xs
xsm
sm
md
lg

เผาจริงปีหน้า!! IMF เตือนเข้ม ปรับลดอัตราเติบโตเศรษฐกิจโลก 2023 หวั่นหนีไม่พ้นภาวะถดถอย-ตลาดการเงินปั่นป่วน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปิแอร์-โอลิวิเยร์ กูรินชาส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟ กล่าวระหว่างการแถลงข่าวที่สำนักงานใหญ่ของไอเอ็มเอฟในกรุงวอชิงตัน วันอังคาร (11 ต.ค.)
ไอเอ็มเอฟเตือนเอาไว้ในรายงานสำคัญชี้ทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุดว่า ความกดดันจากเงินเฟ้อที่ทำให้มีการขึ้นดอกเบี้ย ผสมโรงวิกฤตราคาพลังงานและอาหาร กำลังทำให้เศรษฐกิจโลกจ่อเข้าสู่ภาวะถดถอยและคุกคามเสถียรภาพตลาดการเงิน โดยประเทศที่เป็นตัวแทนผลผลิต 1 ใน 3 ทั่วโลกทีเดียวอาจตกอยู่ในสภาพดังกล่าวในปีหน้า ทั้งนี้ 3 เศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลก ได้แก่ อเมริกา จีน และอียู ต่างพากันชะลอตัว

ในรายงานที่ออกเผยแพร่เมื่อวันอังคาร (11 ต.ค.) ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นการประชุมประจำปีสำหรับภาคฤดูใบไม้ร่วง ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟเรียกร้องให้ธนาคารกลางประเทศต่างๆ เดินหน้าต่อสู้กับเงินเฟ้อแม้ต้องเผชิญผลกระทบอันเจ็บปวดเนื่องจากต้องใช้นโยบายการเงินคุมเข้ม ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ก็แข็งขึ้นทำสถิติในรอบ 2 ปี สืบเนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยอย่างแรงของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เช่นกัน กลายเป็น 2 ปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดการเงินทั่วโลกผันผวนเมื่อเร็วๆ นี้

รายงานของไอเอ็มเอฟ ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปี 2023 อยู่ที่ 2.7% จาก 2.9% ที่คาดไว้ในรายงานอัปเดตก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกรกฎาคม ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่สดใส โดยที่การขึ้นดอกเบี้ยแรงของเฟด ทำให้เศรษฐกิจอเมริกาชะลอตัว ส่วนยุโรปต้องรับมือราคาพลังงานที่พุ่งทะยาน และจีนยังคงใช้มาตรการล็อกดาวน์สกัดโควิด ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ซบเซา

ปิแอร์-โอลิวิเยร์ กูรินชาส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟ ระบุว่า ประเทศที่เป็นตัวแทนของผลผลิต 1 ใน 3 ทั่วโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า ขณะที่การเติบโตของ 3 เศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลก ได้แก่ อเมริกา จีน และสหภาพยุโรป (อียู) จะชะลอตัวต่อไป กล่าวโดยสรุปก็คือ สำหรับคนจำนวนมากแล้วสถานการณ์เลวร้ายที่สุดนั้นยังมาไม่ถึง และอาจจะไปรู้สึกว่า ปี 2023 นั่นแหละเป็นปีแห่งภาวะถดถอย

สำหรับปีนี้ ไอเอ็มเอฟคงตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกไว้ที่ 3.2% สะท้อนการเติบโตเกินคาดของผลผลิตในยุโรป ขณะที่การเติบโตของอเมริกาชะลอลง เปรียบเทียบกับอัตราเติบโตที่สูงถึง 6% เมื่อปีที่แล้วหลังจากวิกฤตโควิดซาลง

รายงานไอเอ็มเอฟเสริมว่า ประเทศใหญ่ในยุโรปบางแห่งจะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคในปีหน้า ซึ่งรวมถึงเยอรมนีและอิตาลี ขณะที่ราคาพลังงานพุ่งโด่ง และผลผลิตขาดแคลน

