นักวิจัยจีนเสนอไอเดียสร้างสกุลเงินดิจิตอลแห่งเอเชียบนเครือข่ายบล็อกเชนเพื่อลดการพึ่งพิงดอลลาร์และลดผลกระทบไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาแรงของเฟดเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ
นักวิจัยของรัฐบาลจีนกำลังกลั่นกรองไอเดียสกุลเงินดิจิตอลใหม่ในเอเชีย เพื่อลดการพึ่งพิงดอลลาร์สหรัฐฯ รวมทั้งปกป้องเสถียรภาพการเงินควบคู่กับการส่งเสริมการร่วมมือทางการเงินภายในภูมิภาค ทั้งนี้ จากรายงานของเซาธ์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว
จากการชี้แจงของซ่ง ซวง, หลิว ตงหมิน และโจว เสวียจื้อ นักวิจัยของสถาบันเศรษฐศาสตร์และการเมืองโลกในสังกัดสถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์ของจีน โทเคนเอเชียจะผูกกับตะกร้าเงิน 13 สกุล ได้แก่ หยวน เยน วอน และสกุลเงินของ 10 ชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)
สำหรับสัดส่วนในสกุลเงินดิจิตอลเอเชียจะอิงกับรูปแบบสิทธิพิเศษถอนเงิน (เอสดีอาร์) ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นกลไกในการเสริมเงินสำรองระหว่างประเทศให้แก่ชาติสมาชิก
ขณะเดียวกัน โทเคนเอเชียอาจอิงกับเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (distributed ledger technology) เพื่อป้องกันการครอบงำของชาติใดชาติหนึ่ง และขจัดอุปสรรคในการร่วมมือทางการเงินภายในภูมิภาค
นักวิจัยทั้งสามคนเคยเขียนไว้ในบทความที่เผยแพร่เมื่อเดือนสิงหาคมในวารสารเวิลด์ แอฟแฟร์ที่มีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับกระทรวงต่างประเทศจีน และโพสต์ทางออนไลน์อีกครั้งในเดือนที่ผ่านมา ซึ่งมีใจความว่า การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอย่างแนบแน่นในเอเชียตะวันออกตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่านมานำไปสู่รากฐานที่ดีสำหรับการร่วมมือด้านสกุลเงินภายในภูมิภาค และเงื่อนไขขณะนี้ถือว่า สุกงอมสำหรับการจัดตั้งเงินหยวนแห่งเอเชียอย่างค่อยเป็นค่อยไป
การพัฒนาสกุลเงินดิจิตอลเอเชียถูกกระตุ้นจากความกังวลกับอิทธิพลของดอลลาร์ที่ครอบงำทั่วโลกมากขึ้น
นักวิจัยของรัฐบาลจีนวางเดิมพันสูงกับความน่าเชื่อถือของสกุลเงินดิจิตอลเอเชียเพราะเชื่อว่า เงื่อนไขในตอนนี้เหมาะสมอย่างยิ่ง นอกจากนั้นแผนการส่งเสริมความร่วมมือด้านการเงินภายในภูมิภาคของอาเซียน ควบคู่กับการลดการพึ่งพิงดอลลาร์ยังเกิดขึ้นท่ามกลางภาพรวมที่ใหญ่กว่า
นั่นคือการที่จีนกำลังพยายามส่งเสริมสถานะของตัวเองในการเป็นผู้นำโลกในการพัฒนาสกุลเงินดิจิตอล และใช้ประโยชน์จากอิทธิพลของตนเองที่แผ่ขยายไปทั่วโลก ไอเดียนี้ยังเกิดขึ้นท่ามกลางการข่มขู่ของอเมริกาในการตัดขาดทางการเงินกับจีน
นักวิจัยเหล่านี้ยังกล่าวถึงผลกระทบแง่ลบจากการขึ้นดอกเบี้ยแรงหลายระลอกของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่มีต่อทุนสำรองระหว่างประเทศของเอเชีย ผลลัพธ์ไม่พึงประสงค์นี้เกิดขึ้นผ่านความผันผวนในตลาดการเงินเป็นหลัก
ทั้งสามอธิบายเพิ่มเติมว่า ประเทศในเอเชียตะวันออกค้าขายด้วยเงินดอลลาร์มานาน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของการไม่สมดุลของสกุลเงินและความเสี่ยงเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนที่เคยเป็นตัวการวิกฤตการเงินเอเชียปี 1997 มาแล้ว
ว่าที่จริงนี่ไม่ใช่แผนการริเริ่มเพื่อสร้างสกุลเงินแห่งเอเชียครั้งแรก ย้อนกลับไปในปี 1997 ระหว่างเกิดวิกฤตการเงินเอเชีย มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในขณะนั้น ได้เสนอตั้งสกุลเงินเอเชียตะวันออก และอีก 2 ปีต่อมา เขายังย้ำความจำเป็นในการแทนที่ดอลลาร์ด้วยโทเคนดิจิตอลเอเชีย
นอกจากนั้นในปี 2006 ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เคยเสนอโปรเจ็กต์ “หน่วยเงินตราเอเชีย” (เอซียู)
สำหรับแผนการริเริ่มล่าสุดนั้น หากเป็นความจริงขึ้นมา มีแนวโน้มมากที่สุดที่จีน ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก จะเป็นแกนนำผลักดันสกุลเงินดิจิตอลเอเชีย โดยปักกิ่งได้เริ่มทดสอบสกุลเงินดิจิตอลของตนเองแล้วตั้งแต่เมื่อหลายเดือนก่อนในเมืองใหญ่กว่า 20 แห่ง โดยเน้นหนักการชำระเงินรายการเล็กๆ
ข้อมูลจนถึงปลายเดือนสิงหาคมระบุว่า หยวนดิจิตอลได้รับการยอมรับจากผู้ค้า 5.6 ล้านราย และมีการทำธุรกรรมรวมมูลค่าทั้งสิ้น 100,000 ล้านหยวน (13,900 ล้านดอลลาร์) อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่มีกำหนดชัดเจนว่า จีนจะเปิดตัวหยวนดิจิตอลอย่างเป็นทางการเมื่อใด
นอกจากนั้น แม้ทางการจีนยืนยันว่า สกุลเงินดิจิตอลที่ออกโดยธนาคารกลาง (ซีบีดีซี) ของตนมีเป้าหมายใช้ในประเทศเป็นหลัก แต่ขณะนี้แบงก์ชาติแดนมังกรกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการชำระเงินระหว่างประเทศร่วมกับหน่วยงานการเงินของฮ่องกง ไทย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์