ผู้จัดการรายวัน360 - นายกฯ ประชุมบอร์ด สสว. เห็นชอบสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME วงเงิน 1,180 ล้าน ย้ำเร่งรัดส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SME เข้าโครงการ SME One ID เพื่อเข้าถึงการดูแลช่วยเหลือจากภาครัฐ ยอมรับตัดสินใจเปิดรับนักท่องเที่ยวเสี่ยง แต่คุ้มค่า
วันนี้ (11 ม.ค.) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ดส่งเสริม SME) ร่วมกับ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง และผู้ที่เกี่ยวข้อง
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้
นายกฯ กล่าวมอบนโยบายต่อที่ประชุมตอนหนึ่งว่า งานด้านส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หลายอย่างมีความคืบหน้า หลายอย่างมีปัญหาและอุปสรรคอยู่บ้าง แต่จำเป็นต้องทำเพื่ออนาคต เพราะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมถือเป็นเครื่องจักรสำคัญในด้านเศรษฐกิจของประเทศ โดยบอร์ด สสว. เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน จึงขอให้ติดตามปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่หลายเรื่องมีการเสนอมาถึงนายกฯ ให้ช่วยดูแก้ไขปัญหา ซึ่งนายกฯ ได้มอบหมายให้ชี้แจงข้อเท็จจริง และความเป็นไปได้ว่าจะแก้ไขอุปสรรคต่างๆ ได้อย่างไร ดังนั้น ขอฝากไปถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทำงานเรื่องวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งปัจจุบันมีทั้งโอกาสและวิกฤต โดยจะต้องเดินหน้าต่อไปให้ได้ ไม่ว่าจะสำเร็จเมื่อไรก็ตาม เพราะเป็นนโยบายที่จะต้องทำต่อไปในอนาคต เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม
นายกรัฐมนตรี ยังเน้นย้ำเรื่องการให้ช่วยเหลือ สนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ให้เข้าถึงการดูแลของภาครัฐ โดยให้เร่งรัดส่งเสริมให้ผู้ประกอบการธุรกิจ SME เข้าระบบโครงการ SME One ID : หนึ่งรหัส หนึ่งผู้ประกอบการ ให้เร็วที่สุด โดยขอความร่วมมือจากภาคธุรกิจเอกชนให้ร่วมดำเนินการ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงการดูแลช่วยเหลือต่างๆ จากภาครัฐ พร้อมยืนยันว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับธุรกิจ SME โดยต้องการให้งานด้าน SME มีความต่อเนื่อง ก้าวหน้า บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และหาแนวทางทำให้ SME สามารถไปอยู่ในห่วงโซ่ของธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อนำพาทั้งกระบวนการให้เติบโตไปด้วยกัน เพื่อเพิ่มรายได้ของประเทศและเพิ่มรายได้ให้ประชาชนในทุกกลุ่มกิจกรรม
สำหรับมติที่ประชุมบอร์ดส่งเสริม SME ที่สำคัญ เห็นชอบในการสนับสนุน SME และช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ในวงเงิน 1,180 ล้านบาท โดยมีโครงการหลักที่สำคัญ 3 โครงการ ได้แก่
1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับธุรกิจท่องเที่ยว งบประมาณ 968 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี มีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม เป็นหน่วยงานดำเนินการ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ประกอบการที่ได้รับประโยชน์มากกว่า 1,500 ราย วงเงินค้ำประกันรวมที่จะเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท โดยจะมีการผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ประกอบการชั้นดีเป็นกรณีพิเศษ
2.โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการด้านการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อช่วยผู้ประกอบการ SME ที่ทำการค้าระหว่างประเทศ วงเงิน 200 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออกโดยตรง
3.โครงการ SME Restart เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว งบประมาณ 12 ล้านบาท โดยมีหน่วยร่วมดำเนินการ คือ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
**ตัดสินใจเปิดประเทศเสี่ยง แต่คุ้มค่า
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวว่า เรื่องการท่องเที่ยวที่กลับมานั้น กลับมาเพราะอะไร เราทำอะไรไว้บ้างจนเกิดผลงานวันนี้ เราเห็นประชาชนมีความสุขทุกครั้งที่มีการเดินทางไปท่องเที่ยว ประชาชนยิ้มแย้มแจ่มใสกันมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีบางคน บางส่วน บางกิจกรรมที่ยังไม่ดีขึ้นมากนักก็ต้องใช้เวลาแก้ปัญหา ตนใช้เวลามาหลายปีแล้ว แต่ต้องเดินหน้าต่อไปในวันข้างหน้าให้ได้ ด้วยความร่วมมือร่วมใจกัน
"อะไรที่ดีก็สืบสานกันต่อไป อะไรที่ยังต้องแก้ไขผมก็แก้ไขทุกประเด็น เราทำมานานพอสมควร หาให้เจอว่าวันนี้เราดีขึ้นเพราะอะไร ถ้ายังไม่ดีขึ้นไปหาว่าเพราะอะไร ทุกคนต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐ เอกชน และธุรกิจในการแก้ปัญหา เพราะรัฐบาลทำในเรื่องของนโยบาย กรอบการดำเนินการ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องช่วยกัน ไม่เช่นนั้นประเทศเดินหน้าไปต่อไม่ได้" นายกฯ กล่าว
เมื่อถามว่า นักท่องเที่ยวที่เข้ามาจะสามารถทำให้จีดีพีโตขึ้นจากที่ตั้งไว้ 3.8 หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ต้องดูว่าสถานการณ์ภายในประเทศว่าเป็นอย่างไร การแก้ไขปัญหาโควิด-19 เราสามารถควบคุมและป้องกันได้หรือไม่ เพราะเป็นความเสี่ยงอย่างมากในการเปิดประเทศ ซึ่งตนตัดสินใจและถือเป็นการตัดสินใจที่คุ้มค่า ถูกต้อง ที่ผ่านมาต้องย้อนไปดูว่า การที่เราเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์นั่นเป็นจุดเริ่มต้นในการเปิดประเทศอย่างครบวงจร ต้องกลับไปดูว่าดีขึ้นเพราะอะไร ส่วนไหนที่เป็นปัญหาก็แก้กันต่อไป นั่นคือการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า โอกาสของเรามีเยอะ วิกฤตก็มีเยอะ เราต้องทำวิกฤตให้เป็นโอกาส อย่าทำโอกาสให้เป็นวิกฤต นั่นคือสิ่งสำคัญที่สุด