ผู้ว่าฯ กทม. เร่งเดินหน้านำที่ดินและอาคารร้าง หรือสร้างค้างมาสร้างโอกาสที่อยู่อาศัย เอาใจคนกรุงเทพฯ ผู้มีรายได้น้อย รวมถึงกลุ่ม First Jobber มีที่อยู่ในเมือง ลดภาระเดินทาง หนุนภาคอสังหาฯ กับนโยบายสร้างเมืองใหม่ชานเมือง เพิ่มแหล่งงาน ตัดถนนสายย่อยตามผังเมือง ด้านนายก ส.อาคารชุดไทยหนุนผู้ว่าฯ กทม. ชงรัฐบาล ทำบ้านหลังแรก เลื่อนบังคับใช้ LTV ไปถึงปลายปี 67 เร่งคลอดบ้านบีโอไอ ราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ขณะที่ประธานจัดงานมหกรรมบ้านและคอนโดฯ ลั่นยอดขายในงานและหลังงานรวมกว่า 10,000 ล้านบาท
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังเปิดงาน “งานมหกรรมบ้านและคอนโดฯ ครั้งที่ 43 ” ซึ่งจัดโดย 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และสมาคมอาคารชุดไทย ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-26 มี.ค.2566 ว่า เรื่องที่อยู่อาศัยเป็นปัจจัยสี่ของทุกคน เป็นจุดเริ่มต้นของสังคมครอบครัว พื้นฐานหลักที่สำคัญของสังคมไทย หากครอบครัวมีที่อยู่อาศัย ชีวิตของสมาชิกครอบครัวจะมั่นคง คุณภาพชีวิตจะดีด้วย แต่การจะทำให้ทุกครอบครัวมีที่อยู่อาศัยต้องมีความร่วมมือกันจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน
"ความสำคัญของการสร้างบ้านเป็นความสำคัญของเมือง เรื่องเศรษฐกิจ ธุรกิจอสังหาฯ เป็นตัวสร้างเศรษฐกิจให้เมือง ธุรกิจเกี่ยวเนื่องต่างๆ กับอสังหาฯ จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สิ่งสำคัญหน้าที่ของ กทม.ต้องเพิ่มประสิทธิภาพ ลดกฎระเบียบต่างๆ ที่ล้าสมัย ลดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป" นายชัชชาติ กล่าว
ซึ่งกรุงเทพมหานครได้มีการกำหนดนโยบายด้านที่อยู่อาศัยและนโยบายอื่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเป็นเจ้าของ หรือมีที่อยู่อาศัยให้คนกรุงเทพฯ ในแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้มีรายได้น้อย กลุ่มคนที่เพิ่งเริ่มต้น กลุ่ม First Jobber และกลุ่มคนวัยทำงาน โดยนโยบายแรกซึ่งถือว่าสำคัญที่สุดและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดงานมหกรรมบ้านและคอนโดอย่างยิ่งนั่นคือ กรุงเทพมหานครต้องการเพิ่มโอกาสการมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง และหลากหลายรูปแบบให้คนกรุงเทพฯ ผ่านแผนยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัย
ทั้งนี้ ได้ทำการศึกษาถึงความต้องการของคนแต่ละกลุ่มว่าต้องการที่อยู่อาศัยรูปแบบไหน และจะประสานขอความร่วมมือจากหน่วยงานกลางที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่อยู่อาศัย เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน การเคหะแห่งชาติ ในการพัฒนาที่อยู่อาศัย และจะทำการติดตามผลให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ โดยในส่วนกรุงเทพมหานครเองจะดำเนินการกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯ ตามข้อบัญญัติ กรุงเทพมหานคร เรื่องกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2541 เพื่อเพิ่มโอกาสพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มั่นคงให้คนกรุงเทพฯ อีกด้วย
ในขณะเดียวกัน จะให้การสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยชั่วคราวสำหรับนักเรียนนักศึกษาจบใหม่ หรือกลุ่มคนที่เพิ่งเริ่มต้น และก้าวเข้ามาสู่การเป็น First Jobber เพื่อให้เช่าในราคาต่ำ เป็นระยะเวลา 5 ปี เพื่อให้สามารถตั้งตัวและเก็บเงินก้อนแรกได้ โดยจะใช้พื้นที่สำนักงานกรุงเทพมหานครที่กระจายตัวอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน หลังจากที่ย้ายพนักงานส่วนใหญ่มาทำงานร่วมกันที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 พร้อมทั้งปรับปรุงอาคารสงเคราะห์ข้าราชการ และลูกจ้างประจำกรุงเทพฯ ให้มีความหนาแน่นมากขึ้น พร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกและพื้นที่ส่วนกลางคุณภาพ
