xs
xsm
sm
md
lg

ธนาคารกลางมะกันขึ้นดอกเบี้ยแรง 0.75% รอบที่ 4 ขณะประธานพาวเวลยอมรับยังไร้แววชนะเงินเฟ้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พวกเทรดเดอร์ปฏิบัติงานที่ห้องค้าของตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก พร้อมกับดูข่าวประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ เจอโรม พาวเวล ออกมาแถลงภายหลังเฟดประกาศขึ้นดอกเบี้ยไปอีก 0.75% เมื่อวันพุธ (2 พ.ย.)
ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ในวันพุธ (2 พ.ย.) นับเป็นรอบที่ 4 ต่อเนื่องกันแล้ว พร้อมกับส่งสัญญาณอาจชะลอการขึ้นดอกเบี้ยแรงในเร็วๆ นี้ แต่ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า ยังห่างไกลจากชัยชนะในการกำราบอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งทำสถิติสูงสุดในรอบเกือบ 4 ทศวรรษ

หลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายทางการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) เมื่อวันพุธ เฟดออกคำแถลงขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย “เฟด ฟันด์ส เรต” อีก 0.75% ซึ่งเป็นการขึ้นมากขนาดนี้ต่อเนื่องกันเป็นครั้งที่ 4 ส่งผลให้เวลานี้อัตราดอกเบี้ยตัวนี้ขยับไปอยู่ในช่วงระหว่าง 3.75-4% สูงสุดในรอบ 15 ปี

เท่ากับว่า ตลอดปีนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยแล้วรวม 6 ครั้ง ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยต่างๆ ที่อิงกับดอกเบี้ยนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อด้านอสังหาริมทรัพย์ สินเชื่อเพื่อผู้บริโภค และสินเชื่อภาคธุรกิจต่างพุ่งขึ้น อันเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่เศรษฐกิจอเมริกาจะเข้าสู่ภาวะถดถอย

ในคำแถลงอธิบายการขึ้นดอกเบี้ยคราวนี้ บ่งชี้ให้เห็นว่า เฟดอาจพิจารณาด้วยความระมัดระวังมากขึ้นสำหรับการขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อๆ ไป โดยคำนึงถึงว่าการขึ้นดอกเบี้ยเป็นเรื่องซึ่งต้องใช้เวลากว่าที่เศรษฐกิจจะซึมซับ และสามารถบรรลุเป้าหมายในการลดอัตราเงินเฟ้อลงมา

สำหรับปฏิกิริยาของตลาดการเงินนั้น ช่วงแรกๆ ราคาหุ้นและพันธบัตรต่างขยับขึ้น เพราะยินดีที่เฟดส่งสัญญาณว่าอาจจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยกันแล้ว แต่ต่อมาเมื่อ เจอโรม พาวเวล ประธานเฟดออกมาแถลงข่าว โดยย้ำว่า พวกผู้วางนโยบายของเฟดพบว่า ความพยายามควบคุมเงินเฟ้อมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อย และอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่าที่เคยคาดไว้ที่ 4.6% ในช่วงการประชุมเอฟโอเอ็มซีเมื่อเดือนกันยายน อีกทั้งยังเร็วเกินไปมากที่จะคิดเรื่องการชะลอการขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงมาก คำพูดเช่นนี้ฉุดให้ตลาดหุ้นทรุดทันที โดยดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดการซื้อขายวันพุธลดลงกว่า 500 จุด หรือราว 1.5%

การประชุมเอฟโอเอ็มซีคราวนี้ เกิดขึ้นขณะที่ตลาดการเงินและนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากกังวลเพิ่มขึ้นว่า เพื่อกำราบเงินเฟ้อ เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยจนสูงเกินความจำเป็น และทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย

ระหว่างแถลงข่าว พาวเวลกล่าวถึงความกังวลเหล่านั้นแบบอ้อมๆ ว่า ยังมีโอกาสอยู่เหมือนกันที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.5% ในการประชุมเดือนหน้า หรือขึ้นเพียง 0.25% ในปีหน้า

ประธานเฟดยังตั้งข้อสังเกตว่า ตลาดการจ้างงานของสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง ซึ่งหมายความว่า ธุรกิจมากมายต้องขึ้นเงินเดือนเพื่อดึงพนักงานไว้ โดยบ่อยครั้งต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้มักถูกผลักให้กลายเป็นภาระของผู้บริโภคด้วยการขึ้นราคาสินค้าและบริการ และนั่นก็คือภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้น

เวลานี้ราคาสินค้าและอัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมที่แพงขึ้นกำลังกดดันครัวเรือนอเมริกัน และบ่อนทำลายความสามารถของพรรคเดโมแครตในการหาเสียงโดยชูประเด็นตลาดแรงงานที่เข้มแข็ง ขณะที่การเลือกตั้งกลางเทอมจะเกิดขึ้นในวันอังคารหน้า (8)

ทั้งนี้ ปกติแล้วเฟดมักขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% แต่หลังจากคำนวณผิดพลาดด้วยการประเมินภาวะเงินเฟ้อต่ำเกินไปเมื่อปีที่แล้ว เฟดจึงกำลังขึ้นดอกเบี้ยอย่างแรงๆ เพื่อพยายามชะลอการกู้ยืมและการใช้จ่าย ผ่อนคลายความกดดันด้านเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ดี บรรดาผู้วางนโยบายของเฟดอาจรู้สึกว่า สามารถลดระดับการขึ้นดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้เนื่องจากมีสัญญาณเบื้องต้นบางอย่างบ่งชี้ว่า เงินเฟ้อจะเริ่มลดลงในปี 2023 กล่าวคือการใช้จ่ายของผู้บริโภคแทบไม่เพิ่มขึ้นเลย ปัญหาห่วงโซ่อุปทานผ่อนคลายลงและช่วยลดการขาดแคลนสินค้าและชิ้นส่วน นอกจากนั้น การเติบโตของการจ้างงานยังหยุดยั้งลงซึ่งจะลดความกดดันด้านเงินเฟ้อ

ขณะเดียวกัน หลายๆ ประเทศทั่วโลกกำลังขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว เพื่อลดอัตราเงินเฟ้อที่สูงยิ่งกว่าในสหรัฐฯ เสียอีก หรือไม่ก็เพื่อชะลอเงินทุนที่ไหลออกไปสู่แหล่งซึ่งให้ดอกเบี้ยแพงกว่า

สัปดาห์ที่แล้ว ธนาคารกลางยุโรปประกาศขึ้นดอกเบี้ย ถือเป็นรอบ 2 ติดกัน เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่สูงถึง 10.7% ในเดือนที่ผ่านมา ส่วนธนาคารกลางอังกฤษถูกคาดหมายว่าจะขึ้นดอกเบี้ยในวันพฤหัสฯ (3) เพื่อลดอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ที่ 10.1% ในเดือนกันยายนซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 40 ปี โดยที่ทั้งสหภาพยุโรปและอังกฤษมีแนวโน้มว่ากำลังจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย

(ที่มา : เอพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น