญ่มาร์เก็ตแคปสูงสุดอันดับ 1 ในตลาดหลักทรัพย์ หรือมีสัดส่วน 7.21% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตลาดรวม ซึ่งมีถึง 19.73 ล้านล้านบาท ซึ่งการขึ้นลงของราคาหุ้น DELTA ทุก 10% มีผลต่อการขึ้นลงดัชนี 11.60 จุด
จากราคาที่ผันผวนหนัก ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงประกาศให้ DELTA เป็นหลักทรัพย์ที่เข้าข่าย "มาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 1" ด้วยการห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย คือห้ามสมาชิกใช้หลักทรัพย์เป็นหลักประกันในการคำนวณเป็นวงเงินซื้อขายหลักทรัพย์ (ในทุกประเภทบัญชี) และ Cash Balance สมาชิกต้องดำเนินการให้ลูกค้าซื้อหลักทรัพย์ด้วยบัญชี Cash Balance เท่านั้น โดยลูกค้าต้องวางเงินสดไว้ล่วงหน้ากับสมาชิกเต็มจำนวนก่อนซื้อหลักทรัพย์ ภายในระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.2566 ถึงวันที่ 21 เม.ย.2566
พร้อมกับออกคำเตือนนักลงทุน ตอกย้ำให้พิจารณาถึงข้อมูลปัจจัยพื้นฐานและความเสี่ยงของหุ้น DELTA อีกครั้ง แต่ผลตอบรับเช่นเดียวกับคำเตือนครั้งก่อนๆ คือราคาหุ้น DELTA ยังพุ่งทะยานอย่างร้อนแรง สร้างจุดสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง และไม่อาจคาดหมายได้ว่าราคาจะเดินหน้าไปไกลขนาดไหน แม้ค่าพี/อี เรโชจะทะลุ 92 เท่า โดยปราศจากไม่มีข่าวดีหรือปัจจัยใหม่กระตุ้น
ทั้งนี้ ราคาหุ้น DELTA ไม่อ้างอิงกับปัจจัยพื้นฐาน ไม่เคลื่อนไหวตามภาวะตลาด แต่เคลื่อนไหวตามแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติ เพราะต้องการผลักดันดัชนี 50 เพื่อผลการขึ้นลงของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ดังนั้น หลังจาก ตลท. ใช้มาตรการดับร้อนต่อ DELTA ส่งผลให้เมื่อ 3 เม.ย. ดัชนีหุ้นปิดที่ 1,600.37จุ ด ลดลง 8.80 จุด หรือ 0.55% เคลื่อนไหวในกรอบ 1,593.96-1,613.98 จุด มูลค่าซื้อขาย 46,785.79 ล้านบาท ล่าสุดเมื่อ 4 เม.ย. ดัชนีปิดที่ 1,594.05 จุด ลดลง 6.32 จุด หรือ 0.39% เคลื่อนไหวในกรอบ 1,591.20- 1,603.79 จุด ค่าซื้อขาย 41,628.88 ล้านบาท
ปัดไม่ทราบเหตุหุ้นวิ่ง ตลท.ออกโรงเตือน
และจากการที่ราคาหุ้น DELTA พุ่งทะยานต่อเนื่องโดยไร้ปัจจัยพื้นฐานใหม่ๆ มารองรับ ทำให้เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. ออกมาเตือนผู้ลงทุนให้พิจารณาข้อมูลอย่างรอบคอบและระมัดระวังก่อนเข้าซื้อขายในหุ้น DELTA เพราะจากการติดตามสภาพการซื้อขายหลักทรัพย์ DELTA อย่างต่อเนื่อง พบว่าในวันที่ 30 มีนาคม 2566 ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก จนมาปิดที่ระดับสูงสุด (New All Time High) ที่ 1,100 บาท มูลค่าซื้อขายสูงเป็นอันดับ 1 ที่ 5,871 ล้านบาท ด้วยค่า P/E ที่ 89.42 เท่า และ P/BV ที่ 25.09 เท่า ขณะที่ในวันเดียวกัน พบการซื้อขายหุ้น DELTA แบบบิ๊กล็อตในช่วงเช้ามูลค่าสูงสุด 32.52 ล้านบาท ราคาเฉลี่ยหุ้นละ 1,084 บาท พร้อมกับมีการสอบถามไปยังบริษัทเพื่อให้เปิดเผยข้อมูล
