IAA เปิดโผ 5 หุ้นเด่นช่วงไตรมาส 2-4/66 ของสมาชิกนักวิเคราะห์ และผู้จัดการกองทุน ADVANC, AMATA, AOT, BBL และ CPALL โดยแนะนำเพิ่มน้ำหนักการลงทุน ขณะที่ประเมินหุ้นไทยโค้ง 2 ถึงสิ้นปีนี้อยู่ในกรอบ 1,508-1,721 จุด ส่วน EPS ปีนี้ คาดเฉลี่ยที่ 95.77 บาท ด้านทิศทางการลงทุนปี 66 นี้ มองปัจจัยบวกมาจาก เศรษฐกิจ การเมืองในประเทศ และผลประกอบการ บจ.
นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) เปิดเผยผลการสำรวจความเห็นสมาชิกนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนรวม 26 สำนัก เกี่ยวกับมุมมองการลงทุนในไตรมาส 2-4 ของปี 66 พบว่า หุ้นที่สำนักวิเคราะห์แนะนำตรงกันตั้งแต่ 5 สำนักขึ้นไป ได้แก่ ADVANC, AMATA, AOT, BBL และ CPALL
โดยการลงทุนหุ้นไทยนั้น แนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหมวดธุรกิจค้าปลีก การท่องเที่ยว เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในขณะที่ให้ลดน้ำหนักการลงทุนในหมวดธุรกิจ Finance (non-bank) ปิโตรเคมี พลังงานและสาธารณูปโภค
ประเมิน SET Index ไตรมาส 2/66-สิ้นปี 1,508-1,721 จุด
นอกจากนี้ ยังมีมุมมองจากไตรมาส 2/66 ไปถึงสิ้นปี โดยคาดว่า SET Index จะแกว่งตัวในกรอบ 1,508-1,721 จุด และคาดการณ์ว่าสิ้นปี 66 จะปิดที่ 1,707 จุด ส่วนกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ปี 66 ของตลาด คาดเฉลี่ยที่ 95.77 บาท และคาดการณ์ EPS Growth ของปี 66 อยู่ที่ 13.02%
ทั้งนี้ แนะนำให้กระจายพอร์ตการลงทุน แบ่งเป็นเงินสดและเงินฝากระยะสั้น 18.63% กองทุนตราสารหนี้ 14.06% หุ้นไทยหรือกองทุนหุ้นไทย 27.39% หุ้นหรือกองทุนหุ้นต่างประเทศ 22.92% กองทุนอสังหาฯ หรือ REIT 7.31% ทองคำหรือกองทุนทองคำ 8.63% และอื่นๆ เช่น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน น้ำมัน 1.06% โดยการลงทุนหุ้นต่างประเทศ/กองทุนหุ้นต่างประเทศ แนะนำกองทุนหุ้นจีน และเอเชีย จากการเปิดกิจกรรมเศรษฐกิจกลับมาปกติอีกครั้ง
นอกจากนี้ ได้ปรับลดราคาน้ำมันดิบของปีนี้ จาก 87.22 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มาเป็น 83.04 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และลดคาดการณ์การขยายตัวของ GDP ไทยปี 66 จากเดิมที่ 3.60% ลงมาเหลือ 3.50%
เศรษฐกิจ-การเมือง-ผลประกอบ บจ. ปัจจัยบวกลงทุนปีนี้
ส่วนทิศทางการลงทุนในปี 66 นี้ ยังได้ผลบวกที่ชัดเจนมาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ เศรษฐกิจภายในประเทศ โดยมีผู้โหวตถึง 92% และปัจจัยด้านการเมืองในประเทศ มีผู้โหวต 85% ตามมาด้วยผลประกอบการ บจ.ปี 66 มีผู้โหวต 73%
ด้านปัจจัยด้านลบมาจากปัจจัยผลกระทบจากธนาคารในสหรัฐอเมริกาล้ม ผู้ตอบทั้งหมดเทคะแนนให้อย่างชัดเจนถึง 96% ว่าเป็นผลลบ รองลงมาด้านเศรษฐกิจต่างประเทศ และการลดหรือยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของประเทศสำคัญทั่วโลก มีผู้ตอบเท่ากันที่ 85%
สำหรับปัจจัยที่ควรจับตามองที่มีผลต่อการขับเคลื่อนตลาดในไตรมาส 2 ผู้ตอบส่วนใหญ่มองว่าการเลือกตั้งภายในประเทศ และการจัดการของ FED ต่อปัญหาสถาบันการเงินและนโยบายดอกเบี้ยด้านการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ในช่วงเมษายนถึงสิ้นปี 66 มีนักวิเคราะห์ถึง 61.54% ที่คาดว่าจะคงที่ ส่วนที่เหลือ 38.46% มองว่าปรับขึ้นอีก 0.25%
นักวิเคราะห์ยังได้เพิ่มเติมการแนะนำไปยังพรรคการเมืองเกี่ยวกับนโยบายที่จะมีผลบวกต่อภาวะเศรษฐกิจ คุ้มค่ากับผลกระทบทางงบประมาณ โดยส่วนใหญ่กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แยกเป็นการเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานการลงทุนภาครัฐที่หนุนศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งลดการใช้จ่ายภาครัฐและการกู้เพิ่ม
แนะนำให้มีนโยบายช่วยเหลือภาคประชน ได้แก่ ชะลอการเก็บภาษีหุ้น สนับสนุนการออมเงิน และนำกองทุน LTF กลับมา อีกทั้งต้องกระตุ้นการจ้างงานในประเทศ และตามมาด้วย นโยบายกระตุ้นการลงทุน สนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย หามุมมองใหม่ช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และขยายตลาดสินค้าไทย
หุ้น ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) อัปไซด์(%) DIV(%)
ADVANC 220-257, 3.29-20.66, 3.55-3.97
AMATA 25-28, 10.13-23.35, 1.92-2.96
AOT 73.5-85, 2.80-18.88, 0.34-0.72
BBL 173-200, 12.34-29.87, 2.92-4.98
CPALL 67-79, 8.06-27.42, 1.21-1.84