xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด สสว.ไฟเขียววงเงิน 1,180 ล้านบาท ช่วยเหลือ SMEs

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) หรือ บอร์ด SME มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวมอบนโยบายต่อที่ประชุมตอนหนึ่งว่า งานด้านส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หลายอย่างมีความคืบหน้า หลายอย่างมีปัญหาและอุปสรรคอยู่บ้าง แต่จำเป็นต้องทำเพื่ออนาคต เพราะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมถือเป็นเครื่องจักรสำคัญในด้านเศรษฐกิจของประเทศ โดยบอร์ด สสว. เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน จึงขอให้ติดตามปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่หลายเรื่องมีการเสนอมาถึงนายกรัฐมนตรีให้ช่วยดูแก้ไขปัญหา ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ชี้แจงข้อเท็จจริง และความเป็นไปได้ว่าจะแก้ไขอุปสรรคต่างๆ ได้อย่างไร ดังนั้น ขอฝากไปถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทำงานเรื่องวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งปัจจุบันมีทั้งโอกาสและวิกฤต โดยจะต้องเดินหน้าต่อไปให้ได้ ไม่ว่าจะสำเร็จเมื่อไรก็ตาม เพราะเป็นนโยบายที่จะต้องทำต่อไปในอนาคต พื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำเรื่องการให้ช่วยเหลือ สนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ให้เข้าถึงการดูแลของภาครัฐ โดยให้เร่งรัดส่งเสริมให้ผู้ประกอบการธุรกิจ SME เข้าระบบโครงการ SME One ID : หนึ่งรหัส หนึ่งผู้ประกอบการ ให้เร็วที่สุด โดยขอความร่วมมือจากภาคธุรกิจเอกชนให้ร่วมดำเนินการ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงการดูแลช่วยเหลือต่างๆ จากภาครัฐ พร้อมยืนยันว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับธุรกิจ SME โดยต้องการให้งานด้าน SME มีความต่อเนื่อง ก้าวหน้า บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และหาแนวทางทำให้ SME สามารถไปอยู่ในห่วงโซ่ของธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อนำพาทั้งกระบวนการให้เติบโตไปด้วยกัน เพื่อเพิ่มรายได้ของประเทศ และเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในทุกกลุ่มกิจกรรม

สำหรับมติที่ประชุมบอร์ดส่งเสริม SME ที่สำคัญ เห็นชอบในการสนับสนุน SME และช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ในวงเงิน 1,180 ล้านบาท โดยมีโครงการหลักที่สำคัญ 3 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับธุรกิจท่องเที่ยว งบประมาณ 968 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี มีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม เป็นหน่วยงานดำเนินการ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ประกอบการที่ได้รับประโยชน์มากกว่า 1,500 ราย วงเงินค้ำประกันรวมที่จะเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท โดยจะมีการผ่อนปรนให้กับผู้ประกอบการที่เป็นผู้ประกอบการชั้นดี เป็นกรณีพิเศษ

2. โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการ ด้านการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อช่วยผู้ประกอบการ SME ที่ทำการค้าระหว่างประเทศ วงเงิน 200 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออกโดยตรง และ 3. โครงการ SME Restart เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว งบประมาณ 12 ล้านบาท โดยมีหน่วยร่วมดำเนินการ คือสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย