xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มโลจิสติกส์บริการสดใส กิจกรรมทางเศรษฐกิจคึกหนุนผลงานโต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หุ้นกลุ่มโลจิสติกส์บริการส่วนใหญ่รับอานิสงส์ค่าระวางเพิ่มช่วงปลายปีก่อนยาวถึงปีนี้ รวมทั้งการขนส่งทางบกที่จำนวนเที่ยวเพิ่ม หลังกิจกรรมทางเศรษฐกิจเดินหน้า และค่อยๆ กลับสู่ปกติ หนุน บจ. กลุ่มนี้มีรายได้เพิ่ม แถมดันกำไรขั้นต้นขยับ LEO และ SONIC สดใสกำไรโตต่อเนื่อง เพราะมีธุรกิจหลากหลาย ขณะ MENA ฟื้นกำไรชัดเจน ส่วน KEX สวนทางกลุ่มขาดทุนอ่วมสุด เร่งปรับกลยุทธ์เพิ่มประสิทธิภาพการจัดส่งพัสดุ ตลอดจนบริหารจัดการต้นทุนฟื้นผลงาน

หลังจากเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 หลายธุรกิจนิ่งงัน บางธุรกิจปิดตัวลง ขณะที่หลายธุรกิจยังต้องกัดฟันสู้กระทั่งถึงวันที่ทุกอย่างคลี่คลายและเมื่อเวลาผ่านไปประสบการณ์และการเอาชนะจึงไม่ใช่เรื่องแปลก กระทั่งค้นพบวัคซีนป้องกันและลดอาการความรุนแรงให้แผ่วลง กอปรกับมาตรการที่เข้มงวดของรัฐผ่อนคลายลงมาก ส่งผลให้การดำรงชีวิตกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้น แม้อาจไม่ 100 เปอร์เซ็นต์เต็มรูปแบบ แต่ถือว่าคึกคักเช่นเดิมแล้ว ดังนั้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงเกิดขึ้น ยังผลให้ผู้คนไม่ออกนอกบ้าน ทุกกิจกรรมจึงเคลื่อนไหวไปตามครรลอง

ธุรกิจที่โดดเด่นและคึกคักมากอีกหนึ่งธุรกิจนั่นคือ การขนส่งและโลจอสติกส์ที่เมื่อเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจขึ้น ความต้องการสินค้าและบริการจะเพิ่มมากขึ้นรับการฟื้นตัวและหนึ่งธุรกิจที่คึกคักและจำเป็นในการส่งสินค้าหรือบริการอย่างงานบริการและโลจิสติกส์จึงได้รับอานิสงส์ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินธุรกิจเหล่านี้ได้รับผลดีต่อเนื่องมาหลายไตรมาส ขณะล่าสุดพบว่าผลการดำเนินงานแตกต่างกันไป แต่ส่วนมากเติบโตต่อเนื่อง (ดูงบการเงินประกอบ)

บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX  
งวดนี้ขาดทุน 674.64 ล้านบาท ขณะงวดนี้ปีก่อนมีกำไรสุทธิ 12.83 ล้านบาท ส่วนงวด 9 เดือนขาดทุน 1,898.08 ล้านบาท ขณะที่ปีก่อนมีกำไร 651.25 ล้านบาท โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีผลขาดทุนสุทธิ 674.6 ล้านบาท เป็นผลขาดทุนสุทธิที่ลดลง 7.9% จากไตรมาสก่อนหน้าเนื่องจากการดำเนินการควบคุมต้นทุนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการมุ่งเน้นการเพิ่มปริมาณการจัดส่งพัสดุและประสิทธิภาพการดำเนินงาน อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ยังคงมุ่งปรับปรุงความสามารถการทำกำไร โดยการจัดการรายได้ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์ Smart Pricing และการประกาศใช้ Fuel Surcharge และมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน รวมทั้งการขยายฐานปริมาณพัสดุเพื่อผลประกอบการที่ดีขึ้นและบรรเทาแรงกดดันจากการปรับตัวสูงขึ้นต้นทุนการให้บริการในด้านต่างๆ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานภายใน (Industrialisation of KEX) และการยกระดับแพลตฟอร์มการจัดส่งพัสดุมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทฯ มีการบริหารจัดการต้นทุนรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ บริษัทฯ ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดส่งพัสดุ Last Mile รวมถึงการลดความซ้ำซ้อนของกระบวนการปฏิบัติงานระหว่างศูนย์คัดแยกและศูนย์กระจายพัสดุ ทำให้บริษัทฯ สามารถบริหารทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยยังคงคุณภาพการให้บริการชั้นเยี่ยม ด้วยความคืบหน้าของการดำเนินกลยุทธ์ในไตรมาสที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นดำเนินการเพื่อให้ผลประกอบการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