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2566 DELTA ได้ชี้แจงคำตอบจากการที่ ตลท. ได้สอบถามถึงพัฒนาการใดๆ ที่อาจส่งผลต่อราคาหลักทรัพย์ของบริษัท เพื่อให้ผู้ถือหุ้นและหรือผู้ลงทุนได้มีข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจลงทุนอย่างครบถ้วน
โดย DELTA ชี้แจงตามคำถามดังนี้คือ "บริษัทมีพัฒนาการใดๆ ที่ยังไม่ได้เปิดเผย หรือสารสนเทศที่มีนัยสำคัญที่บริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาและอาจเปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ในระยะเวลาอันใกล้ เช่น การเพิ่มทุน การร่วมทุน การได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สิน หรือข้อพิพาทที่สำคัญ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสภาพการซื้อขายที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่"
"บริษัททราบถึงสาเหตุอื่นใดที่อาจส่งผลกระทบต่อการซื้อขายหรือไม่" "สารสนเทศอื่นที่บริษัทต้องการชี้แจง (ถ้ามี)"
สำหรับคำตอบที่ให้กลับมาคือ “ไม่มีและไม่ทราบ” ขณะเดียวกัน DELTA ระบุว่าหากมีข้อมูลพัฒนาการทางธุรกิจที่สำคัญเกิดขึ้น บริษัทยึดมั่นในแนวทางการเปิดเผยสารสนเทศอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม ผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้ข้อมูลต่อผู้ลงทุนและสาธารณชนอย่างทั่วถึง และนั่นก็ทำให้ ตลท. ใช้มาตรการดับร้อนหุ้นด้วยการให้หุ้น DELTA เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 1 ตามที่กล่าวมาข้างต้น
โบรกฯ มองเก็งกำไร เชื่อมโยงตลาดซื้อขายล่วงหน้า
นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ราคาหุ้น DELTA ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยให้ข้อสังเกตคือ ยิ่งราคาขึ้นสูงขึ้น ยิ่งทำให้มีแรงซื้อเข้ามา อาจเป็นแรงซื้อจากกองทุนประเภท Active Fund ที่มุ่งหวังชนะตลาด เพราะตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นด้วย DELTA กองทุนต้องพยายามมี DELTA ไว้ในพอร์ตเพื่อไม่ให้แพ้ดัชนีตลาด ซึ่ง DELTA มีน้ำหนักใน SET50 กองทุนก็จำเป็นซื้อเพิ่มสัดส่วนตาม เนื่องจากปัจจุบัน DELTA มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) 1,372,119.79 ล้านบาท ซึ่งสูงสุดเป็นอันดับ 1 และจากหุ้นละ 1 บาท เป็นหุ้นละ 0.1 บาท ที่บริษัทจะขออนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ในวันที่ 7 เม.ย.66 นี้ โดยหลักจากแตกพาร์ราคาหุ้นในกระดานจะปรับลดลงจากกว่า 1,000 บาท เป็นกว่า 100 บาท
บล.บัวหลวง ประเมินไว้ว่า DELTA จะมีกำไรไตรมาสแรกปี 2566 เติบโตระดับ 100% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน ให้ราคาเป้าหมายที่บริเวณ 1,000 บาท ซึ่งขณะนี้ราคาหุ้นเกินปัจจัยพื้นฐานไปแล้ว แต่สตอรี่ที่รออยู่มีโอกาสทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปได้อีก อย่างไรก็ตาม อยากให้นักลงทุนรอดูจังหวะเวลาช่วงก่อนจะมีการแตกพาร์ เพราะสามารถเล่นเก็งกำไรได้ แต่ต้องระมัดระวังมากหากราคาเกินเป้าหมายพื้นฐานที่ให้ไว้ไปมาก เพราะตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 30 มี.ค.2566 ราคาหุ้น DELTA ปรับตัวเพิ่มขึ้น 270 บาท หรือ +32.53% จากระดับราคา 930 บาท มาอยู่ที่ 1,100 บาท
นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หุ้น DELTA หากพิจารณาด้าน Valuation มองว่าราคาที่ปรับตัวขึ้นมาระดับกว่า 1,000 บาท นับว่าแพง ซึ่งคำแนะนำหลายโบรกเกอร์จะแนะนำขาย เพราะราคาหุ้นเกินกว่าราคาเป้าหมายที่ประเมินไว้อย่างมาก และการที่ราคาหุ้นยังปรับตัวขึ้นมาได้ มองว่าเกิดจากปัจจัยเฉพาะตัวของหุ้น DELTA อย่างช่วงที่ผ่านมา มีการเก็งกำไรในหุ้นที่ถูกนำเข้าคำนวณใน SET50 เป็นต้น หรือการที่หุ้น DELTA เป็นหุ้นที่มีมาร์เกตแคปใหญ่สุดในตลาดหุ้นไทย จึงอาจทำให้มีการเข้ามาเก็งกำไร เพื่อนำไปเชื่อมโยงกับตลาดซื้อขายล่วงหน้าได้
นอกจากนี้ ยังมีบรรดากูรูหลายรายมองว่า การที่ DELTA ถูกบรรจุในการคำนวณดัชนี 50 จะทำให้หุ้น DELTA กลับสู้หุ้นขนาดใหญ่ที่ราคาร้อนแรงเต็มรูปแบบ เพราะจะไม่เป็นเพียงการซื้อขายเก็งกำไรตามปกติเท่านั้น แต่จะเป็นหุ้นที่ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการปั่นดัชนี 50 ด้วย เพราะฟรีโฟลทหรือสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนรายย่อยต่ำ จึงง่ายต่อการสร้างราคา ทั้งลากขึ้นและทุบลง และมักถูกใช้เป็นเครื่องมือของนักลงทุนต่างประเทศ ในการปั่นดัชนี 50 เพื่อทำกำไรจากสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
แนะ "Underperform" หุ้น DELTA ราคา 590 บาท แนะขาย
บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) หรือ บล.เคจีไอฯ แนะนำ "Underperform" ราคาเป้าหมาย 590 บาท/หุ้น และแนะให้ "ขาย" เพราะจากบทวิเคราะห์ของ KGI Taiwanเรื่อง “IT Hardware : Shipments mostly expected to bottom in 1H23F” ทางทีมวิจัยของ KGI Taiwan ประเมินว่าอุปสงค์ server จะลดลง 6% เทียบปีก่อน ในครึ่งแรกปี 66F เนื่องจากการปรับลดสินค้าคงเหลือกลับมาเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบปีก่อน ในครึ่งหลังปี 66F ทั้งนี้ KGI Taiwan คาดว่ายอดจัดส่ง server ในปี 2566F จะเพิ่มขึ้น 2% และคาดว่าจะเพิ่ม 10% จากปีก่อน ในปี 2567F ซึ่งคาดว่าจะนำโดย AI server (คิดเป็น 1% ของยอดจัดส่ง server ทั้งโลก) จะเป็นตัวนำทั้งในส่วนของการเพิ่มขึ้นของ Shipment (คาดว่าจะโต 10.8% CAGR ในช่วงปี 2565-2569F) และราคาขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น โดยในส่วนของบริษัทที่ใช้ AI server นั้น CSPS ของสหรัฐฯ เป็นกลุ่มหลักที่ใช้ AI server โดยคิดเป็น 66% ของยอดการใช้ AI server ทั้งโลก
เนื่องจาก DELTA มีรายได้ส่วนที่เกี่ยวข้องกับ data center ประมาณ 30% ของยอดขายรวม และมีรายได้ส่วนที่มาจากสหรัฐฯ ประมาณ 30% ของรายได้รวม จึงคาดว่า DELTA จะได้อานิสงส์จากอุปสงค์ในกลุ่มดังกล่าว โดย บล.เคจีไอฯ คาดว่ารายได้ในไตรมาสแรกปี 66 จะอยู่ที่ 943 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากผลของปัจจัยฤดูกาล นอกจากนี้ ยังคาดว่าอัตรากำไรจะถูกกดดันจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นและการบริหารจัดการวัตถุดิบ ซึ่งจะทำให้อัตรากำไรขั้นต้นในไตรมาสแรกอยู่ที่ 23.9% จึงคาดว่ากำไรจากธุรกิจหลักของ DELTA ไตรมาสแรกจะอยู่ที่ 4 พันล้านบาท
