xs
xsm
sm
md
lg

โค้งสุดท้ายของตลาดหุ้นปลายปี 2565 ตลาดรับรู้และคาดหวังอะไร?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย คุณปรินทร เดชศรี
บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด(มหาชน)

ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยมีความผัวผวนมากขึ้นในเชิงการรับรู้ข่าวสารและการคาดการณ์ต่างๆ เนื่องจากปัจจุบันสื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาทในชีวิตของนักลงทุนมากขึ้น ผ่านการแข่งขันของผู้ให้บริการต่างๆ เช่น บริษัทหลักทรัพย์ หรือสื่อออนไลน์สายเศรษฐกิจต่างๆ ที่นำเสนอเรื่องราวดีๆ และข้อมูลของบริษัทที่รวดเร็วมากขึ้น เข้าถึงง่ายมากขึ้น ทำให้ข้อมูลในการลงทุนนั้นไปถึงมือนักลงทุนพร้อมๆ กัน รับรู้ข่าวนั้นๆ ในตลาดพร้อมๆ กัน การลงทุนในยุคปัจจุบันจึงแข่งขันกันที่การรับรู้ข่าวสารได้เร็วแค่ไหนและแม่นยำกับการคาดการณ์ของตลาด ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้ตลาดหุ้นในปัจจุบันจะมีการปรับตัวขึ้นลงผันผวนไปตามข้อมูลที่เกิดอย่างรวดเร็วมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 นี้ตลาดหุ้นผ่านการรับรู้เหตุการณ์ต่างๆ ไปมาก ไม่ว่าจะเป็นสงครามยูเครน-รัสเซีย ความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ผ่านตัวเลขการขึ้นดอกเบี้ยและตัวเลขเงินเฟ้อ เช่น การรับรู้ข่าวเรื่องสงครามและการคาดหวังต่อจุดจบของสงคราม ตลาดหุ้นได้รับรู้ไปมากแล้วโดยเฉพาะกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวขึ้นมาและยืนในระดับสูงได้นับตั้งแต่เดือน มี.ค. 65 อีกทั้งตลาดเริ่มมาคาดการณ์ระดับราคาพลังงานในปีหน้าในราคาหุ้นและคาดหวังที่จะอยู่ร่วมกันบนความขัดแย่งได้ในอนาคต ส่วนของภาพเศรษฐกิจถดถอยก็เช่นกัน ตลาดรับรู้การขึ้นดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูง ซึ่งทำให้ตลาดปรับตัวลงเร็วและแรง ทำจุดต่ำสุดไปเมื่อ 15 ก.ค. 65 ที่ 1,533.37 จุด และเริ่มที่จะคาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปีหน้า ซึ่งเรื่องราวต่างๆ สามารถหาได้ทั่วไปผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หรือแอปพลิเคชันต่างๆ ทำให้การปรับตัวของตลาดในแต่ละเหตุการณ์นั้นจะมีความรวดเร็วมากขึ้น เพื่อตอบสนองกับการคาดการณ์ของนักลงทุน ดังนั้น การคาดการณ์ต่างๆ ต่อไปจากนี้ไปจนถึงปลายปี นักลงทุนควรจะต้องศึกษาสิ่งที่ตลาดกำลังมองหา กำลังคาดการณ์อยู่แล้วเตรียมตัวในการลงทุนเพื่อให้ทันกับตลาดที่จะรวดเร็วในปัจจุบัน

