ทวิตเตอร์ประกาศเลย์ออฟพนักงานกว่า "ครึ่งหนึ่ง" ของบริษัทเมื่อวานนี้ (4 พ.ย.) โดยเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการปรับลดรายจ่าย หลังจากที่มหาเศรษฐี “อีลอน มัสก์” เข้ามาเป็นเจ้าของและผู้บริหารคนใหม่ได้เพียง 1 สัปดาห์
สำนักข่าว CNN รายงานว่าพนักงานทวิตเตอร์จำนวนมากทวีตข้อความในช่วงคืนวันพฤหัสบดี (3 พ.ย.) จนถึงเช้าวันศุกร์ (4 พ.ย.) ว่า พวกเขาถูก “ล็อกเอาต์” ออกจากบัญชีผู้ใช้อีเมลของบริษัทก่อนจะมีประกาศเลิกจ้างออกมาด้วยซ้ำ ขณะที่บางคนโพสต์อีโมจิรูปหัวใจสีฟ้าและสัญลักษณ์ทำความเคารพและแสดงความไว้อาลัยเป็นครั้งสุดท้ายจากการตัดสินใจเลิกจ้างของ “อีลอน มัสก์” เพื่อบ่งบอกว่าพวกเขาโดน “ไล่ออก” เรียบร้อย
ต่อมากระทั่งจนถึงเช้าวันศุกร์ (4 พ.ย.) มีพนักงานทวิตเตอร์จากหลายแผนก เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (Ai) ฝ่ายการตลาดและการสื่อสาร การค้นหา นโยบายสาธารณะ และอื่นๆ ทวีตยืนยันว่าพวกเขากลายเป็นคนตกงาน ขณะที่ทีมตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลบนแพลตฟอร์ม ซึ่งรวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งก็ถูกเลย์ออฟบางส่วนเช่นกัน
ทางด้านของ อีลอน มัสก์ ได้ให้สัมภาษณ์ในงานเสวนาด้านการลงทุนเมื่อวันศุกร์ (4 พ.ย.) เกี่ยวกับแผนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ราคาถูกลง และเป้าหมายในการไปเยือนดาวอังคาร แต่เมื่อถูกถามเรื่องการปลดพนักงานทวิตเตอร์ถึง “ครึ่งบริษัท” เขาก็เพียงแต่พยักหน้า และปฏิเสธที่จะลงรายละเอียด
อย่างไรก็ดี ระหว่างสัมภาษณ์ดูเหมือนว่า มัสก์ จะพยายามชี้ว่า การปลดพนักงาน 50% คือสิ่งจำเป็นสำหรับทวิตเตอร์ ซึ่ง “เผชิญความท้าทายเรื่องรายได้” มาตั้งแต่ก่อนที่ตนจะเข้ามาเป็นผู้บริหาร เนื่องจากความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอยทำให้ยอดซื้อโฆษณาลดลง
มัสก์ ระบุด้วยว่า “ผู้ซื้อโฆษณารายใหญ่ๆ หลายเจ้าหยุดซื้อโฆษณาทางทวิตเตอร์” หลังจากที่ตนเข้าซื้อกิจการสำเร็จ
ขณะที่ภาพรวมของ "ทวิตเตอร์" โซเชียลมีเดียอันดับที่ 2 ของโลกซึ่งมีพนักงานทั่วโลกประมาณราว 7,500 คน โดยก่อนที่ มัสก์ จะมาเทกโอเวอร์ ซึ่งเท่ากับว่าจะมีพนักงานที่ถูกเลย์ออฟพร้อมกันในครั้งนี้ประมาณ 3,700 คน
มัสก์ ตั้งเป้าที่จะปรับโครงสร้างธุรกิจของทวิตเตอร์หลังจากที่ทุ่มเงินซื้อกิจการไปด้วยวงเงินถึง 44,000 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ทวิตเตอร์ได้ส่งอีเมลภายในถึงพนักงานเมื่อเย็นวันพฤหัสบดี (3 พ.ย.) ว่า พวกเขาจะได้รับแจ้งภายในเที่ยงวันศุกร์ (4 พ.ย.) เกี่ยวกับการยุติสถานะการจ้างงาน โดยกลุ่มที่ไม่ได้ผลกระทบจะได้รับแจ้งผ่านทางบัญชีอีเมลทวิตเตอร์ ส่วนกลุ่มที่โดนเลย์ออฟจะได้รับแจ้งผ่านทางอีเมลส่วนตัวเพื่อระบุว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป
ขณะที่พนักงานทวิตเตอร์หลายคนได้รวมตัวกันยื่นฟ้องบริษัทฐานละเมิดกฎหมายว่าด้วยการฝึกอบรมและปรับเปลี่ยนแรงงาน (Worker Adjustment and Retraining Notification Act) ซึ่งกำหนดให้นายจ้างที่ว่าจ้างพนักงานเกิน 100 คนขึ้นไป ต้องออกหนังสือแจ้งอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน ในกรณีที่จะมีการเลิกจ้างพนักงานเกินกว่า 50 คนขึ้นไป พร้อมทั้งระบุถึงการจ่ายชดเชยและสวัสดิการหลังเลิกจ้าง ตามที่กฏหมายด้านแรงงานกำหนด
นอกจากนี้ แชนนอน ลิสส์-ริออร์แดน (Shannon Liss-Riordan) อัยการเขตซึ่งเป็นผู้สั่งฟ้อง ระบุในถ้อยแถลงถึง CNN ว่า “อีลอน มัสก์ ซึ่งเป็นบุคคลร่ำรวยที่สุดในโลก ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า เขาถือว่ากฎหมายแรงงานเป็นเรื่องเล็กน้อย เลือกปฏิบัติ และไม่ได้เห็นคุณค่าของพนักงานในองค์กร ผู้ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินที่ทรงคุณค่าของบริษัท”
“เรายื่นคำร้องต่อศาลส่วนกลางเพื่อให้มั่นใจว่า ทวิตเตอร์จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และเพื่อปกป้องพนักงานทวิตเตอร์ไม่ให้เสียสิทธิที่พวกเขาพึงมี และเพื่อตอกย้ำการบังคับกฏหมายแรงงานอย่างเสมอภาค โดยไม่มีการยกเว้นว่าเจ้าของกิจการนั้นจะเป็นใครก็ตาม” แชนนอน กล่าว
นอกจากถูกฟ้องฐานปลดพนักงานโดยไม่แจ้งล่วงหน้าแล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเตือนว่า มัสก์ อาจต้องเผชิญปัญหาอื่นๆ ตามมาในอนาคต ทั้งในแง่ของการดึงดูดกลุ่มคนหัวกะทิให้มาร่วมงานกับทวิตเตอร์ และยังต้องทำให้พนักงานที่เหลืออยู่ทั้งในส่วนของทวิตเตอร์และเทสล่ารู้สึกไม่มั่นคงและปลอดภัยในอาชีพด้วย นอกจากนี้อาจกระทบกับความรู้สึกไว้วางใจของพันมิตรผู้ร่วมธุรกิจที่สูญเสียความศรัทธา และอาจมองว่าการกระทำของเศรษฐีอันดับ 1 ของโลกนั้นเป็นสิ่งไม่สามารถให้อภัยได้ต่อผลกระทบที่เกิดต่อพนักงาน