JWD หรือบริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) กำไรงวดนี้ 111.72 ล้านบาท ลดลงจากเดิมที่ทำไว้ 139.07 ล้านบาทในไตรมาสนี้ปีก่อน ส่วนงวด 9 เดือนลดลงเหลือ 391.49 ล้านบาท จากเดิมที่ทำไว้ 395.36 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้ 1,593.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำไว้ 1,388.1 ล้านบาท ซึ่งไตรมาส 3 JWD มีรายได้รวม 1,594 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 204.9 ล้านบาท หรือ 14.8% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ตามตัวเลขกำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้น

สำหรับงวด 6 เดือน JWD มีรายได้รวม 4,402.3 ล้านบาท รายได้รวมเพิ่มขึ้น 585.1 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 15.3% เมื่อเทียบกับรายได้รวมในงวดเดียวกันของปีก่อน เพราะบริษัทฯ มีรายได้ค่าเช่าและรายได้จากการบริการรวมทั้งสิ้น 4,322.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.1% ซึ่งบริษัทฯ มีรายได้ค่าเช่าและบริการ 1,584.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้จากกลุ่มธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้า กลุ่มธุรกิจให้บริการขนย้าย กลุ่มธุรกิจบริการจัดเก็บและบริหารสินค้าทั่วไป กลุ่มธุรกิจให้บริการในต่างประเทศ และกลุ่มธุรกิจอาหารตามลำดับ ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น

บริษัท บี จิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ B 
งวดนี้กำไร 7 ล้านบาท ลดลงจากงวดนี้ปีก่อนที่ไว้ 11.09 ล้านบาท และงวด 9 เดือนปรับลดจากเดิมที่ทำไว้ 109.37 ล้านบาท เหลือเพียง 34.66 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ มีรายได้รวมสำหรับงวด 3 เดือนนี้ที่ 59.33 ล้านบาท และ 79.59 ล้านบาท ตามลำดับ หรือลดลงจากปีก่อน 20.26 ล้านบาท คิดเป็น 25.46% ส่วนรายได้จากการให้บริการ 32.25 ล้านบาท ลดลง 19.84 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันกับปีก่อน อีกทั้งรายได้อื่นลดลงรวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงิน

บริษัท กรุงเทพโสภณ จำกัด (มหาชน) หรือ KWC 
กำไรงวดนี้ 22.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำไว้ 22.91 ล้านบาท ส่วนงวด 9 เดือนมีกำไร 66.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำไว้ 70.84 ล้านบาท ซึ่งไตรมาสนี้ KWC มีรายได้ 78.6 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาสก่อน เนื่องจากรายได้ค่าเช่าพื้นที่ลดลงจากไตรมาสก่อน รายได้จากการใช้ท่าเทียบเรือต่ำกว่าไตรมาสก่อน ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมการบริการเพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายได้งวด 9 เดือนมี 233.7 ล้านบาท ต่ำกว่างวดเดียวกันของปีก่อน 29.4 ล้านบาท หรือลดลง 11.2% เพราะไม่มีรายได้จากโครงการออมสิน 18 สำนัก เพราะสิ้นสุดสัญญาตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 64

บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ WICE 
กำไรงวดนี้ 129.81 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำไว้ 162.15 ล้านบาท ลดลง 32 ล้านบาท คิดเป็น 20% ของปีก่อนสำหรับงวดเดียวกัน เพิ่มขึ้น 103 ล้านบาท คิดเป็น 29% ของปีก่อน โดยความสามารถในการทำกำไร 9 เดือนปีนี้จากเดิม 6.7% เป็น 7.8% เพราะบริษัทมีรายได้จากการบริการสำหรับไตรมาสนี้ 1,597 ล้านบาท ลดลง 677 ล้านบาท คิดเป็น 30% ของรายได้จากการบริการในปีก่อนสำหรับงวดเดียวกัน และสำหรับงวด 9 เดือน ปีนี้ 5,797 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 539 ล้านบาท คิดเป็น 10% ของรายได้จากการบริการในปีก่อน ส่วนรายได้ที่ลดลงไตรมาส 3 ปี 2565 เกิดจากอัตราค่าระวางเรือที่มีการปรับตัวลดลงมากกว่า 50% (Over Supply) และปริมาณการขนส่งทางเรือที่ลดลง ปริมาณความต้องการลดลงจากสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่ถึงอย่างไรก็ตาม รายได้จากการบริการของบริษัทสำหรับ 9 เดือนปีนี้ยังคงเติบโตถึง 10% ภายใต้สถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

ขณะกำไรขั้นต้นของบริษัทฯ สำหรับไตรมาส 3 ปีนี้ 292 ล้านบาท ลดลง 61 ล้านบาท คิดเป็น 17% ของปีก่อนสำหรับงวดเดียวกัน และสำหรับงวด 9 เดือน ปี 2565 เท่ากับ 988 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 115 ล้านบาท คิดเป็น 13% ของปีก่อนสำหรับงวดเดียวกัน ส่วนไตรมาส 3 ปีนี้กำไรขั้นต้นลดลงแปรผันตามรายได้ที่ลดลงเกิดจากรายได้จากการบริการขนส่งสินค้าทางเรือที่มีปริมาณการขนส่งที่ลดลง แต่บริษัทฯ มีการบริหารอัตรากำไรขั้นต้นได้ดีขึ้นจากเดิม 15.5% เป็น 18.3% และงวด 9 เดือน ปี 2565 กำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นแปรผันตามยอดขายที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกันปีนี้บริษัทมีการบริหารต้นทุนที่ดีทำให้ อัตรากำไรขั้นต้นสำหรับงวด 9 เดือนปีนี้เทียบกับปีที่แล้วดีขึ้นเช่นเดียวกัน จากเดิม 16.6% เป็น 17.0%

บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LEO 
ไตรมาสนี้มีกำไรสุทธิ 107.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 106% จากงวดเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 52.2 ล้านบาท และมีรายได้รวม 1,022.9 ล้านบาท ลดลง 6% จากงวดเดียวกันปีก่อน มีรายได้รวม 1,084.7 ล้านบาท อันเป็นผลจากอัตราค่าระวางเรือทั่วโลกมีการลดลงอย่างต่อเนื่อง

เนื่องจากบริษัทฯ เป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์อย่างครบวงจรแบบ End-to-End Global Logistics และมีรายได้อื่นๆ ในการให้บริการนอกเหนือจากค่าระวาง อีกทั้งบริษัทฯ ยังสามารถรักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้นที่ทางบริษัทได้รับจากค่าบริหารจัดการและการให้บริการที่ครบวงจรได้อยู่ในระดับที่ดี จึงทำให้บริษัทได้รับผลกระทบที่จำกัดจากการลดลงของค่าระวางในตลาดโลก

ขณะงวด 9 เดือนของปี 2565 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 297.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 144% จากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 121.9 ล้านบาท ส่วนรายได้รวมอยู่ที่ 4,009.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 89% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 2,118.2 ล้านบาท ส่วนแนวโน้มในปี 2566 บริษัทฯ มั่นใจว่าจะเป็นปีที่บริษัทฯ จะมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากบริษัทฯ จะเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการ JV และ M&A ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในปีนี้และปีหน้าอีกหลายโครงการ โดยมีเป้าหมายที่จะขยายธุรกิจ Non-Freight และ Non Logistics ที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงถึง 30-50% เพื่อมาชดเชยกับอัตราค่าระวางที่ลดลง

