xs
xsm
sm
md
lg

ปลัด สธ.สั่งเคลียร์หนี้ค่าตอบแทนบุคลากรใน 1 เดือน วางแผนเงินบำรุงพัฒนา รพ.ของประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปลัด สธ.มอบนโยบาย ย้ำ นพ.สสจ.-ผอ.รพ.ยกระดับสื่อสารรอบรู้สุขภาพ สร้างความไว้วางใจประชาชน พัฒนา รพ.เป็น รพ.ของประชาชน สั่งเคลียร์หนี้ค่าตอบแทนบุคลากร ค่ายา กันเงินสำรอง วางแผนใช้เงินบำรุงลงทุนอำนวยความสะดวกประชาชน ทั้งที่พักบุคลากร อาคารจอดรถ โซลาร์เซลล์ ลุบขับเคลื่อนเซอร์วิส แพลน เมดิคัล ฮับ ยึดหลัก "ททท" ทำทันที ทำต่อเนื่อง ทำและพัฒนา เน้นทีมเวิร์ก 1 จังหวัด รพ.เดียว

เมื่อวันที่ 3 ต.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างประชุมมอบนโยบายและทิศทางการดำเนินงาน สธ.ต่อผู้บริหาร สธ.ส่วนกลางและผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังส่วนภูมิภาค ภายหลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ว่า วันนี้เป็นวันแรกในการทำงานตามเวลาราชการ ขอให้บุคลากรยึดตามพระราชดำรัส "สมเด็จพระบรมราชชนก" ที่ให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง อยู่ในใจพวกเรา ปฏิบัติงานเพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ โดยเฉพาะทีเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และสาะารณสุขทุกมิติ ให้ถือเป็นภารกิจหลักที่ต้องดำเนินการปฏิบัติเป็นลำดับแรก ส่วนปี 2566 เป็นปีโอกาสของระบบสาธารณสุข เนื่องจากเราเพิ่มผ่านวิกฤตโควิด 19 มาได้อย่างดี ซึ่งวันที่ 30 ก.ย.เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นวันเกษียณอายุราชการ ศบค. ปิดเกมโควิดเรียบร้อยในแง่การระบาดใหญ่ แต่ภารกิจคงยังไม่หมด

"แม้โควิดจะหนักหน่วง ทดสอบระบบสาธารณสุขเรา แต่เชื่อว่าพวกเราสอบผ่านอย่างดี แสดงชาวโลกเห็นว่าระบบและพวกเรามีความเข้มแข็งอย่างไร ซึ่งความเข้มแข็งมาจากนโยบายรัฐ ระบบสาธารณสุขรับมือได้ และความร่วมมือของประชาชน เป็นหัวใจสำคัญ ช่วงต่อไปเป็นหน้าที่ของพสวกเราที่ต้องดูแลประชาชนให้รับการบริการสุขภาพที่ดีและสอดคล้องนโยบาย สธ.ต่อไป" นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวว่า วิธีการทำงานกับเครือข่ายทุกภาคส่วน ช่วงโควิดความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการทำงานดีมาก ทั้งรัฐ เอกชน ระดับนานาชาติ เป็นโมเมนตัมให้ทำงานช่วงต่อไปได้ดี ทั้งนี้ โลกทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งภาวะโลกร้อน การขาดแคลนทรัพยากรและอาหาร ภาวะสงคราม การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรในไทย เป็นผู้อายุมากขึ้น ระบบสาธารณสุขต้องปรับตัวรองรับ นโยบายของ รมว.สธ.ที่ให้ไว้ คือ Health For Wealth สุขภาพกับความร่ำรวยต้องไปด้วยกัน ไม่ใช่ตัวเงินแต่ต้องสุขภาพด้วย สุขภาพดีเศรษฐกิจก็มั่งคั่ง ก็จะส่งผลกระทบให้ประชาชนดี เป็นภารกิจที่รับมอบมาทำงาน ซึ่งระยะ 3 ปีต่อจากนี้ จะเป็นโอกาสพัฒนาระบบสาธารณสุขให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ขอให้ช่วยแปลงนโยบาย 5 ข้อไปสู่การทำงานภาคปฏิบัติ คือ 1.การเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสาร ยกความรอบรู้ด้านสุขภาพทุกมิติ ต้องทำให้เกิดความไว้วางใจ ซึ่งเวลามีปัญหาอะไรที่ขัดข้องไม่เข้าใจ ชาวบ้านไปดูโซเชียลมีเดีย เรามีช่องทางสื่อสารต่างๆ ขอฝากผู้บริหารปรับระบบการสื่อสารให้ประชาชนไว้วางใจ ข้อสงสัยซักถามมีปฏิสัมพันธ์กัน

