xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มเดินเรือ-ท่าเทียบเรือคึก ค่าระวางพุ่งดัน Q3 สดใสถ้วนหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การระบาดโควิด-19 คลายลง ทุกประเทศลดมาตรการเข้มงวด ฟันเฟืองทางเศรษฐกิจเดินหน้า ส่งผลการขนส่งทางทะเลคึกอีกทั้งค่าระวางพุ่ง รวมถึงท่าเทียบเรือ หนุนผลงานหุ้นกลุ่มเดินเรือและท่าเทียบเรือไตรมาส 3 สดใสแทบถ้วนหน้า ล่าสุดงานวิจัย Hapag-Lloyd คาดปี66อุปทานตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลกเพิ่ม 7% สอดคล้องโบรกฯ มองอุปทานเรือเพิ่มเร็วกว่าอุปสงค์ ฉุดค่าระวางต่ำ

บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ(ประเทศไทย) หรือ บล.เคจีไอฯ อัพเดทธุรกิจเดินเรือ (Shipping Sector) อัตราค่าระวางตู้คอนเทนเนอร์ขาออกจากประเทศไทยไปเส้นทางตะวันตกลดลงอย่างมากในไตรมาส 3 ปี 65 โดยอัตราค่าระวางไปยุโรปลดลง 12% จากไตรมาสก่อนและ 40% จากปีก่อน ขณะอัตราค่าระวางไปสหรัฐลดลง 31-43% จากไตรมาสก่อนและ 48-62% จากปีก่อน ทั้งนี้ อุปสงค์การนำเข้าจากยุโรปและสหรัฐลดลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและปัญหาความแออัดที่ท่าเรือคลี่คลายลง ขณะอัตราค่าระวางตู้คอนเทนเนอร์ขาออกไปยังเส้นทางในเอเชียส่วนใหญ่ยังทรงตัว ยกเว้นเส้นทางไปเกาหลีใต้ที่ลดลง ทั้งนี้ ดัชนี Shanghai Containerized Freight Index (SCFI) ลดลงถึง 45% จากไตรมาสก่อน และ 54% จากปีก่อนเหลือ 2,313 จุด

แนวโน้มเศรษฐกิจโลกดูแย่กว่าที่คาดไว้เพราะเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น มีการใช้นโยบายการเงินตึงตัวมากขึ้น โดย IMF ปรับลดประมาณการ GDP โลกลง 90bps ในปี 2565F และ 2566F เหลือ 4.1% และ 3.2% ตามลำดับ เพราะแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐ EU และจีนแผ่วลง ความเสี่ยงค่อนไปทาง downside มากกว่า เพราะถูกกดดันจากทั้งเงินเฟ้อที่สูง, ตลาดแรงงานที่ตึงตัว, ภาวะทางการเงินที่ตึงตัว ความแตกแยกทางภูมิรัฐศาสตร์ จึงปรับลดประมาณการปริมาณการค้าโลกลง 40bps เหลือ 3.2% ในปี 2565F และ 70bps เหลือ 2.9% ปี 2566F

จากงานวิจัยของ Hapag-Lloyd คาดอุปทานตู้คอนเทนเนอร์ ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 7% ในปี 2566F จากที่เพิ่มขึ้น 3% ในปี 2565F โดยจะมีเรือขนตู้คอนเทนเนอร์ใหม่จำนวนมากที่สั่งต่อเมื่อปี 2564 (4.2 ล้าน TEUs) และปี 2565 (1.7 ล้าน TEUs) เพิ่มเข้ามาในตลาดปี 2566-2568 ซึ่งอัตรา orderbook to fleet ratio ปัจจุบันเพิ่มเป็น 28% สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552 หมายความว่าจะมีอุปทานจำนวนมากเพิ่มเข้ามาในตลาดอีก 2-3 ปีข้างหน้า คาดอุปสงค์จะเพิ่มเพียง 3% ปี 2566F จากเพิ่มขึ้น 2% ในปี 2565F ช่องว่างระหว่างการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์และอุปทานที่กว้างขึ้นในปี 66 น่าจะส่งผลให้อัตราค่าระวางลดลงไปต่ำกว่าระดับปัจจุบัน

