กูรูมองตลาดหุ้นไทยปีนี้สดใส "เจ.พี.มอร์แกน" ปรับเพิ่มน้ำหนักลงทุน Overweight จากเดิมคงน้ำหนักลงทุนหรือ Neutral ตั้งเป้า SET Index ที่ 1,800 จุด จากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน เงินเฟ้อชะลอและการเลือกตั้งเป็นปัจจัยบวกต่อหุ้นไทย ขณะ"เครดิต สวิส" มองบวกให้เป้าดัชนีปีนี้ 1,870 จุด ด้าน "บล.ทรีนีตี้ "ชี้ไตรมาสแรกหุ้นไทยให้ผลตอบแทนสูงสุด แกว่งตัว 300 จุด ส่วน "บล.เอเซีย พลัส" มองดัชนีหุ้นไทยไตรมาสแรกที่ 1,677-1,740 จุด รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ กำไร บจ.ขยับเพิ่ม ฟันด์โฟลว์ไหลเข้าต่อเนื่อง
อาจดนัย มาร์โค สุจริตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโสประจำประเทศไทย เจ. พี. มอร์แกน เปิดเผยว่าได้ปรับมุมมองต่อตลาดหุ้นของประเทศไทยเป็น “เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” (Overweight) จาก “คงน้ำหนักการลงทุน” (Neutral) จากแนวโน้มการกลับมาของนักท่องเที่ยวชาวจีน เพราะไทยเป็นจุดหมายที่ได้รับความนิยมสูงสุดรองจากฮ่องกงและเขตบริหารพิเศษมาเก๊าในปี 2562 จะส่งผลบวกต่อบรรยากาศทางธุรกิจในประเทศ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยชดเชยผลกระทบจากการชะลอตัวเศรษฐกิจโลก
“การเปิดประเทศที่เร็วกว่าที่คาดการณ์ของประเทศจีนเป็นปัจจัยเร่งสำคัญสำหรับสถานการณ์ขาขึ้นของตลาดหลักทรัพย์ไทย ในปี 2562 ประเทศไทยต้อนรับนักท่องเที่ยว 11 ล้านคนจากประเทศจีนคิดเป็นสัดส่วน 29% ของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนประเทศไทยทั้งหมดก่อนหน้าวิกฤตโรคระบาด และปี 2566 คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนมาเยือนประเทศไทยทั้งสิ้น 26 ล้านคน ซึ่งอยู่ในระดับ 65% ของปี 2562 และสูงกว่าที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าไว้ที่ 25 ล้าน ซึ่งจะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นมูลค่า 39,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ สูงขึ้นเป็นสองเท่าจากปี 2565 คิดเป็นสัดส่วน 6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ไทย” อาจดนัยกล่าว
ดัชนี SET 1,800 จุด แรงหนุนเงินเฟ้อชะลอ ค่าบาท-เลือกตั้ง
ทั้งนี้ เจ. พี. มอร์แกน มีเป้าหมายพื้นฐานที่ 590 สำหรับดัชนี MSCI Thailand และ 1,800 สำหรับดัชนี SET ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปี 2566 โดยปรับมุมมองให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุน ในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต สินค้าฟุ่มเฟือย และการดูแลรักษาสุขภาพ และในภาพรวม เจ. พี. มอร์แกน เชื่อว่าการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนน่าจะกลับมาครึ่งแรกปี 2566 หลังรัฐบาลจีนประกาศให้เริ่มเปิดชายแดนกับฮ่องกงตั้งแต่วันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นความคืบหน้าที่สำคัญของการท่องเที่ยวข้ามพรมแดนกลับมาเป็นปกติ
