xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยบาทเปิดตลาดที่ 35.75 ผันผวนในฝั่งอ่อนค่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ระดับ 35.45-36.10 บาท/ดอลลาร์ จากระดับเปิดเช้านี้ที่ระดับ 35.75 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 35.73 บาทต่อดอลลาร์ และคาดกรอบเงินบาทวันนี้จะอยู่ที่ระดับ 35.65-35.85 บาท/ดอลลาร์ สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เล่นในตลาดเริ่มระมัดระวังตัวมากขึ้น หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างส่งสัญญาณสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่าควรจับตารายงานการประชุมล่าสุดของเฟด รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟด ส่วนในฝั่งไทย รายงาน GDP ไตรมาส 3 อาจเป็นที่สนใจของผู้เล่นในตลาดการเงิน

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวนฝั่งอ่อนค่ามากขึ้น หากตลาดกลับมากังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอีกครั้ง นอกจากนี้ ควรจับตาแนวโน้มราคาทองคำ (ราคาทองคำย่อตัวลงแรง อาจส่งผลให้มีโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งเป็นแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาท) รวมถึงควรติดตามฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่อาจเห็นการขายทำกำไรสินทรัพย์ไทยมากขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ภาพเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง (หาก GDP ไตรมาส 3 ดีกว่าคาด) และแรงขายเงินดอลลาร์ของบรรดาผู้ส่งออกใกล้โซนแนวต้านแถว 36.00 บาทต่อดอลลาร์ อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่าควรระมัดระวังความกังวลเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องที่อาจหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ ซึ่งต้องรอติดตามรายงานการประชุมเฟด และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ทั้งนี้ การแข็งค่าของเงินดอลลาร์อาจมีไม่มากนัก หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยุโรปออกมาดีกว่าคาดและหนุนให้เงินยูโร (EUR) แข็งค่าขึ้นได้

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ - ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (S&P Global Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนพฤศจิกายน โดยตลาดคาดว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการอาจปรับตัวลดลงสู่ระดับ 49.9 จุด และ 47.7 จุด (ดัชนี น้อยกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะหดตัว) สะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตและภาคการบริการที่ยังคงซบเซาต่อเนื่องจากผลกระทบของการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และภาวะเงินเฟ้อ/ค่าครองชีพสูง รวมถึงภาพการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานการประชุมเฟดล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด (ส่วนใหญ่เป็น FOMC Voting Members) ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด หลังจากที่เจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ส่งสัญญาณพร้อมสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด (ตลาดจะใช้ประเมินระดับดอกเบี้ยสูงสุดของเฟด หรือ Terminal Rate) โดยมีอัตราการขึ้นดอกเบี้ยที่อาจชะลอลงจากช่วงก่อนหน้า

▪ ฝั่งยุโรป - ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปผ่านรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการในเดือนพฤศจิกายน โดยตลาดมองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปอาจยังคงซบเซาต่อเนื่อง ท่ามกลางแรงกดดันจากทั้งปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพสูง รวมถึงต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และความไม่แน่นอนของสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยภาพดังกล่าวจะสะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการของยูโรโซนที่จะปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 46 จุด และ 48.1 จุด ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับฝั่งอังกฤษ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการอาจปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 45.7 จุด และ 48 จุด ตามลำดับเช่นกัน ทั้งนี้ บรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่าวิกฤตพลังงานที่ไม่ได้น่ากังวลมากนักจะช่วยหนุนให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (Ifo Business Climate) เดือนพฤศจิกายน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 85 จุด นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ล่าสุด เพื่อประเมินแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตของ ECB ว่าจะเร่งขึ้น +75bps ต่อเนื่องได้หรือไม่ และ ECB จะขึ้นดอกเบี้ยไปถึงระดับใดในปีหน้า

▪ ฝั่งเอเชีย - ตลาดมองว่าธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย +0.25% สู่ระดับ 3.25% เพื่อคุมสถานการณ์เงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงเกือบ 6% และช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินวอน (KRW)

▪ ฝั่งไทย - ตลาดคาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องหลังการเปิดประเทศอย่างเต็มที่ในช่วงไตรมาสที่ 3 ซึ่งจะหนุนให้ เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวถึง +4.5%y/y เร่งขึ้นจากที่โต +2.5% ในไตรมาสที่ 2 ทำให้เศรษฐกิจไทยจะกลับไปสู่ระดับก่อนวิกฤต COVID-19 ได้ภายในปีนี้ และหนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องของธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ การค้าระหว่างประเทศของไทยอาจได้รับผลกระทบจากภาพเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง โดยยอดการส่งออก (Exports) อาจโตเพียง 5.5%y/y ส่วนยอดการนำเข้า (Imports) ยังโตกว่า +10%y/y ทำให้ดุลการค้า (Trade Balance) ในเดือนตุลาคมอาจกลับมาขาดดุลถึง -1.4 พันล้านดอลลาร์
กำลังโหลดความคิดเห็น