บล.เคจีไอฯ มองลบกับกลุ่มขนส่งทางเรือ ทั้งเรือคอนเทนเนอร์และเรือเทกอง คิดว่าการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์จะถูกกดดันจากอุปทานเรือที่จะเพิ่มขึ้นเร็วกว่าอุปสงค์ โดยอุปทานเรือขนตู้คอนเทนเนอร์ใหม่ที่จะเพิ่มเข้ามาในตลาดเป็นจำนวนมากปี 2566-2568 จะทำให้อัตราค่าระวางอยู่ในขาลงต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปี นอกจากนี้ยังมองว่าอุปสงค์เรือเทกองในปี 66 ยังมีความเสี่ยงด้าน downside อีก เพราะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงจะทำให้ปริมาณการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง

นั่นคือการประเมินของนักวิจัยและนักวิเคราะห์ อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของหุ้นกลุ่มเดินเรือและท่าเทียบเรืออันประกอบด้วยหุ้นเรือเทกองหุ้น เรือคอนเทนเนอร์ เรือขนส่งน้ำมันดิบและปิโตรเคมีเหลวและยังมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอย่าง ต่อเรือ ซ่อมเรือ และให้บริการเช่าเรือขนส่ง จึงทำให้มีความแตกต่างกันบ้างในบริษัทบางแห่ง ซึ่งหลังโควิดคลี่คลาย สถานการณ์เริ่มคืนสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้ความต้องการบริโภคมากขึ้นนั่นคือการขนส่งเกิดขึ้นอย่างคึกคัก ส่งผลค่าระวางเรือเพิ่มตามกอปรกับค่าระวางเรือตู้คอนเทนเนอร์ทะยาน

AMA ค่าระวางสูงดันผลงานพุ่ง

บริษัท อาม่า มารีน จำกัด (มหาชน) หรือ AMA แจ้งงบไตรมาส 3 มีกำไรสุทธิ 185.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 49.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 136.16 ล้านบาท หรือ 277.66 % จากปีก่อนหน้า คิดเป็นอัตรากําไรสุทธิที่ 19.51% เทียบกับกําไรสุทธิต่อรายได้ไตรมาส 3 ปีก่อนที่ 9.41% สอดคล้องกับกําไรจากการดําเนินงานเพิ่มขึ้น ขณะงวด 9 เดือนมีกำไรสุทธิ 255.96 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดนี้ปีก่อนที่ทำไว้ 102.69 ล้านบาท เนื่องจากธุรกิจการขนส่งสินค้าทางเรือมีรายได้เพิ่ม 298.76 ล้านบาท หรือ 93.40% จากปีก่อนหน้า ผลจากปรับอัตราคาระวางสูงขึ้นถึง 81.53% อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินบาทเฉลี่ยอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับปีก่อนและราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้มีกําไรขั้นต้นเพิ่ม 281.07% หรือสูงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 16.63 % สอดคล้องกับกําไรสุทธิที่สูงขึ้น 139.50 ล้านบาท หรือ 683.99%

ขณะธุรกิจการขนส่งสินค้าทางรถกลุ่มธุรกิจการขนส่งสินค้าทางรถ มีรายได้ไตรมาส 3 ปีนี้ 330.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 129.52 ล้านบาท หรือ 62.40 %จากปีก่อนหน้า ส่วนหนึ่งมาจากกําไรที่เพิ่มส่วนจากกิจการที่ซื้อเข้ามา ขณะอัตรากําไรขั้นต้นไตรมาส 3 อยู่ที่ 14.45% ลดลงจากปีก่อนหน้าที่ 22.33% เนื่องจากสภาวะการแข็งขันด้านราคาที่สูงขึ้นในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์อีกทั้งค่าการตลาดน้ำมันที่ลดลง ทําให้ต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น รวมถึงค่าซ่อมบํารุงรถที่เพิ่มจากราคายางรถยนต์และอะไหล่ที่ปรับตัวสูงขึ้น

