xs
xsm
sm
md
lg

ซิตี้แบงก์มองแนวโน้มจีดีพีปีหน้าเป็นบวก ท่องเที่ยว-จ้างงานหนุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ซิตี้แบงก์มองแนวโน้มเชิงบวกเศรษฐกิจไทยจากปัจจัยสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว-จ้างงาน ขณะที่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกยังเป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก ขณะที่เงินเฟ้อเลยจุดพีก ธปท.ยังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป

น.ส.นลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย
กล่าวว่า ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ธนาคารซิตี้แบงก์ได้นำนักลงทุนเข้าร่วมประชุมออนไลน์กับ ธปท. สศค. และ สบน. เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับมุมมองต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย พบว่า ภาพรวมทุกฝ่ายมีความเห็นสอดคล้องไปทิศทางเดียวกันของเศรษฐกิจไทยในระยะกลาง โดยคาดการณ์ว่าในปี 2566 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อย ซึ่งซิตี้มองว่าจีดีพีของไทยจะอยู่ที่ราว 4.3% เทียบกับการคาดการณ์ของ ธปท. และ สศค. ที่คาดว่าจะอยู่ 3.8% เป็นไปตามการเติบโตของจีดีพีในปี 2565 ที่อยู่ราว 3.2% โดยที่ ธปท. ยังคงมองว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามธนาคารกลางสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ซิตี้ยังคงคาดการณ์ว่าจะมีการปรับดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ในการประชุม กนง. ครั้งถัดๆ ไป และมองว่าวัฏจักรนี้จะกินระยะเวลาพอสมควรจนกว่าดอกเบี้ยนโยบายจะไปแตะที่ 2.25% ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2566 สืบเนื่องมาจากการที่ ธปท.มีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถทยอยปรับนโยบายการเงินให้กลับสู่ภาวะปกติต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการคาดการณ์เงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในเกณฑ์

ทั้งนี้ ตัวเลขคาดการณ์จีดีพีที่ต่างกันนั้นมาจากประมาณการตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ต่างกัน โดย ธปท. คาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2565 น่าจะอยู่ราว 21 ล้านคน แต่ซิตี้คาดการณ์ไว้ที่ 23 ล้านคน พร้อมกันนี้ ธปท. ยังคงมองว่าเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงยังไม่ได้หยั่งรากฝังลึกในระบบเศรษฐกิจไทย โดยย้ำว่าสภาวะของเงินเฟ้อในประเทศไทยนั้นแตกต่างไปจากเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว โดยยังคงมาจากการปรับขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์เป็นหลัก อัตราเงินเฟ้อทั่วไปน่าจะผ่านระดับสูงสุดไปแล้วในไตรมาสที่ 3 และคาดว่าจะกลับสู่เป้าหมายในช่วงกลางปี 2566 อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจจะยังทรงตัวอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวในปี 2565 และ 2566 จากการทยอยส่งผ่านต้นทุนของผู้ผลิต ทั้งนี้ หากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกปรับลงมากกว่าที่คาดอาจมีความเสี่ยงขาลงในการคาดการณ์เงินเฟ้อครั้งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น