xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยบาทเปิดตลาดที่ 36.29 จับตารายงานผลการประชุมเฟด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (23 พ.ย.) ที่ระดับ 36.07 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 36.13 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.95-36.20 บาท/ดอลลาร์ บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) อีกครั้ง หลังถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดสาย “Hawkish” ไม่ได้ส่งสัญญาณสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด (แต่ยังคงสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ)

กอปรกับผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตารายงานผลการประชุมเฟดล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) ส่งผลให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลดลงสู่ระดับ 3.76% หนุนให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนกลับเข้ามาซื้อหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ที่ปรับตัวลงแรงในช่วงก่อนหน้า เช่น Nvidia +4.7% Apple +1.5% ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq และดัชนี S&P500 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +1.36% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากการรีบาวนด์ขึ้นของราคาหุ้นกลุ่มพลังงาน (Exxon Mobil +2.9% และ Chevron +2.6%) ตามการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ WTI และ Brent หลังซาอุฯ ออกมายืนยันว่ายังไม่ได้หารือกับบรรดาสมาชิกกลุ่ม OPEC+ ในประเด็นการเพิ่มกำลังการผลิตตามที่มีข่าวออกไปก่อนหน้า

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่าแม้ว่า เงินบาทจะแข็งค่าสวนทางกับแนวโน้มที่เราคาดการณ์ไว้ (คาดว่ามาจากแรงขายของผู้เล่นในตลาด เช่น ผู้ส่งออกในจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าใกล้ระดับ 36.30 บาทต่อดอลลาร์) และบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดอาจช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อได้บ้าง แต่เราคงมุมมองเดิมว่าควรระมัดระวังแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทที่เริ่มเพิ่มมากขึ้น โดยเราเห็นแรงขายทำกำไรสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้น (นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นไทยเริ่มมีสัญญาณอ่อนแรงลง) นอกจากนี้ ควรจับตารายงานดัชนี PMIs ภาคการผลิตและภาคการบริการของสหรัฐฯ เพราะหากออกมาดีกว่าคาดไปมากอาจทำให้ตลาดมองว่า ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ไม่ได้ชะลอตัวลงหนัก อาจจะหนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย หรือ “Good news could be Bad news for the market” (อนึ่ง หากออกมาแย่ไปมากอาจทำให้ตลาดกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งจะช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้)

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดควรระมัดระวังรายงานการประชุมเฟดล่าสุด ซึ่งอาจส่งผลให้ตลาดผันผวนได้ในช่วงระหว่างที่รับรู้และตีความรายงานการประชุมดังกล่าว โดยประเด็นสำคัญที่ตลาดจะให้ความสนใจ คือ จุดสูงสุดของดอกเบี้ยเฟดจะอยู่ที่เท่าใด หลังประเด็นอัตราการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเริ่มชัดเจนมากขึ้นว่า เฟดอาจชะลออัตราการเร่งขึ้นดอกเบี้ยลงเหลือ +0.50%

ทั้งนี้ เราประเมินว่าโซนแนวต้านของเงินบาทยังอยู่ในช่วง 36.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าบรรดาผู้ส่งออกต่างรอจังหวะทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าว ในขณะที่โซนแนวรับจะอยู่ในช่วง 35.90 บาทต่อดอลลาร์ โดยเราคาดว่าผู้นำเข้าอาจทยอยเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือนตามภาระที่ต้องจ่าย

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรปพลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.73% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นแรงของบรรดาหุ้นกลุ่มพลังงานเช่นเดียวกันกับในฝั่งสหรัฐฯ (Equinor +4.5% Total Energies +4.4%) นอกจากนี้ การส่งสัญญาณต่อแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายที่ไม่ชัดเจนของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ช่วยหนุนให้หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ของยุโรปยังสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ เช่น ASML +1.2%

ในฝั่งตลาดค่าเงิน ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ ได้กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ส่งผลให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลง -0.2% สู่ระดับ 107.2 จุด อย่างไรก็ดี แม้ว่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ทว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานการประชุมของเฟดล่าสุด ทำให้เงินดอลลาร์มีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways และผันผวนมากขึ้นในช่วงตลาดรับรู้รายงานการประชุมเฟดดังกล่าวได้ อนึ่ง การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวลงของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยพยุงให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ไม่ได้ปรับตัวลดลงไปมากจากแรงขายทำกำไรในช่วงตลาดเปิดรับความเสี่ยง ทำให้ราคาทองคำย่อตัวลงเล็กน้อยใกล้โซนแนวรับแถว 1,750 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (S&P Global Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนพฤศจิกายน โดยตลาดคาดว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการอาจปรับตัวลดลงสู่ระดับ 49.9 จุด และ 47.7 จุด (ดัชนี น้อยกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะหดตัว) สะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตและภาคการบริการที่ยังคงซบเซาต่อเนื่อง จากผลกระทบของการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และภาวะเงินเฟ้อ/ค่าครองชีพสูง รวมถึงภาพการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่รายงานการประชุมเฟดล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) ในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสฯ โดยผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานการประชุมเฟดอย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด โดยเฉพาะระดับดอกเบี้ยสูงสุดของเฟด หรือ Terminal Rate หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างออกมาสนับสนุนอัตราการขึ้นดอกเบี้ยที่อาจชะลอลงจากช่วงก่อนหน้า (จาก +0.75% เหลือ +0.50%)

ในฝั่งยุโรป ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปผ่านรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการในเดือนพฤศจิกายน โดยตลาดมองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปอาจยังคงซบเซาต่อเนื่อง ท่ามกลางแรงกดดันจากทั้งปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพสูง รวมถึงต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และความไม่แน่นอนของสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยภาพดังกล่าวจะสะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการของยูโรโซนที่จะปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 46 จุด และ 48.1 จุด ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับฝั่งอังกฤษ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการอาจปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 45.7 จุด และ 48 จุด ตามลำดับเช่นกัน

ส่วนในฝั่งไทย ตลาดคาดว่าการค้าระหว่างประเทศของไทยอาจได้รับผลกระทบจากภาพเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง โดยยอดการส่งออก (Exports) อาจโตเพียง 5.5%y/y ส่วนยอดการนำเข้า (Imports) ยังโตกว่า +10%y/y ทำให้ดุลการค้า (Trade Balance) ในเดือนตุลาคมอาจกลับมาขาดดุลถึง -1.4 พันล้านดอลลาร์
กำลังโหลดความคิดเห็น