“ประชากรจีนมีความต้องการอย่างมากที่รอเดินทางท่องเที่ยวนอกประเทศ คาดว่าการท่องเที่ยวนอกประเทศของประชากรจีนจะเริ่มกลับสู่ภาวะเดิม และอย่างเต็มรูปแบบของการท่องเที่ยวทั่วโลกของนักท่องเที่ยวจีนจะเริ่มช่วงกลางปีนี้ โดยเที่ยวบินระหว่างประเทศจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตลอดครึ่งหลังปี 2566 สู่ระดับ 50% ของระดับก่อนหน้าวิกฤตโรคระบาด” นายอาจดนัยกล่าว
นอกจากนี้ เจ. พี. มอร์แกน คาดว่าปัจจัยที่จะช่วยเสริมตลาดทุนไทยในปี 2566 อย่าง เงินเฟ้อที่ชะลอลงจากราคาพลังงานที่ลดลง และการเติบโตของค่าจ้างที่ไม่สูงมากจนเกินไป ซึ่งส่งให้กำไรของธุรกิจไทยปรับดีขึ้น รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.75% มาอยู่ที่ 1.25% ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 เพื่อสกัดการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ และคาดว่าจะปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก 0.25% อีกสองครั้งในไตรมาสนี้ จนเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ 1.75% อีกทั้งยังมองว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยทำให้เงินเฟ้อเริ่มชะลอลง คาดดัชนีราคาผู้บริโภคจะลดลงมาอยู่ที่ 3.3% ภายในสิ้นปี 2566 จาก 6.3% ในปี 2565
"ต้นทุนด้านราคาที่ต่ำลงคาดว่าจะส่งผลบวกอย่างยิ่งแก่ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงธุรกิจด้านสาธารณูปโภคในประเทศไทย ซึ่งมีหนทางจำกัดในการหลีกเลี่ยงผลกระทบของภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในปี 2565” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส เจ. พี. มอร์แกน กล่าว
นอกจากนั้นยังมองว่าการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทยในเดือนพฤษภาคมนี้น่าจะสร้างแรงหนุนในระยะสั้นแก่ตลาดหุ้น จากการวิเคราะห์ในอดีต ค่ากลางผลตอบแทนของหลักทรัพย์ไทย ช่วง 3 เดือน ก่อนการเลือกตั้ง 12 ครั้งที่ผ่านมาอยู่ที่ 5% โดยหมวดอิเล็กทรอนิกส์พลังงาน อาหารและเครื่องดื่ม และการพาณิชย์มีแนวโน้มที่จะสร้างผลตอบแทนได้เหนือตลาดรวม อย่างไรก็ดีผลบวกนี้น่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในระยะปานกลาง
มองช้อปดีมีคืน กระตุ้นใช้จ่ายระยะสั้น
จักรพันธ์ พรพรรณรัตน์ หัวหน้าสายงานวิจัยหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์เจพีมอร์แกน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่านอกจากนี้ โครงการ “ช้อปดีมีคืน” ซึ่งเป็นโครงการคืนภาษีล่าสุดของรัฐบาล โดยเปิดให้ผู้บริโภคสามารถลดหย่อนภาษีจากการซื้อสินค้าและบริการระหว่างวันที่ 1 มกราคมถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 จะช่วยเสริมการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศระยะสั้น ทั้งนี้ การใช้จ่ายของชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นจะกระตุ้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ขณะนี้ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวอย่างมาก ส่วนการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทได้รับแรงหนุนจากรายรับของการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นและราคาขนส่งสินค้าที่ลดลง จะช่วยให้บัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยอยู่ในลักษณะเกินดุลในปีที่แล้วนั้น คาดจะเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวปีนี้ โดยมองว่าค่าเงินที่แข็งขึ้นน่าจะเพิ่มผลตอบแทนให้กับนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์
เครดิต สวิสมองบวกไทย เคาะเป้าปีนี้ 1,870 จุด
วิริยะชัย จิตตวัฒนรัตน์ Vice President Investment Consultant บล.เครดิต สวิส (ประเทศไทย) กล่าวว่าตลาดหุ้นไทยในปี 66 ทางเครดิต สวิส ได้มองเป้าดัชนี SET สิ้นปี 66 ที่ 1,870 จุด มีอัปไซด์จากสิ้นปี 65 ราว 12% แม้ว่าระดับ P/E ปัจจุบัน 15-16 เท่าจะไม่ได้ถูก แต่มองว่าจะได้รับแรงหนุนจากมุมมองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อเนื่องจากปีก่อน โดยเฉพาะปัจจัยหนุนหลักจากภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาดีขึ้นต่อเนื่องหลังจากจีนเปิดประเทศ ทำให้มีความคาดหวังว่านักท่องเที่ยวจีนจะเข้ามาช่วยผลักดันภาคการท่องเที่ยวของไทยได้ และช่วยลดผลกระทบของภาคส่งออกที่อาจจะเผชิญกับความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวได้ด้วยเช่นกัน
ด้านกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย คาดยังเห็นทิศทางที่ดี โดยเฉพาะในกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการบริโภคและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้ดี อีกทั้งค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าค่อนข้างเร็วที่แถว 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในโหมดเพิ่งฟื้นตัว และความคาดหวังดุลบัญชีเดินสะพัดที่จะดีขึ้น ขณะแรงกดดันด้านราคาน้ำมันเริ่มผ่อนคลายลง ทำให้มีเงินไหลเข้ามาในไทยในสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ระยะสั้นเป็นส่วนใหญ่ และตลาดหุ้นอีกบางส่วน ทำให้ภาพของ Fund Flow ปีนี้มองว่าต่างชาติยังมีโอกาสที่เป็นขาซื้อสุทธิตลาดหุ้นไทยได้ ขณะปัจจัยทางการเมืองไทยปี 66 ถือว่าเป็นประเด็นที่ต้องจับตา เพราะมีผลต่อมุมมองของนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่รอดูการจับขั้วตั้งรัฐบาล และนโยบายผลักดันเศรษฐกิจ ในแง่ของการลงทุน และการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นหลังจากผ่านการเลือกตั้ง
"ตามสถิติช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา 3 ครั้ง ในช่วง 3 เดือนก่อนการเลือกตั้ง ตลาดหุ้นไทยถือว่าค่อนข้าง Underperform ตลาดหุ้นเอเชีย เพราะนักลงทุนจะชะลอการลงทุนเพื่อรอดูการจัดตั้งรัฐบาลและนโยบายที่จะออกมา หลังจากนั้นจะค่อยกลับมาลงทุนเมื่อปัจจัยทางการเมืองมีความชัดเจน และนโยบายมีผลบวกอย่างชัดเจนต่อเศรษฐกิจไทย ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่ทางเครดิต สวิส มองว่าจะทำให้ตลาดหุ้นไทยเกิดความผันผวนได้ในระยะสั้น" วิริยะชัยกล่าว