ดังนั้น คาดว่าประมาณการกำไรของ บล.เคจีไอฯ ปีนี้มี upside จำกัด เนื่องจากสมมติฐานยอดขายและอัตรากำไรขั้นต้นของ บล.เคจีไอฯ ค่อนข้างใกล้เคียงกับเป้าหมายของบริษัท บริษัทตั้งเป้าอัตราการเติบโตของยอดขายอยู่ช่วง 15-20% และตั้งเป้าอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ในช่วง 23-24% ทั้งนี้ ราคาหุ้น DELTA ซื้อขายกันในระดับที่ค่อนข้างแพง (ราคาปิดล่าสุดคิดเป็นPER ที่ 75.0x จาก EPS ปี 2566) และ บล.เคจีไอฯ ยังคงราคาเป้าหมายสิ้นปี 2566 เอาไว้ที่ 590 บาท อิงจาก PER เท่าเดิมที่ 45.0X และยังคงคำแนะนำ “ขาย” DELTA
DELTA คึกตั้งแต่กระแสเข้าคำนวณดัชนี
หากมองย้อนกลับไปจะพบว่าหุ้น DELTA ไม่ค่อยหวือหวานัก ช่วงที่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะเศรษฐกิจทั่วโลกรับผลกระทบหนัก ส่งผลให้การจับจ่ายและกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่คึกคัก แต่เมื่อมีวัคซีนใช้แพร่หลาย กิจกรรมต่างๆ มีมากขึ้น การซื้อขายหุ้นก็ค่อยๆ ปรับสู่ปกติ รวมถึงนักลงทุนตลาดหุ้นทั่วโลก
ภาวะตลาดที่เริ่มจะมีสีสันจากที่ซบเซามาเป็นปี หุ้น DELTA สร้างคำถามให้นักลงทุนอีกครั้ง เมื่อราคาหุ้นของวันที่ 6 สิงหาคมปี 64 มีการลากราคาขึ้นอย่างร้อนแรง เปิดการซื้อขายที่ 598 บาท และพุ่งขึ้นไปสูงสุดที่ 658 บาท เพิ่มขึ้นจากจุดปิดวันก่อน 82 บาท ก่อนจะมีแรงเทขายทะลักอกมา ทำให้ราคาปักหัวลงอย่างต่อเนื่อง จนปิดการซื้อขายที่ 576 บาท ซึ่งนั่นทำให้ดัชนีหุ้นตลาดหุ้นไทยผันผวนทันที และแล้วช่วงปลายปี 65 หุ้น DELTA คึกคักอีกครั้ง เมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศนำหุ้น DELTA กลับเข้าสู่การคำนวณดัชนี 50 และดัชนี 100 และนั่นทำให้ราคาหุ้นพุ่งทะยานอย่างร้อนแรง และดันให้ดัชนีหุ้นดีดขึ้น เพราะวันที่ประกาศคือ 21 ธันวาคม 65 หุ้น DELTA พุ่งขึ้นมาปิดที่ 718 บาท เพิ่มขึ้น 56 บาท ท่ามกลางมูลค่าการซื้อขายที่หนาแน่น ส่งผลให้สภาพของตลาดหุ้นที่เงียบเหงา และดัชนีทำท่าจะหลุดระดับ 1,600 จุด กลับดีดขึ้นมาได้ถึง 5.50 จุด ปิดที่ 1,609.94 จุด
กระทั่งก้าวขึ้นสู่ปี 2566 ที่หุ้น DELTA พุ่งต่อเนื่องรับศักราชใหม่ ด้วยราคาปิดซื้อขายที่ 930 บาท เพิ่มขึ้น 100 บาท มูลค่าซื้อขายทั้งสิ้น 12,550.37 ล้านบาท และเป็นหุ้นที่มีมูลค่าซื้อขายสูงสุดอันดับ 1 ประจำวัน ซึ่งความร้อนแรงของ DELTA กลายเป็นพฤติกรรมปกติของหุ้นตัวนี้ไปโดยปริยาย ซึ่งแตกต่างจากในอดีตเก่าก่อนที่ DELTA เป็นหุ้นอนุรักษนิยม ผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง และเคลื่อนไหวเป็นไปตามวัฏจักรของธุรกิจ แต่ราคาหุ้นก็มิได้เคลื่อนไหวหวือหวาทะยานพุ่งเช่นที่เป็นอยู่ แม้ตลาดหลักทรัพย์แทบจะใช้ทุกมาตรการแล้วในการดับความร้อนแรงของ DELTA แต่ไม่เคยได้ผล เพราะทำได้เพียงสยบราคาหุ้นได้เพียงครั้งคราวเท่านั้น ซึ่งคงเป็นเรื่องยากต่อการคาดเดาสำหรับราคาที่ขึ้นลงของราคาหุ้นตัวนี้ไปเสียแล้ว