ASIMAR ฟื้นกำไรซ่อมเรือคึก 

บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ASIMAR งวดนี้กำไร 4.74 ล้านบาท ขณะที่งวดนี้ปีก่อนขาดทุน 10.30 ล้านบาท หรือกำไรเพิ่มขึ้น 15.05 ล้านบาท คิดเป็น 146.12 % ส่งผลให้งวด 9 เดือนกำไรลดลงเหลือ 5 ล้านบาท ขณะที่งวดนี้ปีก่อนกำไรสุทธิ 16.45 ล้านบาท เพราะรายได้จากการรับจ้างเพิ่มขึ้น 113.80 ล้านบาท หรือ 128.15 % เนื่องจากรายได้มาจากงานซ่อมเรือ 156.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 102.50 ล้านบาท หรือ 190.52% เพราะมีเรือราชการและเรือของบริษัทเอกชนมูลค่าสูงหลายลำเข้าซ่อมทำ รวมทั้งการนำเข้า-การส่งออกเริ่มดีขึ้นหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด19 เริ่มคลี่คลาย ทำให้เจ้าของเรือนำเรือเข้ามาซ่อมทำเพื่อรองรับงานในอนาคต จึงทำให้เรือมาซ่อมมากขึ้น เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน อีกทั้งรายได้จากการต่อเรือ 45.60 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.00 ล้านบาท หรือ 145.16% เนื่องจากมีการรับรู้รายได้ของโครงการต่อเรือลากจูงของกองทัพเรือ ขณะที่มีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น 1.92% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากมีรายได้จากการรับจ้างเพิ่มขึ้น

โควิดคลาย ดันกำไร III สดใส 

บริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ III  กำไรงวดนี้ 146.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำไว้ 96.50 ล้านบาท ขณะ 9 เดือนมีกำไรสุทธิ 368.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำไว้ 259.70 ล้านบาท เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจเริ่มผ่อนคลายจากสถานการณ์โควิด -19 แม้ยังมีปัจจัยและความผันผวนเกิดขึ้น จากสภาพเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย และมาตรการล็อกดาวน์ของจีน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ แต่กลยุทธ์การดําเนินธุรกิจของบริษัท ทำให้กระจาย ความเสี่ยงไปยังทุกกลุ่มธุรกิจ

โดยมีรายได้ไตรมาส 3 ที่ 744.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 22.9 % และจากไตรมาสก่อน 3.1 % จากกลุ่มธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศที่มีผลการดําเนินงานที่โดดเด่นจากการเปิดประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19 ผ่อนคลาย ทําให้อุตสาหกรรมการบินเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติและมีปริมาณเที่ยวบินเพิ่มขึ้น และกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์และเคมีภัณฑ์และสินค้าอันตรายมีผลการดําเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง แม้ขนส่งทางทะเลมีค่าระวางลดลง ขณะกำไรขั้นต้นสูงกว่ารายได้ เพราะปริมาณการขนส่งทางอากาศจากสายการบินที่บริษัท เป็นตัวแทนขายระวางสายการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งส่วนแบ่งกําไรจากเงินลงทุนในบริษัทและการร่วมค้า 72.1 ล้านบาท

RCL รายการพิเศษหนุนกำไรพุ่ง 

บริษัท อาร์ ซี แอล จำกัด (มหาชน) หรือ RCL กำไรสุทธิ 6,428 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำไว้ 3,731.14 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 2,697 ล้านบาท หรือ 72 % จากไตรมาสที่ 3 ปี 2564 อีกท้ัง รายได้รวมสำหรับไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอัตรา 53 % โดยปริมาณการขนส่งเพิ่มขึ้น ส่งผลให้กำไรสุทธิ 9 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 22,009 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12,147 ล้านบาท จากปีก่อนที่ทำไว้ 9,861,822 หรือ 123 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะรายได้รวมที่เพิ่มขึ้น 77% ซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากอัตราค่าระวาง ( 74 %) ขณะค่าใช้จ่ายรวมเพิ่ม 47 % โดยปริมาณการขนส่งในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 เพิ่มขึ้น 4 % ส่วนอัตราค่าระวางเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 67% จากปีก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงรักษารายได้ในไตรมาส 3 ปีนี้ไว้ที่ 14,258 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 2 ด้วยการจัดการเส้นทางบริการใหม่อย่างรอบคอบระมัดระวัง ซึ่งไตรมาส 2 ปีนี้ บริษัทมีได้รวมกำไรพิเศษ 770 ล้านบาท จากการขายสินทรัพย์ในไตรมาสดังกล่าวไว้ด้วย ท่ามกลางสภาวการณ์ดังที่กล่าวข้างต้น ทำให้ค่าใช้จ่ายรวมในไตรมาสที่ 3 ปีเพิ่มสูงขึ้นและส่งผลให้กำไรในไตรมาสนี้ลดลง 13%

