xs
xsm
sm
md
lg

ตู้ดาต้าเซ็นเตอร์ลุยสมาร์ทซิตีไทย! (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เป็นความจริงที่ท้าทายมาก เมื่อกล้องวงจรปิดเกินหมื่นตัวในระบบสมาร์ทซิตีไทยนั้นต้องทำงานแบบรวมศูนย์ในตลอดเวลาที่ผ่านมา ข้อมูลมหาศาลถูกส่งมาวิเคราะห์ที่ศูนย์กลาง เกิดเป็น “ค่าเช่าท่อรับส่งข้อมูล” ราคาหลายล้านบาท บนงบปรับพื้นที่เก็บระบบศูนย์ข้อมูลหรือดาต้าเซ็นเตอร์มูลค่าสูงลิ่ว เพื่อให้ระบบสามารถตรวจจับการทำผิดกฎจราจร ระบุรถหรือวัตถุต้องสงสัย หรือเตือนสิ่งผิดปกติในพื้นที่หวงห้ามได้

ความท้าทายนี้ทำให้ซิสโก้ (Cisco) จับมือกับแพลนเน็ตคอม (PlanetComm) พัฒนา “โมบายดาต้าเซ็นเตอร์” ที่สามารถยกไปตั้งในพื้นที่ปลายทางเพื่อทำหน้าที่เป็นแกนหลักรองรับบริการสมาร์ทซิตีไทย ทั้งคู่เรียกดาต้าเซ็นเตอร์ในตู้คอนเทนเนอร์นี้ว่า “PLANET Edge Data Center” ซึ่งถูกวางตัวให้เป็นต้นแบบสำหรับขับเคลื่อนสมาร์ทซิตีตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0

ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัลในประเทศไทย (Country Digital Acceleration - CDA) ของซิสโก้ จุดมุ่งหมายของความร่วมมือคือเพื่อเสริมศักยภาพการเชื่อมต่อ และสร้างประสบการณ์ดิจิทัลแบบเน็กซ์เจนให้ประชาชนผ่านนวัตกรรมสมาร์ทซิตี เช่น ระบบไฟส่องสว่างแบบอัจฉริยะตามท้องถนนและระบบเซ็นเซอร์ ตรงนี้แพลนเน็ตคอมมองว่าจะเป็นการเปิดตลาดใหม่ในอุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์ไทย ที่ปัจจุบันมักทำแบบไฮเปอร์สเกล (Hyperscale) ขนาดใหญ่ไว้เป็นศูนย์กลาง

***77 จังหวัด จำเป็นต้องมีศูนย์ข้อมูลส่วนกลาง

นายประพัฒน์ รัฐเลิศกานต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประเทศไทยไม่ควรพัฒนาสมาร์ทซิตีในหลายจังหวัดโดยให้ข้อมูลวิ่งมาที่เดียว เนื่องจากระยะทางไกลและความไม่เสถียรที่อาจเกิดขึ้น โดยควรต้องดำเนินการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลได้ที่เอดจ์หรือพื้นที่ปลายทาง การตัดตอนนี้ทำให้แพลนเน็ตคอมประเมินว่าในแต่ละ 77 จังหวัดของไทย จะต้องมีศูนย์ข้อมูลส่วนกลางเพื่อให้องค์กรท้องถิ่นมีข้อมูลใช้งานโดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะรูปแบบการเช่าใช้ที่บริษัทจะอาสาดูแลให้ทั้งหมด

ประพัฒน์ รัฐเลิศกานต์
“เราตั้งเป้าว่าปีหน้าจะติดตั้งในพื้นที่มากกว่า 20 จังหวัด เน้นที่ EEC และฉะเชิงเทรา แล้วไปบูรณาการใช้พื้นที่แต่ละจังหวัด” ประพัฒน์กล่าว “อาจจะไปที่ปทุมธานี ภูเก็ต ขอนแก่น ยังต้องดูความพร้อม ต้องรอให้เจ้าเมืองหรือคนในท้องถิ่นอยากทำ ไม่อย่างนั้นจะไม่ค่อยสำเร็จ งบประมาณสำหรับงานสามารถเริ่มได้ที่ 5 ล้านบาท ทั้งในระดับ อบต.และ อบจ. เรามีเสาสมาร์ทโพลให้ 4 ต้น ควรเริ่มระดับเล็กๆ เพื่อทดลองว่าได้ผลไหม สามารถทยอยเช่าใช้ได้ปีละ 1 ล้านบาท ผมคิดว่าสามารถเริ่มต้นที่สวนสาธารณะของจังหวัด ในมุมที่มีผู้ใช้บริการหนาแน่นและคุ้มค่าต่อการลงทุน ควรหาพื้นที่ที่คิดว่าประชาชนได้ประโยชน์ ไม่ใช่ท้องถนน แต่เป็นพื้นที่ที่คนมีส่วนร่วม”