บริษัท มีนาทรานสปอร์ต จำกัด (มหาชน) หรือ MENA 
มีกำไร 11.42 ล้านบาท ขณะงวดนี้ปีก่อนขาดทุน 1.78 ล้านบาท ส่วนงวด 9 เดือนกำไรเติบโตต่อเนื่องจาก 20.02 ล้านบาทในงวดนี้ปีที่แล้ว เป็น 31.50 ล้านบาท งวดนี้ เพราะกำไรขั้นต้นเพิ่ม แม้ไตรมาส 3 เป็นช่วงฤดูฝน ความต้องการใช้คอนกรีตและปูนซีเมนต์จะลดลงเนื่องจากการชะลอการก่อสร้างในระหว่างที่ฝนตก ซึ่งทำให้รายได้ของ MENA ที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมคอนกรีตและปูนซีเมนต์ลดลงเมื่อเทียบกับรายได้ไตรมาสก่อน ส่วนรายได้ของ MENA สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะ MENA ได้รับผลกระทบจากการปิดแคมป์คนงานก่อสร้างของรัฐบาลซึ่งส่งผลทำให้ความต้องการใช้คอนกรีตและซีเมนต์ลดลงมาก ขณะไตรมาส 3 ปีนี้อัตราค่าขนส่งเพิ่มขึ้นตามระดับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ประกอบกับมีรายได้จากการขยายการให้บริการไปสู่การขนส่งกระจายสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเฉพาะทาง และสินค้าควบคุมอุณหภูมิ อัตรากำไรขั้นต้นไตรมาส 3 ปีนี้ 14% เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันปีก่อน

ล่าสุด MENA จับมือกับบริษัท ตะวันแดง โลจีสติกส์ จำกัด (TWD) ซึ่งเป็นบริษัทที่ถือหุ้นโดยบริษัท ซี.เจ.เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด สัดส่วน 99.99% จัดตั้งบริษัทร่วม คือ บริษัท ทีดี เอ็ม ลอจิสติกส์ จำกัด (TDM) เพื่อให้บริการขนส่งกระจายสินค้าอุปโภคบริโภค และบริการขนส่งสินค้าอื่นๆ ทั่วประเทศ คาดจดทะเบียนตั้งบริษัทร่วมทุนเสร็จไตรมาส 1 ปี 2566 นี้ ด้วยทุนจดทะเบียน 350 ล้านบาท เป็นการร่วมทุนของ MENA 35% และบริษัท ตะวันแดง โลจีสติกส์ จำกัด 65% การจับมือร่วมกันแบบ win-win โดย MENA มีจุดเด่นในเรื่องการบริหารรถขนส่ง เพราะ MENA มีรถบรรทุกและรถขนส่งประเภทต่างๆ 728 คัน และเป็นผู้นำการให้บริการขนส่งด้วยรถมิกเซอร์ เข้ามาต่อยอดโอกาสไปยังลูกค้าที่หลากหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น จึงมี Know how มีระบบ มีความรู้ ความเข้าใจในงานขนส่งเป็นอย่างดี พร้อมเดินหน้าให้บริการงานขนส่งกระจายสินค้าอุปโภคบริโภคที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ สนับสนุนโอกาส และการเติบโตในอนาคตของ MENA ได้อย่างมีนัยสำคัญ

บริษัท โซนิค อินเตอร์เฟรท จำกัด (มหาชน) หรือ SONIC 
แจ้งงบไตรมาส 3 มีกำไรสุทธิ 91.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำไว้ 70.46 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20.92 ล้านบาท หรือ 81.01% ส่งผลให้งวด 9 เดือนบริษัทมีกำไรสุทธิ 276.96 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำไว้ 153 ล้านบาท

