xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ชี้ปี 65 สินเชื่อหดตัว 2.1% ปรับเกณฑ์คลินิกแก้หนี้ เพิ่มสถานะหนี้เสียก่อน 1 ก.พ.66

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธปท. ระบุผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ปี 2565 ดีขึ้นจากปีก่อน มีรายได้จากดอกเบี้ยเพิ่มตามการขยายสินเชื่อและดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น และตั้งสำรองลดลง สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ชะลอตัวที่ 2.1% จากการชำระคืนหนี้ของธุรกิจขนาดใหญ่ ภาครัฐ และสินเชื่อ Soft loan รวมทั้งการโอนพอร์ตรายย่อยไปบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง หนี้เอ็นพีแอลลดลงที่ 499.2 พันล้านบาท คิดเป็น 2.73% พร้อมช่วยเหลือลูกหนี้ต่อเนื่อง ขยายเกณฑ์สมัครคลินิกแก้หนี้ ครอบคลุมหนี้เสียก่อน 1 ก.พ.2566 มีผลวันนี้


นางสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถทำหน้าที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2565 ขยายตัว 2.1% ชะลอลงจากปีก่อน จากการชำระคืนหนี้ของธุรกิจขนาดใหญ่ ภาครัฐ และสินเชื่อ Soft loan รวมทั้งการโอนพอร์ตรายย่อยไปบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง และการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ อย่างไรก็ดี สินเชื่อยังขยายตัวได้จากธุรกิจรายใหญ่ในภาคพาณิชย์และสินเชื่อรายย่อยพอร์ตที่อยู่อาศัยและส่วนบุคคลเป็นสำคัญ

ด้านคุณภาพสินเชื่อ ธนาคารพาณิชย์ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่องด้วยการปรับโครงสร้างหนี้และบริหารจัดการคุณภาพหนี้ ส่งผลให้ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non Performing Loan : NPL หรือ stage 3) ณ สิ้นปี 2565 ลดลงมาอยู่ที่ 499.2 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.73 %

สำหรับผลการดำเนินงานปี 2565 ปรับดีขึ้นจากปีก่อน โดยหลักเป็นผลจากการขยายตัวของสินเชื่อและทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าใช้จ่ายสำรองลดลง หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ได้ทยอยกันสำรองในระดับสูงตลอดช่วง COVID-19


อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและการฟื้นตัวของธุรกิจบางกลุ่ม โดยภาคครัวเรือน แม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP จะปรับลดลงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ครัวเรือนยังเปราะบางจากภาระหนี้สูง และยังต้องติดตามคุณภาพสินเชื่อของลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่ยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบ COVID-19 และอาจได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพและดอกเบี้ยที่ทยอยปรับสูงขึ้น

ขณะที่ภาคธุรกิจ สัดส่วนหนี้ภาคธุรกิจต่อ GDP ปรับลดลงจากไตรมาสก่อน และความสามารถในการทำกำไรโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแต่ยังต้องติดตามฐานะการเงินของภาคธุรกิจ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาสถาบันการเงินยังให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มเปราะบาง


โดยปี 2565 มีลูกหนี้ของสถาบันการเงินได้รับการช่วยเหลือไปแล้ว 5.22 ล้านบัญชี เป็น บัญชีธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ 1.78 บ้านบัญชี เป็นธนาคารรัฐ 3.43 บ้านบัญชี คิดเป็นยอดภาระหนี้ 3.38 ล้านล้านบาท เป็นมูลหนี้แบงก์แบะนอนแบงก์ 1.89 ล้านล้านบาท ธนาคารรัฐ 1.49 ล้านล้านบาท


ส่วนมาตรการฟื้นฟู ข้อมูล ก.พ.2566 พบว่าสินเชื่อฟื้นฟูและสินเชื่อเพื่อการปรับตัววงเงิน 2.5 แสนล้านบาท มีการอนุมัติไปแล้ว 212.362 ล้านบาท มีผู้ได้รับความช่วยเหลือไปแล้ว 59,891 ราย เฉลี่ยวงเงินอนุมัติ 3.5 ล้านบาทต่อราย โดยกระจายตัวครอบคลุมทุกธุรกิจและทุกภูมิภาค แบ่งเป็นธุรกิจ Micro และเอสเอ็มอี 74.60% ธุรกิจพาณิชย์และบริการ 68% และลูกหนี้ในต่างจังหวัด 69.9%


ส่วนโครงการพักหนี้พักทรัพย์ วงเงิน 1 แสนล้านบาท มียอดอนุมัติเข้าร่วมโครงการแล้ว 64,966 ล้านบาท จำนวนผู้ที่รับความช่วยเหลือ 442 ราย ขณะที่คลินิกแก้หนี้สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะมีหนี้เสีย รวมไม่เกิน 2 ล้านบาท ได้มีการขยายเกณฑ์คุณสมบัติให้ครอบคลุมถึงหนี้เสียก่อน 1 ก.พ.2566 สามารถสมัครได้ โดยมีผลตั้งแต่วันนี้ (20 ก.พ.) เป็นต้นไป


กำลังโหลดความคิดเห็น