ราคาน้ำมันขยับขึ้นต่อเนื่องอีกมากกว่า 1 ดอลลาร์ในวันพฤหัสบดี (27 ต.ค.) จากแนวโน้มการส่งออกน้ำมันดิบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของสหรัฐฯ และความกังวลที่ลดน้อยถอยลงเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ส่วนวอลล์สตรีทปิดผสมผสาน ตามรายงานผลประกอบการบริษัท ขณะที่ทองคำปรับลดเล็กน้อย
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้น 1.17 ดอลลาร์ ปิดที่ 89.08 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้น 1.27 ดอลลาร์ ปิดที่ 96.96 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ข้อมูลพบว่าตัวเลขส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เป็นสัญญาณแห่งความหวังอุปสงค์แข็งแกร่ง ขณะเดียวกัน มีการคาดเดาว่าธนาคารกลางประเทศต่างๆ ใกล้ยุติวงจรการปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว หลังธนาคารกลางยุโรปปรับขึ้นดอกเบี้ยล่าสุดอีก 0.75%
ปัจจัยข้างต้นช่วยพยุงตลาดน้ำมันให้อยู่ในแดนบวก แม้อีกด้านหนึ่งยังมีความกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์ในจีน นักลงทุนทั่วโลกเทขายสินทรัพย์จีนเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ ในขณะที่เศรษฐกิจชาติผู้บริโภคพลังงานรายใหญ่ของโลกได้รับผลกระทบจากนโยบายโควิด-19 เป็นศูนย์ วิกฤตอสังหาริมทรัพย์และความเชื่อมั่นถดถอย
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดี (27 ต.ค.) ปิดผสมผสาน จากรายงานผลประกอบการไตรมาส 3 ของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยที่แนสแดคขยับลง ตามแรงฉุดผลประกอบการเมตา บริษัทแม่ของเฟซบุ๊ก
ดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 194.17 จุด (0.61 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 32,033.28 จุด เอสแอนด์พี ลดลง 23.30 จุด (0.61 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 3,807.30 จุด แนสแดค ลดลง 178.32 จุด (1.63 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 10,792.67 จุด
เมตา บริษัทแม่ของเฟซบุ๊ก รายงานผลกำไรรายไตรมาสดิ่งลง ฉุดให้หุ้นของทางบริษัทปิดลบ 24.6% ส่วนอัลฟาเบ็ท บริษัทแม่ของกูเกิล และไมโครซอฟท์ก็รายงานผลประกอบการอ่อนแอเช่นกัน ฉุดแนสแดคซึ่งเต็มไปด้วยบรรดาเหล่าบริษัทเทคโนโลยีปิดในแดนลบ
อย่างไรก็ตาม ตลาดได้แรงหนุนจากข้อมูลที่เผยให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัว 2.6% ในไตรมาส 3 คลายกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย แม้นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนเตือนว่าแนวโน้มที่ไม่สดใสยังรออยู่เบื้องหน้า ท่ามกลางการใช้จ่ายผู้บริโภคซบเซาและการลงทุนภาคธุรกิจที่อ่อนแอ
ส่วนราคาทองคำในวันพฤหัสบดี (27 ต.ค.) ปิดลบ หนึ่งวันหลังจากขยับขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 2 สัปดาห์ โดยราคาทองคำโคเม็กซ์งวดส่งมอบเดือนธันวาคม ลดลง 3.60 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,665.60 ดอลลาร์ต่อออนซ์
(ที่มา : รอยเตอร์)