คลังเผยผลประเมิน พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน พบสร้างมูลค่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จำนวน 2.65 ล้านล้าน คาดมีรายได้กลับคืนภาครัฐสูงสุด จำนวน 5.12 แสนล้าน รวมถึงเกิดความคุ้มค่า 3.24 เท่า
รายงานการประเมินผลโครงการ หรือแผนงานภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 รอบ 6 เดือน ครั้งที่ 1
นายวรภัทร โตธนะเกษม ในฐานะประธานกรรมการประเมินผลการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนด เปิดเผยว่า วันที่ 27 กันยายน 2565 คณะกรรมการประเมินผลการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนด (คปก.) จัดทำรายงานการประเมินผลโครงการภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 กรอบวงเงิน 1 ล้านล้านบาท เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อทราบ ดังนี้
1.กรอบการประเมินผล
1.1 ระดับภาพรวม : เป็นการประยุกต์ใช้แบบจำลองเพื่อประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม
1.2 ระดับแผนงาน : เป็นการประเมินผลการดำเนินงานโดยประยุกต์ใช้การวิเคราะห์ห่วงโซ่ผลสัมฤทธิ์
1.3 ระดับโครงการ : เป็นการประเมินผลโดยใช้กรอบแนวคิดของ Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) และ Japan International Cooperation Agency (JICA) โดยใช้หลักเกณฑ์การประเมินผลในระดับโครงการ 5 ด้าน ได้แก่
(1) ความสอดคล้องและความเชื่อมโยง (2) ประสิทธิภาพ (3) ประสิทธิผล (4) ผลกระทบ และ (5) ความยั่งยืน และแบ่งผลการประเมินภาพรวมออกเป็น 4 ระดับ คือ ระดับดีมาก (A) ระดับดี (B) ระดับพอใช้ (C) และระดับควรปรับปรุง (D)
ทั้งนี้ การประเมินผลจะทำการสุ่มตัวอย่างโครงการ/แผนงาน จำนวน 400 โครงการ ตามหลักสถิติ ซึ่งในรายงานการประเมินผลฯ ครั้งนี้จะพิจารณาคัดเลือกโครงการแล้วเสร็จที่มีขนาดใหญ่ มีการกระจายตัวทั่วประเทศ วงเงินสูง และ/หรือมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีนัยสำคัญ จำนวน 19 โครงการ มีกรอบวงเงินตามที่ ครม. อนุมัติรวม 805,106.55 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 81.95 ของกรอบวงเงินกู้
2.ผลการประเมิน
ผลการประเมินในภาพรวมของโครงการภายใต้พระราชกำหนดฯ ที่ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 19 โครงการดังกล่าวข้างต้น มีผลการดำเนินงานเฉลี่ยอยู่ในระดับดีมาก (A) และสามารถสร้างมูลค่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จำนวน 2,654,954.75 ล้านบาท โดยคาดว่าจะมีรายได้กลับคืนภาครัฐสูงสุด จำนวน 512,406.26 ล้านบาท รวมถึงเกิดความคุ้มค่า 3.24 เท่า โดยมีผลการประเมินระดับแผนงาน สรุปได้ ดังนี้
2.1 แผนงานที่ 1 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 : จำนวน 9 โครงการ มีกรอบวงเงินตามที่ ครม. อนุมัติรวม 33,719.31 ล้านบาท ผลเบิกจ่ายรวม 33,638.90 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99.76 ของกรอบวงเงินตามที่ ครม. อนุมัติ (ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2565)
โครงการที่สำคัญ เช่น โครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัยสำหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในชุมชน และโครงการค่าบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น โดยมีผลการดำเนินงาน
ในภาพรวมอยู่ในระดับดีมาก (A) และผลการประเมินตามหลักเกณฑ์การประเมินทั้ง 5 ด้าน อยู่ในระดับดี (a)
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ : ลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงและประชาชนที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 27,348.65 ล้านบาท จำนวนผู้รับประโยชน์ 13.64 ล้านราย
ผลกระทบทางสังคมที่สำคัญ : ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และมีความเชื่อมั่นต่อการให้บริการและการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลและระบบสาธารณสุข คิดเป็นร้อยละ 91.70 รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์มีความเชื่อมั่นต่อระบบการให้บริการและการรักษาของโรงพยาบาลและระบบสาธารณสุข คิดเป็นร้อยละ 85.00