ทั้งนี้ หากมองไปในอนาคต เพื่อให้นักลงทุนทันกับสภาวะตลาดในปัจจุบันและสามารถจับจังหวะการลงทุนได้แม่นยำมากขึ้น การศึกษาแนวโน้มว่าตลาดกำลังคาดหวังอะไรและต้องการที่จะรับรู้อะไรไปจนถึงปลายปี อาจจะทำให้นักลงทุนสามารถมีผลตอบแทนที่ดีได้มากขึ้นเทียบกับผลตอบแทนตลาด โดยหากมองภาพตลาดโดยรวมตลาดหุ้นมีโอกาสที่จะไปต่อได้ โดยหากอ้างอิง Set Index Target จาก SET (Earnings Price per Share) EPS ในปัจจุบันที่ 104 บาทต่อหุ้น (Bloomberg Consensus) ที่ถูกปรับขึ้นมาจาก 96 บาทต่อหุ้นจากในช่วงกลางปี มาจากกลุ่มพลังงานและกลุ่มท่องเที่ยวที่มีการปรับประมาณการกำไรที่ดีกว่าคาดกับระดับ (Price to Earnings) P/E ที่ 16.8 เท่า ที่ค่าเฉลี่ย P/E ของตลาดหุ้นระยะยาว จะได้กรอบเป้าหมายของตลาดหุ้นที่เพิ่มมากขึ้นจากฐานกำไรของตลาดใหม่ โดยมีปัจจัยหลักๆ มาจาก 1. เรื่องการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวไทยที่เข้าใกล้ก่อนระดับโควิดได้เร็วกว่าที่คาด โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมนี้ ที่จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันตลาดหุ้นพอจะรับรู้ข่าวเหล่านี้ไปมากพอสมควรสังเกตจากหุ้นในกลุ่มท่องเที่ยวและกลุ่มที่เกี่ยวข้อง (โรงพยาบาลที่มีลูกค้าเป็นชาวต่างชาติ) ซึ่งปรับตัวขึ้นมาตลอดทั้งปี อย่างไรก็ตาม ด้วยตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวขึ้นและการปรับประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาที่ 10 ล้านคนในปี 2565 (จาก 6-7 ล้านคนก่อนหน้านี้) และ 18-20 ล้านคนในปี 2566 จะทำให้กลุ่มดังกล่าวจะยังคงยืนระยะได้ต่อไปจนปลายปี และคาดหวังกับข่าวการปรับลดกฎเกณฑ์การเข้าออกประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีน จะทำให้กลุ่มท่องเที่ยวคาดว่าจะสามารถไปต่อได้ และทำให้ระดับนักท่องเที่ยวกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิดได้ที่ระดับนักท่องเที่ยวที่ 40 ล้านคน

2. การประกาศการเลือกตั้งทั่วไป เนื่องจากตลาดค่อนข้างให้ความหวังกับเม็ดเงินที่จะใช้จ่ายเข้าไปในระบบเศรษฐกิจฐานรากระหว่างการเลือกตั้ง โดยหลายนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าการเลือกตั้งในรอบนี้จะมีเงินอัดฉีดเข้าระบบเศรษฐกิจมากกว่าครั้งก่อนๆ อาจจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อกลุ่มธุรกิจที่มีความสัมพันธ์กับการเมืองและการเลือดตั้ง โดยกลุ่มที่น่าสนใจ มีกลุ่มธุรกิจก่อสร้างและรับเหมา, ค้าปลีก, สื่อโฆษณา, ธุรกิจการเงิน และกลุ่มหุ้นที่นักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่จากความเชื่อมั่นที่มากขึ้นด้วย โดยค่าเฉลี่ยหลังจากการเลือกตั้ง 3 ครั้งล่าสุดเมื่อ ก.ค. 54, ก.พ. 57 และ มี.ค. 62 ตลาดหุ้นมีผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวก 3-4% หลังจากการเลือกตั้งใน 1 เดือน

โดยสรุปแล้ว SET Index อาจจะพักฐานอีกรอบในช่วงเดือนตุลาคม แต่ยังคงมองตลาดหุ้นยังคงมีปัจจัยบวกรอรับรู้ในไตรมาส 4 เนื่องจากการรายงานเงินเฟ้อสหรัฐฯ (CPI) สูงกว่า consensus (8.3% vs 8.1%) ทำให้นักลงทุนกังวลต่อการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต แต่อย่างไรก็ดี การประชุม Fed ณ 21 ก.ย. 65 นี้จะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยในอัตราเร็วและแรงเป็นครั้งสุดท้าย และการขึ้นดอกเบี้ยจะขึ้นในอัตราที่น้อยลงในรอบถัดไป ส่วนเงินเฟ้อในไทยก็คาดว่าผ่านจุดสูงสุดไปแล้วเช่นกันในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับราคาพลังงานในประเทศ

ดังนั้น ยังคงมุมมองบวกในไตรมาส 4 โดยเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวต่อเนื่องจากฐานที่ต่ำ โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ส่วนความเสี่ยงควรระมัดระวังในการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ดังนั้นหากศึกษาข้อมูลปัจจัยต่างๆ แล้วหากตลาดเกิดการปรับฐานลง อาจเป็นจังหวะให้ลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะมีข่าวดีจะเกิดขึ้นได้
กำลังโหลดความคิดเห็น