xs
xsm
sm
md
lg

อดีต รมว.คลัง ร่ายยาวปมนายกฯ เข้าร่วมไทยสร้างชาติ ชี้เข้าข่ายฝ่าฝืนหลักจริยธรรม-รธน.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ธีระชัย” อดีต รมว.คลัง โพสต์เฟซบุ๊ก ชี้ประเด็น “บิ๊กตู่” ย้ายซบ “รวมไทยสร้างชาติ” อาจขัด รธน.-จริยธรรม 

จากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ถือฤกษ์ลงนามในใบสมัครสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ และได้เสียเงินค่าสมาชิก 2,000 บาท เป็นสมาชิกตลอดชีพ อีกทั้งแจงเหตุมาอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ เผยนอนไม่หลับหลายวัน สัญญาจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด สิ่งสำคัญประเทศไทยต้องไปต่อ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 9 ม.ค. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ชี้ การเข้าร่วมพรรครวมไทยสร้างชาติ อาจจะส่งผลต่อการดำรงนายกฯ โดยทันทีหรือไม่ โดยเจ้าตัวได้อธิบายว่า

“สถานะนายกฯ ของพลเอก ประยุทธ์ฯ

การที่มีข่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ฯ ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ และรับเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคดังกล่าวนั้น

น่าจะมีประเด็นพิจารณาว่าจะส่งผลต่อการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยทันทีหรือไม่ ดังนี้

พรรคพลังประชารัฐได้เป็นผู้แจ้งชื่อพลเอก ประยุทธ์ฯ และได้มีมติให้สภาผู้แทนราษฎร (รัฐสภา) เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ

จึงเป็นไปตามกระบวนการหรือขั้นตอนการได้มาซึ่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 88, มาตรา 89, มาตรา 158, มาตรา 159

ถ้าข้อเท็จยืนยันตามข่าวว่าในขณะที่พลเอก ประยุทธ์ฯ ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่นั้น พลเอก ประยุทธ์ฯ ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของพรรครวมไทยสร้างชาติ

เพื่อที่จะให้พรรครวมไทยสร้างชาติเสนอชื่อพลเอก ประยุทธ์ฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามกระบวนการหรือขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 88, มาตรา 89, มาตรา 258, มาตรา 159 ในการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมีขึ้นในปี พ.ศ. 2566

กรณีที่พลเอก ประยุทธ์ฯ ยังไม่มีการถอนรายชื่อที่พรรคพลังประชารัฐได้ยื่นไว้ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 (ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งก่อนหน้า) ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 88 ประกอบมาตรา 87 วรรคสอง นั้น

พฤติกรรมของพลเอก ประยุทธ์ฯ ข้างต้นมีประเด็นที่นักการเมืองและนักกฎหมายควรจะถกแถลงพิจารณากัน ดังนี้

- อาจจะขัดหรือแย้งต่อหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 2, มาตรา 3 วรรคสอง

- อาจจะขัดหรือแย้งต่อหลักสุจริต ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 160 (4) "มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์"

- อาจจะขัดหรือแย้งต่อหลักความเป็นกลางทางการเมือง ตามมาตรฐานทางจริยธรรมของศาลรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2561 ข้อ 5

- อาจจะขัดหรือแย้งต่อหลักการถือประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน ตามมาตรฐานทางจริยธรรมของศาลรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2561 ข้อ 7

- อาจจะขัดหรือแย้งต่อหลักการต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต ตามมาตรฐานทางจริยธรรมของศาลรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2561 ข้อ 8

- อาจจะขัดหรือแย้งต่อหลักการต้องไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติยศของการดำรงตำแหน่ง ตามมาตรฐานทางจริยธรรมของศาลรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2561 ข้อ 17

ทั้งนี้ กรณีที่ถึงแม้ พลเอก ประยุทธ์ฯ อาจจะได้ถอนรายชื่อที่พรรคพลังประชารัฐได้ยื่นไว้ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้ว (ซึ่งจะต้องดำเนินการก่อนหน้าการสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ) นั้น

เนื่องจากรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่พรรคต่างๆ ยื่นไว้ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2562 ยังมีผลตามกฎหมาย

ดังนั้น พฤติกรรมของพลเอก ประยุทธ์ฯ ก็ยังอาจจะเข้าข่ายฝ่าฝืนหลักจริยธรรมอยู่ดี”
กำลังโหลดความคิดเห็น