PRM มาร์จิ้นทะยาน ดันผลงานสวย 

บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) หรือ PRM งวดนี้กำไรสุทธิ 1,056.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 426.078 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการให้บริการ 2,149.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.3% ขณะมีกำไรขั้นต้น 715.2 ล้านบาท เพิ่มถึง 47.1 % ผลจากการขยายงานในทุกกลุ่มธุรกิจ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มสูงขึ้น และการปรับอัตราค่าบริการตามภาวะตลาด นอกจากนั้นไตรมาส 3 ปี 2565 บริษัทฯ ยังมีกำไรจากการขายเรือ VLCC เก่าที่เลิกใช้งานแล้วจากกลุ่มธุรกิจขนส่งน้ำมันระหว่างประเทศ ซึ่งบันทึกอยู่ในรายได้อื่น 522.86 ล้านบาท

โดยมีค่าใช้จ่ายในการบริหารไตรมาสนี้ เพิ่มขึ้นตามปริมาณธุรกิจที่ขยายตัว ส่วนการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 79.1 ล้านบาท มาจากการที่เงินบาทอ่อนค่าลง ส่วนงวด 9 เดือน มีรายได้และกำไรขั้นต้นส่วนใหญ่เป็นสกุลเงินเหรียญสหรัฐหรือเงินบาทที่คำนวณจากอัตราค่าบริการที่เป็นเงินเหรียญสหรัฐ โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันเรียกเก็บเงิน ดังนั้นในกรณีที่เงินบาทอ่อนค่า รายได้และกำไรขั้นต้นส่วนใหญ่ที่มาจากเงินเหรียญสหรัฐเมื่อแปลงเป็นเงินบาทก็จะสูงขึ้นด้วย สามารถชดเชยผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดจากเงินกู้ที่เป็นเงินเหรียญสหรัฐได้อย่างเพียงพอ ซึ่งบริษัทฯ จะได้รับประโยชน์ในกรณีที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวโดยได้บันทึกเป็นรายได้ค่าบริการที่เพิ่มขึ้น

ค่าระวางเรือเทกองลด ฉุดกำไร PSL ตก 

บริษัท พรีเชียส ชิพปิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSL  กำไรงวดนี้ 1,348.03 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำไว้ 1,501.26 ล้านบาท เนื่องจากรายได้จากการเดินเรือสุทธิ ( รายได้จากการเดินเรือสุทธิจากรายจ่ายท่าเรือและน้ำมัน เชื้อเพลิง ) งวดนี้ลดลง 6.3 % และ 5.7 % เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปีนี้ และไตรมาส 3 ปีก่อน ตามลำดับ เนื่องมาจากรายได้เฉลี่ยต่อวันต่อลำเรือลดลงจาก 23,901 เหรียญสหรัฐในไตรมาส 2 ปีนี้และลดลงจาก 24,722 เหรียญสหรัฐในไตรมาส 3 ปีก่อนเป็น 19,840 เหรียญสหรัฐในไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ตลาดอัตราค่าระวางเรือขนส่งสินค้าแห้งเทกองปรับตัวลดลง

ขณะค่าใช้จ่ายในการเดินเรือเฉลี่ยต่อวันต่อลำเรือ ( OPEX ) ( รวมค่าเสื่อม/ค่าใช้จ่ายตัดบัญชีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมและสำรวจเรือ ) งวดนี้เพิ่มขึ้น 28 % ส่วนใหญ่มาจากการอ่อนค่าของสกุลเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐค่าใช้จ่ายในการเดินเรือเฉลี่ยต่อวันต่อลำเรือในไตรมาส 2 ปีนี้ลดลงด้วยเนื่องมาจากการได้รับเงินประกันภัยซึ่งเป็นรายการพิเศษ ทั้งนี้ หากไม่มีการรับเงินจากประกันภัยดังกล่าวค่าใช้จ่ายในการเดินเรือเฉลี่ยต่อวันต่อลำเรือไตรมาส 3 ปีนี้จะสูงกว่าค่าใช้จ่ายในการเดินเรือเฉลี่ยต่อวันต่อลำเรือในไตรมาส 2 ปีนี้ 20 % ส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่ม