2.เพิ่มความเข้มแข็งระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ เพิ่มศักยภาพ 3 หมอ อสม. รพ.สต. และ รพ.เชื่อมโยงการทำงานกัน โดยเฉพาะเซอร์วิส แพลน ต้องเอาดิจิทัลมาร่วมดำเนินการด้วย ซึ่ง รพ.แต่ละแห่งมีการดำเนินไปพอสมควร ขอให้ รพ.จัดตั้งกลุ่มดิจิทัลทางการแพทย์ขึ้น เพื่อให้บริการประชานเป็นตัวรวบรวมข้อมูล พัฒนานวัตกรรมไปสู่ภาคปฏิบัติ ถ้าพร้อมแล้วดำเนินการได้เลย 3.ยกระดับความมั่นคงด้านสุขภาพ เตรียมพร้อมเรื่องกฎหมายรับมือกับภาวะคุกคามทางสุขภาพ ทั้งโรคระบาด ภัยพิบัติ น้ำท่วม ให้เกิดการดูแลต่อเนื่อง

4.ส่งเสริมประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และนานาชาติ อย่างเมดิคัล ฮับ เดิมกังวลว่าบุคลากรเพียงพอหรือไม่ ซึ่งบุคลากรเรามีความเพียงพอในแง่การผลิต ส่วนทิศทางจุดแข็งเรื่องการแพทย์ การแพทย์แผนไทย สมุนไพรก็ต้องทำให้ต่อเนื่อง รวมถึงเรื่องกัญชา เป็นอีกจุดที่ต้องสื่อสารประชาชน โดยเฉพาะ ผอ.รพ.ว่ากัญชามีประโยชน์หลายประการ สธ.เน้นกัญชาทางกาแรพทย์ ที่บอกเสรีแล้วไปใช้แบบสันทนาการเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายก็ต้องเน้นย้ำ หากพบเห้นอย่านิ่งดูดาย ต้องช่วยชี้แจง แจ้งผู้เกี่ยวข้องไปดำเนินการ

5.การพัฒนา รพ.เป็น รพ.ของประชาชน ซึ่งโควิดทำให้บุคลากรเราได้รับบรรจุเป็นข้าราชการ 4.5 หมื่นอัตรา ปัญหาเชิงปริมาณจึงน้อยลง การกระจายตัวการก้าวหน้าต้องขับเคลื่อนต่อ และพัฒนาศักยภาพความรู้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น และทำให้เรามีเงินบำรุงเพิ่มขึ้น ไม่มีวิกฤตการเงินระดับ 7 ซึ่งสามารถเอามาทำให้ รพ.เรามาทำเป็น รพ.ของประชาชน คือ เข้ามาแล้วรู้สึกมีส่วนร่วม เป็นเจ้าของ ได้ประโยชน์กลับไป ไม่ใช่มาแค่ตอนเจ็บป่วย แต่รวมถึงกิจกรรมสนับสนุนป้องกันควบคุมโรค มาแล้วเกิดความสะดวกสบาย เดิมติดเรื่องงบประมาณระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง เมื่อสถานะเงินบำรุงภาพรวมจากเดิม 3 หมื่นล้านบาท ตอนนี้น่าจะแสนล้านบาทก็ให้ลงทุนให้เกิดประโยชน์ประชาชน อะไรที่ติดหนี้ขอให้ใช้หนี้ก่อน ทั้งค่าตอบแทนบุคลากรต้องเคลียร์ให้เสร็จใน 1 เดือน ค่าโอทีต่างๆ หนี้ค่ายา วัสดุอุปกรณ์ จะได้รู้ว่ามีเงินเหลือพัฒนา รพ.เป็นงบลงทุนเท่าไร

