โดย กมลสิฐ์ ขวัญใจธัญญา
บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)
หลังจากที่ทั่วโลกประสบปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในช่วงสามปีที่ผ่านมา นักลงทุนหลายคนคาดหวังว่าการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบและการปรับให้ COVID-19 เป็นโรคประจำถิ่นในหลายประเทศจะช่วยให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในปี 2022 แต่อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่นักลงทุนต่างคาดหวังไว้นั้นได้ถูกชะลอตัวลงจากปัจจัยกดดันหลายๆปัจจัย เช่น สงครามระหว่างรัสเซีย - ยูเครนที่ยืดเยื้อส่งผลให้ราคาพลังงานและอาหารอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง นอกเหนือจากนั้นหลายๆประเทศทั่วโลกยังต้องเผชิญกับสภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ธนาคารกลางของหลายๆประเทศมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง เพื่อควบคุมสภาวะเงินเฟ้อให้อยู่ภายในกรอบที่ตั้งไว้ โดยธนาคารกลางที่มีการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญคือ ธนาคารกลางของสหรัฐฯ หรือเราเรียกสั้นๆกันว่า Fed นั้นเอง
สำหรับทาง Fed มีการปรับเป้าหมายดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 0.00% - 0.25% ช่วงต้นปี มาอยู่ที่ 3.75% - 4.00% ณ ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2022 โดยการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed นี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งในสหรัฐฯ และต่างประเทศ เนื่องจากธนาคารกลางประเทศอื่นๆต้องมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตาม Fed จะทำให้ประชาชนและบริษัทต้องเผชิญกับภาระดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ประชาชนและบริษัทเริ่มชะลอการใช้จ่ายหรือการลงทุนใหม่ เพื่อรักษาสภาพคล่องของตัวเองเอาไว้ ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed นั้นจะมีการขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงในปีหน้า หากอ้างอิงการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ตาม Bloomberg Consensus ณ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2022 แล้ว อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed จะเพิ่มขึ้นสูงถึง 4.75% - 5.00% ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2023
โดยการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับสูงและยาวนานนั้น คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกและอาจจะทำให้เศรษฐกิจบางประเทศนั้นเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือที่เรียกกันว่า Recession ได้ โดยทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF (International Monetary Fund) คาดว่าอย่างน้อย 1/3 ของเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2023 และทาง Bloomberg Consensus คาดการณ์ไว้ว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตเพียง +2.1% YoY ในปี 2023 ซึ่งชะลอตัวจากการการเติบโตที่ +2.9% ในปี 2022 สำหรับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจนี้จะเห็นได้ชัดในประเทศที่พัฒนาแล้ว ยกตัวอย่าง เช่น ในสหรัฐฯ ปี 2023 ทาง Bloomberg Consensus คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะโตเพียง +0.4% YoY ซึ่งลดลงกว่าปี 2022 ที่คาดไว้ที่ +1.8% YoY และมองความเป็นไปได้ในการเข้าสู่ภาวะถดถอยภายใน 12 เดือน (Probability of Recession) ที่ 62.5% นอกเหนือจากสหรัฐฯแล้ว กลุ่มประเทศที่คาดว่าจะเผชิญกับการชะลอตัวเศรษฐกิจสูง คือ กลุ่มประเทศในยุโรป (Eurozone) โดยทาง Bloomberg Consensus คาดว่าในปี 2023 เศรษฐกิจของฝั่งยุโรปจะหดตัว -0.1% YoY หลังจากที่พอขยายตัวได้ในปี 2022 ที่ +3.1% YoY สำหรับ Probability of Recession ภายใน 12 เดือนของฝั่ง Eurozone นั้นมีสูงถึง 80.0% ในปี 2023
การชะลอตัวของเศรษฐกิจในทวีปอเมริกาและยุโรปในปี 2023 ได้สร้างความกังวลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในทวีปเอเชียด้วย เนื่องจากทวีปเอเชียมีการพึ่งพิงกับตลาดส่งออกในสัดส่วนที่สูง โดยทาง IMF คาดว่าจะมีเพียงสองประเทศในเอเชียเท่านั้น ที่ยังสามารถขยายตัวทางเศรษฐกิจได้เพิ่มมากขึ้น คือ ประเทศจีน (+4.4 YoY ในปี 2023 สูงกว่าปี 2022 ที่ +3.2%) และประเทศไทย (+3.7% YoY ในปี 2023 สูงกว่าปี 2022 ที่ +2.8%)
สำหรับเศรษฐกิจประเทศไทยที่ยังสามารถขยายตัวได้ในปี 2023 นั้น คาดว่าจะได้รับแรงสนับสนุนจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ หลังจากเริ่มมีการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2022 ที่ผ่านมา ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ไว้ว่ายอดนักท่องเที่ยวสะสมทั้งปีจะมีสูงถึง 18 ล้านคน ในปี 2023 (+80%YoY เมื่อเทียบกับคาดการณ์ 10 ล้านคนในปี 2022) และสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศประมาณ 9.7 แสนล้านบาท โดยเรามองว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวอาจมีการปรับเพิ่มขึ้น หากทางจีนมีการเปิดประเทศเต็มรูปแบบเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติหลักของประเทศไทย ช่วงก่อนสถานการณ์ COVID-19 โดยในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวจากจีนมากถึง 11 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1/4 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด และสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศไทยได้มากกว่า 5.43 แสนล้านบาท
การที่เศรษฐกิจของไทยยังสามารถขยายตัวได้ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สามารถเป็นปัจจัยบวกสำหรับตลาดหุ้นไทย เพราะหุ้นในบาง Sector อาจเป็นหลุมหลบภัยสำหรับนักลงทุนได้ เนื่องจากแนวโน้มรายได้และกำไรของหุ้นนั้นยังสามารถขยายได้ต่อเนื่องท่ามกลางแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลก โดยเรามองว่าการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเป็นประโยชน์ต่อหุ้นที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวและการบริการ เช่น หุ้นในกลุ่ม Commerce, Tourism, Transportation, Food & Beverage ซึ่งจะช่วยชดเชยรายได้ที่ลดลงของหุ้นที่มีรายได้จากการส่งออก เนื่องจากสภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกได้ นอกเหนือจากนั้นคาดว่าตลาดหุ้นไทยยังมีปัจจัยสนับสนุนอื่นๆที่สามารถทำให้ดัชนีปรับตัวสูงขึ้นได้ เช่น การใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงเลือกตั้ง รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ การขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปของธนาคารแห่งประเทศไทย และการขยายตัวของภาคบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การลงทุนปัจจุบันยังมีความไม่แน่นอนสูง จากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น การออกกฎเกณฑ์ใหม่จากภาครัฐ ความไม่แน่นอนระหว่างรัสเซีย - ยูเครน และการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลาง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สามารถส่งผลต่อรายได้และกำไรของบริษัทในตลาดหุ้นอย่างมีนัยสำคัญได้ นักลงทุนควรติดตามข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน