สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยทั้งปี 65 ขยายตัว 2.6% จากเดิมที่คาดโต 3.2% หลัง GDP ไตรมาส 4/65 ขยายตัว 1.4% (YoY) ชะลอตัวลงจากไตรมาส 3/65 ที่ขยายตัวได้ 4.6% และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/65 ลดลง 1.5% (QoQ) จากไตรมาส 3/65
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุว่า การที่เศรษฐกิจไทยในปี 65 ขยายตัวได้เพียง 2.6% จากที่สภาพัฒน์เคยคาดไว้ที่ 3.2% นั้น เป็นเพราะเดิมสภาพัฒน์มองว่าเศรษฐกิจโลกจะเริ่มชะลอตัวลงในช่วงปี 66 แต่ปรากฏว่าเศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัวตั้งแต่ไตรมาส 4/65 ซึ่งเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ และมีส่วนทำให้การส่งออกของไทยหดตัวแรงในช่วงไตรมาส 4/65 ด้วยเช่นกัน จึงทำให้การประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 65 คลาดเคลื่อนไปมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลสำคัญจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก
"เดิมเรามองเศรษฐกิจโลกจะเริ่มชะลอตัวในปีนี้ (66) แต่ปรากฏว่า ข้อมูลในไตรมาส 4/65 พบว่าเศรษฐกิจโลกชะลอเร็วกว่าที่คาดไว้ ส่งออกหดตัวแรง จึงทำให้ประมาณการของเราคลาดเคลื่อนไปมากจากผลความผันผวนของเศรษฐกิจโลก" นายดนุชา ระบุุ
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในปี 65 ขยายตัวได้ 2.6% เร่งตัวขึ้นจาก 1.5% ในปี 2564 ตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่ด้านการใช้จ่ายนั้น การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 6.3% และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 5.1%
ส่วนการส่งออกของไทยในปี 65 ขยายตัวได้ 5.5% คิดเป็นมูลค่า 2.85 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่การนำเข้าในปี 65 ขยายตัว 15.3% ที่มูลค่า 2.74 แสนล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ทั้งปี 65 ไทยเกินดุลการค้า 10.8 พันล้านดอลลาร์ และขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 16.9 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 1.1% ของจีดีพี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 65 อยู่ที่ 6.1%
ทั้งนี้ สำหรับเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 4/65 พบว่า ในด้านการใช้จ่ายมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของส่งออกภาคบริการ การอุปโภคบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี และการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาครัฐ ซึ่งการลงทุนภาครัฐกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส ที่ 1.5% ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของการลงทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.15% ลดลงจากไตรมาส 3/65 ซึ่งอยู่ที่ 1.23%