แพลนเน็ตคอมไม่ได้ทำคนเดียว แต่มีการคุยกับซิสโก้ผ่านโครงการ CDA ซึ่งเป็นโครงการเร่งให้ 44 ประเทศทั่วโลกเข้าถึงระบบดิจิทัลได้เร็วขึ้น ขณะเดียวกัน ดำเนินการเช่าตู้คอนเทนเนอร์ที่คุณภาพดี แล้วติดตั้งระบบ Hyperflex ของซิสโก้ที่ทำงานได้เทียบเท่ากับเซิร์ฟเวอร์คอมพิวเตอร์หลายสิบตัว คู่กับระบบสำรองไฟ เครื่องปรับอากาศ และอุปกรณ์ป้องกันอัคคีภัย

ผู้บริหารแพลนเน็ตคอมอธิบายว่า สิ่งที่ทำให้เมืองกลายเป็นสมาร์ทซิตีได้นั้นต้องเริ่มที่ชั้นแรกคือการรวมข้อมูล ทั้งจากบิ๊กดาต้า ข้อมูลเมือง เซ็นเซอร์ สำมะโนประชากร การศึกษา และอื่นๆ ชั้นที่ 2 คือการสื่อสารข้อมูล เนื่องจากเทคโนโลยีที่ใช้ในการสื่อสารข้อมูลมีความสำคัญเพราะจะต้องรองรับข้อมูลจากอุปกรณ์หลายรูปแบบได้ ชั้นสุดท้ายคือแพลตฟอร์มที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มา ทั้งการแจ้งเตือนหรือให้บริการประชาชน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้

  แพลนเน็ตคอมไม่ได้ทำคนเดียว แต่มีการคุยกับซิสโก้ผ่านโครงการ CDA ซึ่งเป็นโครงการเร่งให้ 44 ประเทศทั่วโลกเข้าถึงระบบดิจิทัลได้เร็วขึ้น
ทั้ง 3 ชั้นสะท้อนว่าเอดจ์ดาต้าเซ็นเตอร์มีความจำเป็น เพราะหากคำนวณจากกล้องวงจรปิดระดับจังหวัดที่อาจจะใช้พื้นที่เก็บข้อมูลประมาณ 9 เทราไบต์ต่อวัน เทียบเท่ากับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 5,520 คน ท่อที่ต้องใช้รับส่งข้อมูลต้องมีไม่ต่ำกว่า 1 กิกะบิตต่อวินาที

สำหรับประเทศไทยที่มี 7,255 ตำบล แต่ละตำบลมี 200 กล้อง นั้นควรมีท่อส่งข้อมูล 1 กิกะบิตต่อวินาทีต่อตำบล รวมเป็น 7,255 กิกะบิตต่อวินาที คิดเป็นค่าใช้จ่ายรวมกว่า 19 ล้านบาทต่อเดือน ทั้งหมดนี้ เอดจ์ดาต้าเซ็นเตอร์จะแก้ไขได้ และหากตั้งที่จังหวัด จะสามารถย่อความต้องการลิงก์ลงได้เหลือ 100 กิกะบิตต่อวินาที ลดค่าใช้จ่ายได้เหลือ 3 แสนบาท โดยโมบายดาต้าเซนเตอร์ของแพลนเน็ตคอมสามารถรองรับพื้นที่ 50-100 กิโลเมตร ครอบคลุมได้ทั้งอำเภอขึ้นอยู่กับรูปแบบข้อมูล

***ตู้ดีกว่าตึก

ประพัฒน์ให้ความเห็นว่า ดาต้าเซ็นเตอร์ไทยจำนวนมากติดตั้งผิดหลัก แม้จะมีการใช้ห้องที่ปรับอากาศให้เย็น แต่มักติดตั้งเครื่องปรับอากาศผิดประเภท ทำให้มีความชื้นสูง ขณะเดียวกัน ดาต้าเซ็นเตอร์ของไทยมักอยู่ในอาคารชั้นสูงๆ แต่ดาต้าเซ็นเตอร์ที่ดีควรอยู่บนพื้นล่าง

