xs
xsm
sm
md
lg

แนวโน้มหุ้นไทยไตรมาส 4 ยังมีโมเมนตัมเชิงบวก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย ทีมจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนทิสโก้ จำกัด 
 
สถานการณ์ปัญหาเงินเฟ้อในระดับสูงที่เกิดขึ้นในปีนี้มีความต่อเนื่องยาวนานกว่าที่ตลาดคาดไว้ บนพื้นฐานของความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์กับอุปทานในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในด้านของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งมีปัญหาจากผลของความตึงเครียดที่ยืดเยื้อระหว่างรัสเซีย-ยูเครนบวกชาติตะวันตก รวมถึงมาตรการ Lockdown และควบคุมการระบาดของไวรัส COVID-19 อย่างเข้มงวดและยาวนานในจีน ซึ่งเป็นประเทศที่เป็นฐานการผลิตสินค้าที่สำคัญของโลก โดยอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่รายงานออกมาล่าสุดในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมพุ่งขึ้นทำระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีอยู่ที่ราว 8% เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อในยุโรปที่ในช่วงเวลาเดียวกันขึ้นไปสูงถึงระดับ 9% โดยเงินเฟ้อที่สูงและค้างนานจะก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องของเสถียรภาพของราคาสินค้าและบริการ (Price Stability) จากความคาดหวังเงินเฟ้อของผู้บริโภค ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะสร้างปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจในระยะถัดไป 

เพื่อเป็นการสกัดกั้นเงินเฟ้อดังกล่าว ธนาคารกลางจึงไม่มีทางเลือกนอกจากปรับฐานในฝั่งอุปสงค์ให้ลดลงมาสอดรับกับระดับอุปทานด้วยการเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ เน้นย้ำถึงเป้าหมายสำคัญที่จะลดเงินเฟ้อลงมาที่ระดับเป้าหมายระยะยาวที่ 2% และกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่จะต้องแลกมากับผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งล่าสุดผลของการขึ้นดอกเบี้ยเริ่มนำไปสู่การอ่อนตัวลงของตัวเลขเศรษฐกิจชี้นำแล้วส่วนหนึ่ง และมีการปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกลง โดย World Bank ออกมาปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกลงจาก 4.1% ที่ประเมินไว้ในช่วงต้นปีเหลือ 2.9% เทียบกับอัตราการเติบโตในปีที่แล้วที่ 5.7% ทั้งนี้ หากเทียบกับระดับเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่รายงานออกมาล่าสุดแล้ว นั่นหมายถึงว่าแนวโน้มดอกเบี้ยในตลาดการเงินจะอยู่ในระดับสูงและต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่อาจยาวนานจนถึงปีหน้าเป็นอย่างน้อย เพื่อเปรียบเทียบกับฐานราคาสินค้าและบริการที่ขึ้นมาสูงแล้วในปีนี้ แนวโน้มดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้นดังกล่าวย่อมสร้างแรงกดดันต่อเนื่องต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงรวมถึงตลาดหุ้น ทั้งในเชิงของอุปสงค์ในระบบเศรษฐกิจที่ชะลอลง สภาพคล่องการซื้อขายในตลาดหุ้นที่หดตัว รวมถึงการไหลออกของกระแสเงินทุน 

แม้จะมีความไม่แน่นอนจากปัจจัยนอกประเทศต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น แต่ตลาดหุ้นไทยนั้นยังมีแรงสนับสนุนที่สำคัญจากปัจจัยในประเทศ นำโดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวจากการ Lockdown ในปีที่ผ่านมาซึ่งถือว่าเป็นรอบ Cycle ที่แตกต่างจากเศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้ว โดย World Bank ประเมินการเติบโตของ GDP ไทยในปีนี้ที่ระดับ 3.1% ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มจากคาดการณ์ในช่วงกลางปีซึ่งอยู่ที่ 2.9% และคาดจะเร่งการเติบโตขึ้นสวนทางเศรษฐกิจโลกในปี 2566 เป็น 4.1% สนับสนุนจากผลของการเปิดเมืองเปิดประเทศ อีกหนึ่งจุดแข็งของเศรษฐกิจไทยนั่นคือฐานะทางการเงินที่เข้มแข็ง ทั้งในระดับบริษัทจดทะเบียนฯ และในเชิงของประเทศ มีหนี้สินในระดับต่ำโดยเปรียบเทียบ ทำให้สามารถจำกัดความเสี่ยงขาลงได้ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นและเงินเฟ้อ ส่งผลให้ต้นทุนการทำธุรกิจต่ำกว่าคู่แข่งในหลายประเทศและสร้างข้อได้เปรียบในการค้าขายในตลาดโลก นอกจากนี้ การเลือกตั้งของไทยที่จะมีขึ้นในปีหน้าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหนุนสำคัญบนความคาดหวังต่อเม็ดเงินอัดฉีดและนโยบายหาเสียงต่างๆ 

ภาพรวมโดยสรุปแล้ว ยังคงมีมุมมองในเชิงบวกต่อการลงทุนในหุ้นไทย แม้ว่าเราประเมิน Upside ของ SET Index ค่อนข้างจำกัดในกรอบ 1,600-1,650 จุด ในปีนี้จากผลของการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และสภาพคล่องในระบบที่ลดลง แต่ยังมีแรงสนับสนุนที่สำคัญในปีหน้าจากการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่จะเร่งตัวขึ้น ประกอบกับแรงกดดันของเงินเฟ้อที่จะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป โดยเน้นลงทุนในกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการเปิดประเทศ รวมถึงกลุ่มที่ได้ประโยชน์ทางอ้อมจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลก มีความสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดีและมีความสามารถในการต่อรองกับคู่ค้า โดยให้น้ำหนักการลงทุนมากกว่าตลาดในกลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ กลุ่มการแพทย์ กลุ่มพลังงาน กลุ่มธนาคารและสถาบันการเงิน


กำลังโหลดความคิดเห็น