"ขอให้ นพ.สสจ.ติดตามดู รพ. และ ผอ.รพ.วางแผนเงินบำรุงวางแผนไปข้างหน้า 3 ปี ทำให้เสร็จใน 1 เดือนในการวางแผน หักลบหนี้ วางแผนเงินสำรอง ที่เหลือเป็นงบลงทุนพัฒนา รพ. ส่วนลงทุนอะไรบ้าง อันดับแรกบ้านพักบุคลากร หากสร้างเป็นแฟลตก็ขอให้มีสเปซที่มีกิจกรรมร่วมกัน มีไวไฟ ที่มีชีวิตเหมือนคนยุคใหม่ เป็น Work Life Balance สอง รพ.จังหวัดที่แออัด ไม่มีที่จอดรถก็สร้างอาคารจอดรถได้ สามยุคโลกร้อน เรามีโครงการติดโซลาร์เซลล์โซลาร์รูฟเพื่อประหยัดค่าไฟฟ้าในอนาคตให้มีแผนจัดการเรื่องนี้ใน 2-3 เดือน และใน 1 ปี รพ.สธ.ทุกแห่งต้องมีใน รพ. ซึ่งจากการประเมินเราช่วยลดคาร์บอนได้หลายล้านตัน สี่ เรื่องการกำจัดน้ำเสียที่เราไม่มีงบประมาณก็เป้นโอกาสดำเนินการ และเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล อุปกรณ์ทางการแพทย์ให้สอดคล้องกับเซอร์วิสแพลน" นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวว่า และ 6.ขอให้ทุกหน่วยงานนำนโยบายไปสู่ภาคปฏิบัติ คิดในหลักการดำเนินงาน 4T ได้แก่ Trust นพ.สสจ. ผอ.รพ.ต้องทำให้ประชาชนเชื่อมั่น ศรัทธา รพ. บุคลากรสาธารณสุข , Teamwork&Talent ทำงานเป็นทีม ปีนี้งบประมาณถูกตัดไปเยอะ ส่วนกลางคงส่งทรัพยากรให้ได้ไม่มาก เป็นโอกาสดีมีเงินบำรุง รพ.ขอให้ทำงานด้วยกัน คิดว่า 1 จังหวัด รพ.เดียว เพราะ รพ.ขนาดเล็กเงินบำรุงไม่มาก นพ.สสจ.บริหารจัดการหมุนเงินบำรุงช่วยเหลือกัน ทุก รพ.พัฒนาไปพร้อมกัน อย่างตัวอย่างคือ รพ.บางละมุง จ.ชลบุรี นพ.สสจ.ชลบุรีก็บริหารจัดการมาช่วย รพ.วัดญาณสังวราราม ในการทำบ้านพักบุคลากร และเชิดชูคนเก่ง ทำเป็นทีม และต้องมีคนเก่ง ทำควบคู่กัน , Technology ซึ่งอนาคตเทคโนโลยีจะมากขึ้น รวมถึงไบโอเทคโนโลยี และ Targets ทำงานแบบมุ่งเป้าหมาย จะมอบรองปลัด 4 คนช่วยดูแล Target แต่ละข้อของรองนายกฯ รวมถึงหัวหน้าผู้ตรวจราชการช่วยกัน เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม

"ขอให้ทุกคนยึดหลักปฏิบัติในการทำงาน "ททท" คือ “ทำทันที” “ทำอย่างต่อเนื่อง” และ “ทำแล้วพัฒนา” ไม่ใช่หลับหูหลับตาทำ หากข้อมูลมีพร้อม แผนงานกิจกรรมมีพร้อมให้ทำทันที หากยังไม่แน่ใจขอให้ทำโดยศึกษาข้อมูลแล้วลงมือปฏิบัติ แต่อย่าดูนาน ผิดพลาดปรับปรุงแก้ไขพัฒนาต่อเนื่องได้ อย่ามัวแต่คิด หากทำแล้วติดขัดมีข้อเสนอแนะให้ถามมา" นพ.โอภาสกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น