“การทำ Raised Floor (พื้นยกป้องกันไฟฟ้าสถิตย์) นั้นถูกต้อง แต่มักจะอยู่ในอาคารชั้นสูงเกินไป และควรต้องเข้าออกได้ 4 ทิศทาง บริษัทต่างประเทศจึงไม่คิดเช่าอาคารในไทย เพราะผิดหลัก ที่ถูกควรต้องอยู่นอกอาคาร ต้องมีน้ำหล่อเย็น มีแอร์ 2 ตัว ต้องมีไฟฟ้า 2 ทาง” ประพัฒน์ระบุ “ดาต้าเซ็นเตอร์ไทยจึงไม่ค่อยได้มาตรฐาน ที่ดีมีน้อย แต่เมื่อทำตู้ เราจะสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมได้หมด เราจัดทุกอย่าง 2 ชุดใส่ในตู้ มีการทดสอบแผ่นดินไหว เอาสเปรย์น้ำฉีด ไม่ต้องกลัวน้ำเข้าและสั่นไหว มีฉนวนกันร้อน น้ำท่วมก็ขนยกหนีได้”

การจับดาต้าเซ็นเตอร์เข้าตู้คอนเทนเนอร์จนเป็นโมบายดาต้าเซ็นเตอร์ ภายในมีระบบสำรองไฟ เครื่องปรับอากาศ และอุปกรณ์ป้องกันอัคคีภัย
การจับดาต้าเซ็นเตอร์เข้าตู้คอนเทนเนอร์จนเป็นโมบายดาต้าเซ็นเตอร์นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่ยังไม่มีประเทศใดในโลกที่ใช้โมบายดาต้าเซ็นเตอร์เป็นตัวขับเคลื่อนสมาร์ทซิตีระดับประเทศ ตัวอย่างเช่น อินเดียที่เลือกใช้ในการกระจายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตสู่พื้นที่ห่างไกล หรือบางประเทศที่ทำโครงการสวนสัตว์อัจฉริยะ ซึ่งจะเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาของโครงการ CDA ของซิสโก้ต่อไป

ทวีวัฒน์ จันทรเสโน กรรมการผู้จัดการ ซิสโก้ ประเทศไทย และพม่า กล่าวว่า ซิสโก้มีแนวคิดต้องการผลักดันให้ประชากรโลกเข้าถึงเทคโนโลยีได้เท่าเทียมกัน จึงใช้เทคโนโลยีที่มีในการสร้างอนาคตที่ทุกคนมีส่วนร่วม สำหรับไทยนั้นเป็น 1 ใน 44 ประเทศที่ซิสโก้ลงทุนในโครงการ CDA ซึ่งจะมีการทำกรณีศึกษาเพื่อนำไปใช้ในประเทศอื่นโดยขณะนี้โครงการในไทยได้เข้าสู่กรอบเวลา CDA 1.0 ซึ่งกินระยะ 3 ปีแรก ครอบคลุม 4 พื้นที่หลักคือเรื่องสุขภาพ, 5G, EEC และไซเบอร์ซิเคียวริตี

   ทวีวัฒน์ จันทรเสโน
“ไทยมีจุดประสงค์สร้างสมาร์ทซิตีหลายจุดในประเทศ หากต้องเริ่มสร้างทุกอย่างจากศูนย์จะใช้เวลานาน เราจึงเอารูปแบบโมบายดาต้าเซ็นเตอร์จากเคสบ้านฉางมาเป็นต้นแบบ โดยตั้งโจทย์ 4 ด้าน คือ 1.ดาต้าเซ็นเตอร์ต้องติดตั้งได้ยืดหยุ่น เนื่องจากพื้นที่ในแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน และไทยมีนโยบายผลักดันให้เกิดการสร้างโซลูชันต้นแบบที่สามารถนำไปปรับเล็กน้อยแล้วใช้ได้เลย 2.ต้องขยายได้ เนื่องจากแต่ละเมืองมีความต้องการไม่เท่ากัน ควรขยายเน็ตเวิร์กและความจุได้แตกต่าง ทำให้สามารถเพิ่มทรัพยากรได้เฉพาะที่จำเป็นแบบลงลึกระดับอำเภอ โดยการเป็นระบบที่ทำงานได้ที่เอดจ์จะสามารถวิเคราะห์/แจ้งเตือนได้ทันที 3.นำเอาไปเป็นต้นแบบได้ ซึ่งระบบนี้สามารถยกไปใช้ได้เลยโดยปรับแต่งเล็กน้อย และ 4.ไซเบอร์ซิเคียวริตี หากมีการปกป้องระบบการวิเคราะห์ภายใน ผู้ที่อยู่ในพื้นที่จะสามารถรับประโยชน์จากข้อมูล โดยได้รับการปกป้อง และบล็อกลิงก์ไม่ปลอดภัย”

