นายทิม ลีฬหะพันธ์ุ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)กล่าวว่า ธนาคารคาดการณ์เศรษฐกิจไทยจะเติบโตในอัตรา 4.5% ในปี 2566 และ 2567 ส่วนในปี 2565 คาดการณ์เติบโตในอัตรา 3.3% โดยประเมินเศรษฐกิจไทยจะค่อยไปฟื้นตัวต่อเนื่องตลอดปีหน้า จากการฟื้นตัวต่อเนื่องในภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยสำคัญและมีสัดส่วนร้อยละ 15 ของจีดีพีประเทศ ประกอบกับคาดว่าจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้งในปี 2566 จะเป็นปัจจัยภายในประเทศที่ประเทศไทยเติบโตเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านและทิศทางเศรษฐกิจโลกในปีหน้า
"ในช่วง 2-3ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยไม่โดดเด่นเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ด้วยปัจจัยที่เฉพาะตัวของไทยใน 2 ประเด็นดังกล่าว จึงมีมุมมองที่เป็นบวกต่อการเติบโตของไทยในปีหน้า โดยยังมองความเสี่ยงการเมืองอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งช่วยส่งเสริมภาพการฟื้นตัวในภาพการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทย รวมถึงการฟื้นตัวน่าจะมีความต่อเนื่องหลังการเลือกตั้งโดยคาดว่าทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่น่าจะชัดเจนขึ้น"
ด้านเศรษฐกิจโลกปีหน้า ธนาคารมองว่าเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะชะลอตัว ไม่ถึงกับถดถอย โดยคาดการณ์จีดีพีเติบโตที่ 2.5% ขณะที่เศรษฐกิจหลักจะเป็นลักษณะการถดถอยแผ่วๆ โดยคาดการณ์จีดีพีสหรัฐฯ ติดลบ 0.2% ยูโรบวก 0.2% และสหราชอาณาจักรติดลบ 0.5% ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เอื้อต่อเศรษฐกิจไทยในปีหน้า
ขณะที่การท่องเที่ยวของไทยส่งสัญญาณบวกของการฟื้นตัวต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่ช่วงไฮซีซัน (ฤดูท่องเที่ยว) ในปี 2566 จะแข็งแกร่งกว่าปี 2565 จึงคาดว่าในปีหน้าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 15-20 ล้านคน และอาจได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากนักท่องเที่ยวจีนหากจีนผ่อนปรนมาตรการควบคุม และยังมีมุมมองบวกต่อดุลบัญชีเดินสะพัดในปีหน้า ถึงแม้ว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ประเทศไทยเคยทำได้ก็ตาม
"เศรษฐกิจจีนมีความสำคัญกับไทยทั้งในด้านการค้า และการท่องเที่ยว เรามองการกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนเป็นหนึ่งในปัจจัยหนุนเศรษฐกิจไทยในปีหน้า ทั้งด้านความต้องการสินค้าต่างๆ และนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น โดยเราคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยในปีหน้าที่ 10 ล้านคน และคาดการณ์จีดีพีจีนปีนี้เติบโตที่ 3% และปีหน้าที่ 5.8% โดยยังต้องติดตามนโยบายการเปิดประเทศของจีนที่ยังไม่แน่นอน"
สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น มองว่าในปีหน้าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 3 ครั้งใน 3 ไตรมาสแรกเข้าสู่ระดับ 2.00%และทรงตัวในไตรมาส 4 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในปีหน้าคาดการณ์ที่ระดับ 2.7% และ 2.8%ในปี 2567 จากปีนี้ที่ 6.6% โดยมองว่ายังมีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อจะปรับเพิ่มขึ้นในบางช่วง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังที่ประเทศจีนซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กลับมาฟื้นตัวหลังผ่อนคลาย-เปิดประเทศมากขึ้น จะทำให้เกิดดีมานด์ขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้เงินเฟ้ออยู่ในรูปแบบตัว W ไม่ใช่ขาลงต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งของไทย
ส่วนค่าเงินบาทน่าจะยังคงอ่อนตัวอยู่ที่ราว 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 อย่างไรก็ตาม เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังตามปัจจัยที่ได้กล่าวข้างต้น เงินบาทน่าจะแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ราว 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี
**เผยฟันด์โฟลว์ยังไหลเข้า**
ด้านนักลงทุนต่างชาติมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นต่อภาพรวมต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2566 โดยจะเห็นได้จากเงินลงทุนต่างชาติ(ฟันด์โฟลว์)ไหลเข้าตลาดทุนในปีนี้สูงเกือบ 2แสนล้านบาท รวมถึงตลาดตราสารหนี้(บอนด์)ที่มีฟันด์โฟลว์ก็มีทิศทางเดียวกัน และเชื่อว่าในปี 66 ฟันด์โฟลว์ยังไหลเข้าต่อเนื่อง ด้วยมุมมองเชิงบวกในตลาดประเทศเกิดใหม่(EM) ตลาดเอเชีย และตลาดไทย ที่กำลังการฟื้นตัวขึ้นขณะที่ตลาดในกลุ่มสหรัฐฯ ยุโรป สหราชอาณาจักรสู่ภาวะถดถอย รวมถึงการกลับมาของท่องเที่ยวไทยและนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ ทำให้นักลงทุนต่างชาติยังเข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง โดยเรื่องการเก็บภาษีขายหุ้นไทยที่จะมีขึ้นในช่วงปี 2566 เชื่อว่ามีน้ำหนักน้อยมากสำฟรับการตัดสินใจของนักลงทุนกลุ่มนี้ และฟันด์โฟลว์ยังไหลเข้าตลาดบอนด์ในช่วงปีหน้าต่อเนื่องเช่นกัน ด้วยอัตราดอกเบี้ยของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