ดังนั้น ธีมการลงทุนปีนี้ เครดิต สวิสให้น้ำหนักอันดับแรกเป็นกลุ่มหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น คือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มที่ได้รับผลบวกจากการบริโภคที่ฟื้นตัว ได้แก่ กลุ่ม Consumer ที่เกี่ยวข้องกับการจับจ่ายใช้สอยของคนในประเทศ และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทย ตามด้วยหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวและ Health care ซึ่งยังคงได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว มีชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศมากขึ้น แต่ราคาสะท้อนปัจจัยบวกไปมากแล้ว และราคาหุ้นปรับสูงขึ้น ทำให้มูลค่าหุ้นถือว่าปรับมาค่อนสูงแล้ว จึงให้น้ำหนักรองลงมา
บล.เอเซีย พลัส เชื่อหุ้นไทย Q1 พุ่ง
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (ASPS) เปิดเผยว่าประเมินเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยช่วงไตรมาส 1/2566 อยู่ที่ระดับ 1,677-1,740 จุด ภายใต้สมมติฐาน Market Earning Yield Gap ที่ระดับ 4.2% และอัตรากำไรต่อหุ้น (EPS) ที่ 99.2 บาท/หุ้น รวมถึงคาดอัตราดอกเบี้ยปีนี้อยู่ที่ระดับ 1.50-1.75% ซึ่งการขึ้นเกินระดับดังกล่าวต้องระวังขายทำกำไร
ด้านกลยุทธ์การลงทุนแนะนำหุ้นกำไรมีแนวโน้มเติบโตที่กระจายบน 3 ธีมการลงทุน อย่าง ธีม Domestic Consumption โดยมีหุ้นในกลุ่ม อาทิ STEC, COM7, GULF อีกทั้งจีนเปิดเมือง อาทิ AOT, ERW และหุ้นจ่ายปันผลดี อาทิ AP, ASK และคาดว่าหุ้นไทยจะอยู่ในช่วงการปรับตัวขึ้น โดยมี 4 ปัจจัยบวกหลัก คือภาพรวมเศรษฐกิจไทยถือว่าเติบโตโดดเด่นกว่าเศรษฐกิจโลก มีแรงหนุนมาจากภาคการท่องเที่ยวที่มีโอกาสฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ,กำไรบริษัทจดทะเบียนปี 2566 คาดอยู่ที่ 1.27 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นระดับ EPS ที่ 99.2 บาท/หุ้น หรือเติบโต 6% จากปีก่อน โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่ม non–energy คาดเติบโตถึง 11.7%
ทิศทางฟันด์โฟลว์ต่างชาติที่มีแนวโน้มไหลเข้าจากค่าเงินบาทมีเสถียรภาพมากขึ้น และความคาดหวังเชิงบวกต่อนโยบายใหม่ ๆ ยามเข้าใกล้ช่วงเลือกตั้ง ซึ่งจากสถิติในอดีตนับจากปี 2544-2562 พบว่าก่อนการเลือกตั้ง 3 เดือน หุ้นไทยมักให้ผลตอบแทนเป็นบวกเฉลี่ย 3.9%
ขณะยังมี 4 ปัจจัยที่เป็นตัวจำกัดการขึ้นของหุ้นไทย ทั้งความเสี่ยงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปที่มีโอกาสสูงที่เข้าสู่ภาวะ Recession ซึ่งจะสร้าง Sentiment เชิงลบต่อตลาดหุ้นภูมิภาครวมถึงหุ้นไทยด้วย ,การขึ้นดอกเบี้ยของคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (กนง.) อันจะทำให้ส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนในตลาดหุ้นและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรแคบลง , การเก็บภาษีขายหุ้นที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ช่วงต้นไตรมาส 2/2566 ซึ่งน่าจะกระทบต่อทิศทางตลาดช่วงปรับสมดุลโดยเฉพาะช่วงก่อนเก็บภาษีจริง และความผันผวนของ DELTA ที่อาจกลับมาสร้างแรงกดดันต่อตลาดหลังจากปรับขึ้นตั้งแต่เดือน พ.ย. 2565 ถึงปัจจุบัน 45% จนระดับ PER ปี 2566 ขึ้นมาสูงถึง 64 เท่า ทุก ๆ การเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น DELTA ที่ระดับ 1% จะกระทบดัชนี 0.85 จุด
บล.ทรีนีตี้ชี้ Q1 หุ้นไทยผลตอบแทนสูง แกว่งตัว 300 จุด
วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในปี 2566 ประเมินว่ายังมีทั้งปัจจัยบวกและลบที่มีผลต่อการลงทุน โดยมองว่าดัชนีหุ้นไทยจะแกว่งอยู่ระหว่าง 300 จุด คิดเป็น 13 เท่าของกำไรต่อหุ้น 117 บาท และ 15 เท่าของกำไรต่อหุ้น 117 บาท ในปี 2567 ตามลำดับซึ่งช่วงไตรมาส 1/2566 จะเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด รวมถึงตลาดหุ้นอาเซียน ที่จะปรับขึ้นได้ดีกว่าภาพรวมตลาดหุ้นโลก เพราะตลาดหุ้นอาเซียนได้ผลประโยชน์จากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนลง และคาดว่าช่วงที่ผ่านมาได้ผ่านจุดสูงสุดของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่ต้นทุนวัตถุดิบถูกลง เงินเฟ้อลดลง คาดว่านับตั้งแต่ไตรมาส 2 หรืออย่างช้าในไตรมาส 4 ปีนี้ นักลงทุนต่างประเทศจะเริ่มหาจังหวะลดการลงทุนหุ้นในอาเซียน อาจขายหุ้นประมาณหนึ่งส่วนสามของ 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่ซื้อมาปี 2565 หรือ 4 พันล้านเหรียญ เพื่อคงน้ำหนักลงทุนให้เท่า Benchmark MSCI Emerging Market
โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐที่อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะจีนเปิดประเทศแล้ว จะส่งผลให้มีเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ไหลออกจากสหรัฐ และเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นเกิดใหม่ต่อเนื่องจากปี 2565 สะท้อนได้จากการที่นักลงทุนต่างประเทศซื้อหุ้นในอาเซียน 6 ประเทศ กว่า 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือเป็นฟันด์โฟลว์ที่สูงสุดในประวัติศาสตร์
สำหรับประเทศไทยพบว่า มีฟันด์โฟลว์ไหลเข้ากว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือมากกว่า 2 แสนล้านบาท ทำให้ MSCI ของอาเซียนถูก overweight สูงกว่า Benchmark กว่า 1.6% และเงินยังไหลเข้าต่อเนื่อง ในช่วงสัปดาห์แรกของปี 2566 ซึ่งนักลงทุนต่างประเทศเป็นฝ่ายซื้อสุทธิกว่า 7.8 พันล้านบาทในตลาดหุ้นไทย และ 4.2 หมื่นล้านบาท ในตลาดพันธบัตรระยะสั้นไทย คาดครึ่งปีหลังจะเห็นเงินไหลไปลงทุนประเทศในเอเชียเหนือ อาทิ เกาหลีใต้ และไต้หวัน มากขึ้น ทำให้กลุ่มเทคโนโลยีในจีน ไต้หวัน และเกาหลีใต้ปรับดีขี้นกว่าภาพรวมตลาดขึ้นมาได้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อฟันด์โฟล์วไหลออกจากตลาดหุ้นอาเซียน รวมถึงหุ้นไทยด้วย
"ปี 2566 ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวน ได้รับแรงกระแทกจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งเป็นผลจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วในปี 2565 โดยขึ้นดอกเบี้ยรวมกว่า 4% เพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้นในระดับ 8 - 9% ในปี 2565 หรือที่เรียกว่า Over-Tightening เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 2523 และเฟด ต้องลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยเศรษฐกิจ ทำให้เงินเฟ้อของสหรัฐจะแตะระดับ 2% ใน 2 ปีข้างหน้าได้" วิศิษฐ์ กล่าว
ส่วนกรณี การตัดสินใจเรื่องนโยบายดอกเบี้ยของเฟดกลางปีนี้ จะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด และจะมีผลต่อทิศทางตลาดทุนทั่วโลก โดยคาดการณ์ไว้ 3 กรณี คือขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ในไตรมาส 1 สู่ระดับ 5% แล้วหยุดทั้งปี มองมีโอกาสเกิดขึ้น 35 - 40% ผลคือ ตลาดหุ้นทั่วโลกจะ Sideway up แต่ฟันด์โฟล์วจะเคลื่อนย้ายมาสู่เอเชียเหนือมากขึ้น (กรณีฐาน) กรณีที่, การขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ในไตรมาส 1 สู่ระดับ 5% แล้วปรับลดลงกว่า 1 - 1.5% ในไตรมาส 4 มองมีโอกาสเกิดขึ้น 30 - 35% ผลคือ ตลาดหุ้นใน Emerging Market จะ outperform กรณีสุดท้ายคือขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ในไตรมาส 1 สู่ระดับ 5% และปรับขึ้นดอกเบี้ยต่ออีกครั้งช่วงปลายปีสู่ระดับ 6.5% มองมีโอกาสเกิดขึ้นแค่ 20% ผลคือ ตลาดหุ้นทั่วโลกจะปรับฐาน
ด้านปัจจัยบวก ส่งผลต่อตลาดหุ้นไทย คือการเลือกตั้ง สถิติในอดีตนับตั้งแต่ปี 2531 มีการเลือกตั้ง 12 ครั้ง พบว่า ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทน 5.2% (Medium) ช่วง 3 เดือนก่อนการเลือกตั้งด้วยความน่าจะเป็น 73% จากการจับจ่ายใช้สอยที่มีเพิ่มขึ้นก่อนการเลือกตั้ง อีกทั้งจีนเปิดประเทศหนุนการท่องเที่ยวขยับขึ้นมาอยู่ที่ 24-25 ล้านคนในปีนี้ จากปีก่อนที่ 11 ล้านคน หนุน GDP เพิ่มขึ้น 3.4 - 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเกือบ 5% ของ GDP คาดการณ์ดุลบัญชีเดินสะพัดถึงระดับ 0.5% ของ GDP ในปี 2566 GDP ไทยถูกปรับขึ้นสูงถึง 3.5 - 3.8% ในปีนี้ รวมถึงเงินลงทุนตรง (FDI) ไหลเข้ามาลงทุนต่อเนื่องโดยเฉพาะsector ยานยนต์ไฟฟ้า ที่ในปี 2565 FDI เข้าไทย 1.5 หมื่นล้านเหรียญ ถือเป็น FDI ที่เข้าไทยสูงเป็นอันดับ 2 ในรอบ 10 ปี ขณะสินค้าโภคภัณฑ์และเงินเฟ้อจะเป็นขาลง และได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ซี่งสภาพคล่องเริ่มดีขึ้น Credit Spread ที่อ่อนค่าลง บ่งชี้ถึงยังไม่เกิดความเสี่ยงจาก Credit Default
ขณะปัจจัยลบ คือจีนเปิดประเทศอาจนำไปสู่การระบาดรอบใหม่ของโควิด เพราะการเปิดเมืองของจีนเกิดขึ้นในช่วงการระบาดของโควิดในจีนสูงถึง 40,000 คนต่อวัน และเศรษฐกิจโลกปี 2566 เติบโต 2.2% เป็นการเติบโตน้อยสุดในรอบกว่า 20 ปี ส่งผลกระทบถึงการส่งออก และเศรษฐกิจที่ถดถอยลง แต่มองว่าตลาดหุ้นทั่วโลกยังไม่สะท้อนถึงการถดถอยของภาคการผลิต และเสี่ยงที่จะมีการ down grade ของกำไรต่อหุ้น ที่กระทบจากเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ อีกทั้งการถดถอยของเศรษฐกิจยุโรป และสหรัฐ จะส่งผลกระทบเชิงลบในการเติบโตต่อเศรษฐกิจไทย การส่งออก และการบริโภคปี 2566 เพราะที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยฟื้นจากการส่งออก (Gross Export) ซึ่งการส่งออกมี สัดส่วนมากกว่า 60% ของจีดีพี สุดท้ายคือเฟดอาจเปลี่ยนมุมมองในการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายช่วงกลางปี และสถานการณ์ที่เลวร้ายสุด ปรับมุมมองการขึ้นดอกเบี้ยใหม่มาสู่ระดับ 6.5% (ความน่าจะเป็น 20 - 25%) และสภาพคล่องเริ่มดีขึ้น Credit Spread ที่อ่อนค่าลง บ่งชี้ถึงยังไม่เกิดความเสี่ยงจาก Credit Default