ทั้งหมดนี้ ซิสโก้และแพลนเน็ตคอมมองว่ายังไม่เห็นคู่แข่งในตลาด โดยเฉพาะการทำโซลูชันสมาร์ทซิตีในรูปโมบายดาต้าเซ็นเตอร์เพื่อเป็นต้นแบบที่ยังไม่เห็นในระดับโลก จุดนี้ทำให้แพลนเน็ตคอมพร้อมมองหาพาร์ตเนอร์เป็นโอเปอเรเตอร์รายใหญ่ ซึ่งบริษัทสามารถทำเทคโนโลยีให้

ในภาพรวม แพลนเน็ตคอมมองว่าจะเป็นโอกาสใหม่ในตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งมีสถิติชี้ว่าในช่วง 3 ปีจากนี้จะมีการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์กว่า 7 หมื่นล้านบาทในช่วงปี 2022-2025 

อย่างไรก็ตาม การลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์สำหรับโครงการสมาร์ทซิตีนั้นยังมีความไม่แน่ชัด เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน โดยหนึ่งในความท้าทายที่พบคือการหาพื้นที่ตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ในชุมชนแต่ละอำเภอซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ต่างจากโมบายดาต้าเซ็นเตอร์ที่ผ่านการคำนวณมาแล้ว และไม่ต้องดำเนินการใหม่ตั้งแต่เริ่ม ทำให้สามารถติดตั้งและใช้งานได้ใน 3-6 เดือน เร็วกว่าระยะเวลา 1 ปีที่ในอดีตต้องมีการปรับอาคาร เบื้องต้น ตู้โมบายดาต้าเซ็นเตอร์ถูกประเมินว่าใช้การได้ 25 ปี แต่ราคาอาจจะสูงกว่า 10-20% เมื่อเทียบกับไซส์ขนาดเล็ก

การจับดาต้าเซ็นเตอร์เข้าตู้คอนเทนเนอร์จนเป็นโมบายดาต้าเซ็นเตอร์นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่ยังไม่มีประเทศใดในโลกที่ใช้โมบายดาต้าเซ็นเตอร์เป็นตัวขับเคลื่อนสมาร์ทซิตีระดับประเทศ
นอกจากสมาร์ทซิตี โมบายดาต้าเซ็นเตอร์ถูกมองว่าสามารถปรับใช้ได้กับองค์กรกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เช่น โรงงานที่ต้องการมีดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดเล็กเป็นของตัวเอง อีกกลุ่มคือหน่วยงานราชการ กสทช. สาธารณสุข เพื่อให้สามารถกระจายข้อมูลของตัวเองไปยังแต่ละส่วนงานในท้องถิ่น คาดว่าระบบเก่าจะเริ่มเต็มศักยภาพและมีความต้องการเอดจ์ดาต้าเซ็นเตอร์มากขึ้น

ที่สุดแล้วอิมแพกต์ของโมบายดาต้าเซ็นเตอร์คือการเป็นเซกเมนต์ใหม่ในตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ เป็นการต่อยอดให้เกิดตลาดใหม่ที่ทดแทนการซื้อเครื่องเองแล้วไม่มีทีมงานดูแล ซึ่งหากมองตามนโยบายรัฐที่ต้องการบูรณาการกล้อง CCTV ทั่วประเทศ เชื่อว่าโมบายดาต้าเซ็นเตอร์จะเป็นตลาดเกิดใหม่ที่มาเสริมตลาดเดิม ส่งให้เกิดการขายเป็นบริการโซลูชันแอสอะเซอร์วิสที่มีรูปแบบยืดหยุ่นยิ่งขึ้น

ดังนั้น ระบบสมาร์ทซิตี และดาต้าเซ็นเตอร์ที่ถูกจับเข้าตู้ อาจเป็นตลาดใหม่ที่อนาคตไกลก็ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น