TTA กำไร Q3 หด-งวด 9 เดือนพุ่ง 

บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA งวดนี้กำไร 1,448.72 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำไว้ 1,614.39 ล้านบาท หรือลดลง 10% เทียบปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 40% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากมีรายการขาดทุนพิเศษจากการด้อยค่าของเงินลงทุนจากการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ใหม่ของการร่วมค้าแห่งหนึ่งภายใต้กลุ่มการลงทุนอื่นในไตรมาสนี้

ขณะงวด 9 เดือนมีกำไรสุทธิ 3,463.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำไว้ 2,333.84 ล้านบาท ซึ่งTTA มีรายได้ 8,072.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% จากปีก่อน เพราะการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญของกลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง ส่งผลให้มีกำไรขั้นต้นมี 2,389.9 ล้านบาท ลดลง 3% จากปีก่อน และ 9% จากไตรมาสก่อน เพราะอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่า (TCE) ปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับอัตราระวางเรือเทียบเท่าที่สูงเป็นพิเศษในปี 2564 ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลงจากปีก่อนและไตรมาสก่อน ขณะค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของเรือลดลง และค่าขนส่งเพิ่มขึ้นตามปริมาณส่งออกปุ๋ยที่สูงขึ้นของกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร นอกจากนี้ยังมีผลขาดทุนจากเงินลงทุนที่เกิดขึ้นจริงและยังไม่เกิดขึ้นจริง 103.1 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากผลขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากการลดลงของมูลค่าการลงทุนตามราคาตลาดอันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจ โลก ส่งผลให้EBITDA ลดลง 9%

จำนวนเที่ยววิ่งเพิ่มดัน ผลงาน VL โต 

บริษัท วี.แอล.เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ VL งวดนี้มีกำไรสุทธิ 25.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 8.20 ล้านบาท ขณะมีกำไรไรขั้นต้น 48.8 ล้านบาท คิดเป็น 22.3% ของรายได้ และค่าบริการขนส่งรวม เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ปี 2564 เป็นเงิน 16.6 ล้านบาท คิดเป็น 51.6 % ของกำไรขั้นต้นในปีก่อน และสำหรับรอบระยะเวลาเก้าเดือนแรกของปี 2565 บริษัทมีกำไรขั้นต้น 93.0 ล้านบาท คิดเป็น 16.7% ของรายได้ค่าบริการขนส่งรวม เพิ่มขึ้นจากรอบระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากต้นทุนค่าบริการขนส่งส่วนที่เป็นผันแปรโดยเฉพาะค่าน้ำมันเชื้อเพลิงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และงวดนี้บริษัทมีรายได้รวมมาจากธุรกิจเรือขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์เป็นหลัก ส่วนงวด 9 เดือน บริษัทมีรายได้รวมมาจากธุรกิจเรือขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์เป็นหลัก ประกอบด้วย รายได้ค่าบริการขนส่ง และรายได้อื่น เป็นเงิน 557.4 ล้านบาท และ 1.4 ล้านบาท ตามลำดับ

ทั้งนี้ไตรมาส 3 ปีนี้จำนวนเที่ยววิ่งในประเทศเพิ่มขึ้นเนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการของภาครัฐเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 อันส่งผลให้เกิดความต้องการบริโภคน้ำมันในประเทศมีเพิ่มเกิดจากยอดรายได้ค่าบริการขนส่งระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น และบริษัทได้รับการปรับราคาค่าบริการขนส่งจากลูกค้า และมีลูกค้ารายใหม่ที่สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น