เวลาเดียวกัน แนวโน้มการเติบโตของจีนก็ถูกปรับลดลงจากการคงมาตรการล็อกดาวน์สกัดโควิด และภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซาซึ่งจะทำให้การเติบโตของจีนชะลอตัวหนักขึ้น

รายงานของไอเอ็มเอฟยังบอกอีกว่า ความกดดันทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้นประกอบกับภาวะสภาพคล่องตึงตัว เงินเฟ้อที่ไม่มีทีท่าลดลง และความผันผวนทางการเงินยืดเยื้อ เพิ่มความเสี่ยงที่ราคาสินทรัพย์จะมีการปรับฐานอย่างไม่เป็นระเบียบและทำให้สถานการณ์ไม่มั่นคงในตลาดการเงินลุกลาม

สัปดาห์นี้พวกเจ้าหน้าที่ด้านการเงินการคลังจาก 190 ชาติสมาชิกของไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก ร่วมประชุมหารือกันที่กรุงวอชิงตันเพื่อหาวิธีรับมือความไม่แน่นอนเหล่านี้ ขณะที่พวกเขามีจุดยืนทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน แถมต้องประสบกับวิกฤตราคาอาหารและพลังงานอันเป็นผลจากสงครามยูเครน และความท้าทายระดับโลกอื่นๆ ซึ่งรวมถึงความต้องการในการระดมทุนก้อนใหญ่สำหรับการพัฒนาพลังงานสะอาด

ไอเอ็มเอฟชี้ว่า ธนาคารกลางทั้งหลายต้องพยายามเดินสายกลางในการต่อสู้กับเงินเฟ้อโดยไม่ใช้นโยบายการเงินคุมเข้มมากเกินไปซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรงอย่างไม่จำเป็น และเพิ่มความเจ็บปวดให้แก่พวกประเทศตลาดเกิดใหม่ที่กำลังเห็นค่าเงินของตนร่วงไถลเมื่อเทียบดอลลาร์

อย่างไรก็ดี กูรินชาสย้ำว่า ถึงอย่างไรการควบคุมเงินเฟ้อก็ถือว่ามีความสำคัญมากกว่า และการลดการ์ดเร็วเกินไปอาจบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือที่ธนาคารกลางได้มาอย่างยากลำบาก

ทั้งนี้ ธนาคารโลกคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกจะพุ่งสูงสุดที่ 9.5% ในไตรมาส 3 ปีนี้ และลดเหลือ 4.7% ในไตรมาสสุดท้ายปีหน้า

ทว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกอาจมืดมนลงอย่างมากหากเผชิญผลกระทบพร้อมกันหลายด้าน ซึ่งรวมถึงการที่ราคาน้ำมันแพงขึ้น 30% จากระดับปัจจุบันที่จะฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจโลกลดลง 1% ในปีหน้า

ปัจจัยลบอื่นๆ ในสถานการณ์ขาลงยังรวมถึงการคุมเข้มทางการเงินที่สืบเนื่องจากการอ่อนค่าของสกุลเงินในประเทศตลาดเกิดใหม่ และตลาดแรงงานที่ร้อนแรงเกินไปซึ่งทำให้ผลผลิตลดลง

กูรินชาส เตือนว่า เศรษฐกิจโลกอาจหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้ แต่มีโอกาส 1 ใน 4 ที่การเติบโตอาจลดเหลือ 2% หรือต่ำกว่านั้น ซึ่งนับจากปี 1970 เคยเกิดขึ้นเพียง 5 ครั้ง อย่างเช่น วิกฤตราคาน้ำมันปี 1973 สถานการณ์ที่ภาวะเงินเฟ้อลดลงในปี 1981 และวิกฤตการเงินปี 2008 ทั้งหมดล้วนส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจโลก

(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น