ขณะเดียวกัน กรุงเทพมหานครยังจะจัดทำฐานข้อมูลที่ดินในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในร่วมกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เอกชน หรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้นำอาคารเก่าหรือร้างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ไปพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยเพื่อคนวัยเริ่มทำงานได้เช่า โดยที่กรุงเทพมหานครจะออกมาตรการส่งเสริมด้านภาษี มาตรการส่งเสริมการพัฒนาด้วยการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน เพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาที่อยู่อาศัย รวมทั้งจะช่วยประชาสัมพันธ์ ทำการรวบรวมยูนิตที่อยู่อาศัยชั่วคราวในทำเลต่างๆ และช่วยเหลือในการค้นหาและประสานงานการจัดหาที่อยู่อาศัยชั่วคราวให้กลุ่มเป้าหมาย
ส่วนนโยบายสนับสนุนการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้านอื่นๆ ประกอบด้วยนโยบายสร้างเมืองใหม่ในพื้นที่ชานเมือง เพื่อเพิ่มแหล่งงานในย่านที่อยู่อาศัยชานเมือง และเร่งตัดถนนสายย่อยเชื่อมการเดินทางลดการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ชั้นใน พร้อมทั้งเร่งตัดถนนย่อยตามผังเมือง เพิ่มความคล่องตัวของการจราจร และโอกาสในการมีรถเมล์สายรอง นอกจากนี้ ยังมีนโยบายเพิ่มรถเมล์สายหลักและสายรองราคาถูกตลอดสาย นโยบายสร้างจุดเชื่อมต่อการเดินทาง เพื่อเปลี่ยนถ่ายการเดินทางที่สะดวกสบายขึ้น นโยบายเพิ่มสถานีชาร์จ และสลับแบตเตอรี่เพื่อรองรับผู้ใช้รถไฟฟ้าที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ส.อาคารชุดไทยหนุนแนวคิด "ชัชชาติ"
นายพีระพงศ์ จรูญเอก นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลชุดใหม่ปรับลดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการพำนักของชาวต่างชาติที่จะเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทย จากเดิมที่มีการเสนอในวงเงิน 40 ล้านบาท ให้สิทธิการอยู่ถึง 10 ปีนั้น เป็นการกำหนดคุณสมบัติที่สูงเกินไป ควรจะปรับมาให้อยู่ในระดับกลางๆ อยู่ที่ 3-5 ล้านบาท จะช่วยประเทศในเรื่องการขายให้มีเพิ่มมากยิ่งขึ้น และให้สิทธิการอยู่อาศัย 3-5 ปี เพราะกลุ่มดังกล่าวจะมียอดจับจ่ายใช้สอยที่สูง โดยเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านต่อคนต่อปี เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 50,000-100,000 บาท
นอกจากนี้ มีข้อเสนอในการทบทวนมาตรการผ่อนปรน LTV น่าจะขยายไปจนถึงปลายปี 2567 การส่งเสริมเรื่องการมีบ้านหลังแรก การเร่งผลัดดันเรื่องบ้านบีโอไอในราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันราคาที่ดินเพิ่มสูงขึ้นมากจนไม่สามารถสร้างห้องชุด ราคาไม่เกิน 1.2 ล้านบาทได้
สำหรับแนวคิดการทำโครงการห้องเช่าให้กลุ่มเริ่มเข้าทำงานนั้น นายพีระพงศ์ กล่าวสนับสนุนแนวทางของผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี และทางเราพร้อมสนับสนุน
มหกรรมขายบ้าน คาดเงินสะพัดกว่าหมื่นล้านบาท
นพ.วิเชียร แพทยานันท์ ประธานคณะกรรมการจัดงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 43 กล่าวว่า “งานมหกรรมบ้านและคอนโด จะมีบูทจากผู้ประกอบการมากกว่า 100 บริษัท รวมโครงการอสังหาฯ มากกว่า 1,000 โครงการ โดยที่สมาคมคาดว่าจะมีสัญญาจะซื้อจะขายเกิดขึ้นภายในงานครั้งนี้ราว 1,500 สัญญา คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 6,000 ล้านบาท และยังมีแรงกระตุ้นต่อเนื่องให้เกิดการซื้อขายตามมาอีก 3 เดือน รวมมูลค่าประมาณ 9,000 ล้านบาท หรือ 1.5 เท่า เมื่อเทียบกับยอดภายในงานและหลังงาน จะทำให้ยอดขายในงานมหกรรมบ้านและคอนโดครั้งนี้ รวมกว่า 10,000 ล้านบาท
"ในงานมีสถาบันการเงินมาร่วมออกบูท มีบริการในเรื่องที่ปรึกษาขอสินเชื่อ เนื่องจากภาวะตอนนี้ดอกเบี้ยปรับขึ้น เกณฑ์ LTV"
สำหรับการจัดงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 43 จะมีขึ้นระหว่าง 23-26 มีนาคม 2566 ที่ฮอลล์ 5 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยในส่วนของโปรโมชันสำหรับผู้จองซื้อที่อยู่อาศัยภายในงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 43 จะได้สิทธิลุ้นรับโทรทัศน์ Panasonic รุ่น TH-65 LX650T เครื่องละ 23,990 บาท และรุ่น TH-55 LX650T เครื่องละ 17,490 บาท รวมมูลค่าของรางวัลเกือบ 3 แสนบาท