PORT กำไรลด เหตุปัญหาการเดินเรือ 

บริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด (มหาชน) หรือ PORT มีกำไรสุทธิ 8.25 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำไว้ 12.21 ล้านบาท ขณะ 9 เดือนงวดนี้ขาดทุนสุทธิ 10.32 ล้านบาท ขณะที่ปีก่อนมีกำไรสุทธิ 27.12 ล้านบาท ซึ่งผลการดำเนินงานที่เพราะได้รับผลกระทบจากปัญหาการเดินเรือระหว่างประเทศของลูกค้าสายเรือที่ไม่ปกติ โดยเป็นการเข้าเทียบจอดที่ท่าเรือแหลมฉบังและขนส่งตู้คอนเทนเนอร์เข้าออกโดยเรือบาร์จแทน ซึ่งมีอัตรากำไรที่น้อยกว่า

ขณะที่มีรายได้จากการให้บริการงวดนี้ 530.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดนี้ปีก่อนที่ทำไว้ 518.13 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้จากการบริการท่าเทียบเรือลด เพราะการบริการงานเรือระหว่างประเทศที่ได้รับผลจากสถานการณ์โควิด ทำให้ปรับตารางการเดินเรือเข้าท่าเทียบเรือแหลมฉบังแทนการเข้าท่าเรือแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ส่งผลให้มีปริมาณตู้สินค้าเข้ามาใช้บริการลดลง

NYT ผลงานเติบโต 

บริษัท นามยง เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) หรือ NYT งวดนี้กำไรสุทธิ 63.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำไว้ 38.10 ล้านบาท ขณะงวด 9 เดือนมีกำไรสุทธิ 159.36 ล้านบาท ลดลงจากงวดนี้ปีก่อนที่ทำไว้ 181.57 ล้านบาท ส่งผลให้มีรายได้รวมไตรมาสนี้ 372.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.9% และยอดสะสม 9 เดือน 1,042 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% เพราะรายได้การให้บริการท่าเทียบเรือเพื่อขนถ่ายสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่อง มีมูลค่า 287.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.8% ส่วนยอดรายได้สะสม 9 เดือน มีมูลค่า 783.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์พยายามเร่งการผลิตและส่งออกเพื่อให้ได้ตามเป้า หลังจากที่ประสบปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ช่วงครึ่งปีแรก ส่วนรายได้การให้บริการคลังสินค้า สำหรับงวดไตรมาส 3 และ 9 เดือนล้วนเพิ่มขึ้น เนื่องจากการปรับเพิ่มอัตราค่าบริการตามสัญญาและลูกค้ารายใหม่ที่เข้ามาใช้บริการพื้นที่คลังสินค้า ขณะงวดนี้รับรู้ผลขาดทุนจากการลงทุนในบริษัทร่วม จากการชะลอตัวของงานขุดแท่นขุดเจาะน้ำมันขนาดใหญ่ที่ส่งผ่านท่าในงวดปัจจุบัน

TSTE กำไรโตต่อเนื่อง 

บริษัท ไทยชูการ์ เทอร์มิเนิ้ล จำกัด (มหาชน) หรือ TSTE  งวดนี้มีกำไรสุทธิ 49.08 ล้านบาท เพิ่มจากงวดนี้ปีก่อนที่ทำไว้ 29.23 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 67.91% ส่วนงวด 9 เดือนพบว่ามีกำไรสุทธิ 140.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดนี้ปีก่อนที่ทำไว้ 128.19 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้งวดนี้ 601.50 ล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำไว้ 248.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 70.53% เพราะบริษัท ที เอส ฟลาวมิลล์ จำกัด(มหาชน) 187.79 ล้านบาท มีรายได้จากการขายเพิ่ม อีกทั้ง บริษัท ที เอส ฟู้ด โฮลดิ้ง จำกัด ได้ซื้อหุ้น บริษัท เนอเจอร์เบสท์ฟู้ด จำกัด ทำให้บริษัทรับรู้รายได้จากการขายผลิตภัณฑ์สาหร่าย 78.41 ล้านบาท ขณะรายได้จากการให้เช่าและบริการลดลง 27.28 ล้านบาท เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงจาก บริษัท ที เอส ขนส่งและโลจีสติกส์ จำกัด ซึ่งมีรายได้ท่าเทียบเรือลดลง แต่มีรายได้การรับจ้างบรรจุเพิ่ม 24.35 ล้านบาท




กำลังโหลดความคิดเห็น