ราคาน้ำมันขยับลงในวันจันทร์ (24 ต.ค.) จากข้อมูลที่เผยให้เห็นว่าอุปสงค์ในจีนยังคงซบเซาในเดือนกันยายน และดอลลาร์แข็งค่า ปัจจัยหลังนี้ฉุดทองคำปรับลด ในขณะที่หุ้นสหรัฐฯ พุ่งแรง จากสัญญาณบ่งชี้ว่านโยบายชะลอเศรษฐกิจเพื่อควบคุมเงินเฟ้อของเฟดกำลังเริ่มได้ผล
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนธันวาคม ลดลง 47 เซนต์ ปิดที่ 84.58 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนธันวาคม ลดลง 24 เซนต์ ปิดที่ 93.26 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
แม้เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม แต่ตัวเลขนำเข้าน้ำมันดิบของจีนประจำเดือนกันยายน อยู่ที่ 9.79 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 2% ข้อมูลศุลกากรระบุในวันจันทร์ (24 ต.ค.) ในขณะที่โรงกลั่นเอกชนชะลอการกลั่นท่ามกลางอุปสงค์ที่อ่อนแอลง
ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายโควิด-19 เป็นศูนย์และวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ของจีน กำลังบ่อนทำลายประสิทธิภาพของมาตรการกระตุ้นการเติบโต จากความเห็นของนักวิเคราะห์ แม้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 3 ของจีนจะขยายตัวมากกว่าคาดหมายไว้ก็ตาม
ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำหรับราคาน้ำมันเช่นกัน เพราะมันทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้นสำหรับผู้ซื้อที่ถือสกุลเงินอื่นๆ
การแข็งค่าของดอลลาร์ ฉุดให้ทองคำปิดลบในวันจันทร์ (24 ต.ค.) หลังจากพุ่งแรงเมื่อวันศุกร์ (21 ต.ค.) ที่ผ่านมา โดยราคาทองคำโคเม็กซ์งวดส่งมอบเดือนธันวาคม ลดลง 2.20 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,654.10 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในวันจันทร์ (24 ต.ค.) ปรับขึ้นต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว สัญญาณการอ่อนตัวของเศรษฐกิจ บ่งชี้ว่านโยบายเชิงรุกของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่มีเป้าหมายชะลอเศรษฐกิจ เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่พุ่งสูงหลายทศวรรษกำลังเริ่มได้ผล
ดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 417.06 จุด (1.34 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 31,499.62 จุด เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 44.59 จุด (1.19 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 3,797.34 จุด แนสแดค เพิ่มขึ้น 92.90 จุด (0.86 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 10,952.61 จุด
ดัชนีหลักทั้ง 3 ค่อยๆ ปรับขึ้นตลอดทั้งวัน ในวันแรกของสัปดาห์ที่จะเต็มไปด้วยรายงานผลประกอบการของบริษัทยักษ์ใหญ่และข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญๆ
รายงานของเอสแอนด์พี โกลบอล พบว่ากิจกรรมทางธุรกิจหดตัวในเดือนนี้ บ่งชี้ว่าความเคลื่อนไหวปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเริ่มได้ผลตามที่ต้องการ เพิ่มความหวังว่าธนาคารกลางแห่งนี้อาจสามารถเริ่มชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตอันใกล้
(ที่มา : รอยเตอร์)