โดยงวด 9 เดือน SONIC มีกำไรสุทธิ 276.96 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำไว้ 153 ล้านบาท โดยบริษัทมีรายได้งวด 9 เดือน 3,224.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 965.37 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 42.73 ล้านบาท ส่วนงวด 3 เดือนลดลงจากไตรมาสก่อน 196.59 ล้านบาท หรือ 17.92% และจากไตรมาส 3 ปี 64 ที่ 78.87 ล้านบาทหรือ 8.05%

สำหรับรายได้การให้บริการขนส่งทางเรืองวด 9 เดือนเพิ่มขึ้น แต่ไตรมาส 3 ลดลง เพราะผลจากการปรับตัวของค่าระวางเรือ สวนทางกับรายได้ค่าขนส่งทางบกที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งจำนวนของเที่ยวรถขนส่งมากขึ้น ทำให้มีรายได้เพิ่ม อีกทั้งรายได้ค่าขนส่งทางอากาศที่เพิ่มขึ้น เพราะการปรับค่าระวางของการขนส่งทางอากาศ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของการมาใช้ของลูกค้ารายใหม่ นอกจากนี้ รายได้อื่นอย่างกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน และค่าชดเชยความเสียหายจากการประกันภัย ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของบริษัทเติบโตต่อเนื่อง

บริษัท เกียรติธนา ขนส่ง จำกัด (มหาชน) หรือ KIAT 
งวดนี้มีกำไร 32.35 ล้านบาท หรือคิดเป็น 12.36% ของรายได้รวม โดยกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 20.94 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 181.33% ขณะที่มีรายได้ไตรมาสนี้ 262.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 76.45 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 41.00% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกนัของปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ให้บริการขนส่งสินค้า เพราะไตรมาส 3 ปีนี้ บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้จากการให้บริการขนส่งสินค้า ให้เช่าสินทรัพย์ ให้บริการตรวจสอบพฤติกรรมคนขับรถ และขายสินค้าเคมีภัณฑ์ 258.25 ล้านบาท

ขณะมีกําไรขั้นต้นงวดนี้ 76.87 ล้านบาท หรือ 29.24% ของรายได้รวม เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 22.20 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 40.62% จากการที่บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้เพิ่มขึ้น แม้ว่าต้นทุนโดยรวมจะเพิ่มขึ้น แต่ยังคงน้อยกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้ผลการดำเนินงานสดใส

จากผลประกอบการที่ออกมาทำให้พบว่า บริษัทที่มีหลากหลายธุรกิจและดำเนินการได้หลายรูปแบบจะสามารถรับมือกับความผันผวนของต้นทุนหรืออื่นๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ค่าเงิน ขณะโบรกเกอร์บางสถาบันมองธุรกิจเดินเรือ อัตราค่าระวางตู้คอนเทนเนอร์ขาออกจากประเทศไทยไปเส้นทางตะวันตกลดลงอย่างมากไตรมาส 3 ปีนี้ เพราะอุปสงค์การนำเข้าจากยุโรปและสหรัฐฯ ลดลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและปัญหาความแออัดที่ท่าเรือคลี่คลายลง ขณะอัตราค่าระวางตู้คอนเทนเนอร์ขาออกไปยังเส้นทางในเอเชียส่วนใหญ่ยังทรงตัว และงานวิจัยของ Hapag-Lloyd คาดอุปทานตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 7% ในปี 2566F จากที่เพิ่มขึ้น 3% ในปี 2565F โดยจะมีเรือขนตู้คอนเทนเนอร์ใหม่จำนวนมากที่สั่งต่อเมื่อปี 2564 เพิ่มเข้ามาในตลาดปี 2566-2568 จะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์และอุปทานที่กว้างขึ้นในปี 66 น่าจะส่งผลให้อัตราค่าระวางลดลงไปต่ำกว่าระดับปัจจุบัน ต้องมาลุ้นกับภาวะทางเศรษฐกิจทั่วโลกด้วยเพราะมีผลโดยตรง




กำลังโหลดความคิดเห็น