ข้อเสนอแนะที่สำคัญ
- ด้านการบริหารจัดการ : ควรมีการตรวจสอบและปรับปรุงฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน ควรมีการพัฒนาจัดทำระบบฐานข้อมูลกลางด้านสาธารณสุขของประเทศที่สามารถสนับสนุนการรักษาและส่งต่อผู้ป่วย พัฒนากลไกหรือระบบบริหารจัดการให้มีการบูรณาการระหว่างสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และควรมีการจัดทำระเบียบ หลักเกณฑ์ แนวทางสำหรับใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างในกรณีที่เกิดภาวะวิกฤตหรือเกิดสถานการณ์เร่งด่วน
- ด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ : ควรมีการออกแบบโครงสร้างการจัดการหรือกลไกการให้ข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจนและถูกต้อง รวมทั้งกำหนดมาตรการในการควบคุมด้านข้อมูลข่าวสารในภาวะฉุกเฉินให้มีความเหมาะสม
คุณส่ง
2.2 แผนงานที่ 2 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 : จำนวน 6 โครงการ มีกรอบวงเงินตามที่ ครม. อนุมัติ รวม 636,203.61 ล้านบาท ผลเบิกจ่ายรวม 634,254.43 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99.69 ของกรอบวงเงินตามที่ ครม. อนุมัติ (ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2565) โครงการที่สำคัญ เช่น โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้เกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นต้น โดยมีผลการดำเนินงานในภาพรวมอยู่ในระดับดีมาก (A) ผลการประเมินตามหลักเกณฑ์การประเมินทั้ง 5 ด้าน ด้านความสอดคล้องและความเชื่อมโยง ด้านประสิทธิภาพ ด้านประสิทธิผล และด้านผลกระทบ อยู่ในระดับดี (a) ส่วนด้านความยั่งยืนอยู่ในระดับพอใช้ (b) เนื่องจากเป็นโครงการที่มีลักษณะการช่วยเหลือเยียวยาในระยะสั้น จึงไม่ส่งผลต่อโครงการในด้านความยั่งยืน
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ คือ สร้างมูลค่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จำนวน 2,099,263.97 ล้านบาท มีรายได้กลับคืนภาครัฐสูงสุด จำนวน 405,157.94 ล้านบาท รวมทั้งมีความคุ้มค่า 3.19 เท่า จำนวนผู้รับประโยชน์ 77.72 ล้านราย
ผลกระทบทางสังคมที่สำคัญ คือ ลดความเครียดของประชาชน ชะลอการเกิดหนี้เสีย และเกิดการกระจายรายได้สู่ภูมิภาค
ข้อเสนอแนะที่สำคัญ
ด้านการบริหารจัดการ : ควรให้หน่วยงานที่มีความพร้อมในด้านทรัพยากรและมีประสบการณ์ในการให้บริการแก่ประชาชนจำนวนมากเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินโครงการ รวมทั้งป้องกันการทุจริตของผู้เข้าร่วมโครงการโดยการกำหนดบทลงโทษที่มีความรุนแรงในกรณีที่มีการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของโครงการ
ด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการจัดทำฐานข้อมูล : ควรมอบหมายให้หน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการช่วยดําเนินงานโครงการตามความเหมาะสม ดำเนินการเร่งรัดให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการตามมาตรฐานธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ พัฒนาระบบฐานข้อมูลแบบรวมศูนย์ (Centralized Database) และปรับปรุงระบบแอปพลิเคชัน G-Wallet ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ : ควรมีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลเพื่อสร้างความมั่นใจในการเข้าร่วมโครงการของภาครัฐ อีกทั้งควรมีช่องทางในการสื่อสารในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเป็นช่องทางหลักเพียงช่องทางเดียว เพื่อป้องกันการได้รับข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง
2.3 แผนงานที่ 3 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 : จำนวน 4 โครงการ มีกรอบวงเงินตามที่ ครม. อนุมัติรวม 135,183.63 ล้านบาท ผลเบิกจ่ายรวม 127,885.41 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 94.60 ของกรอบวงเงินตามที่ ครม. อนุมัติ (ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2565) โครงการที่สำคัญ เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการกำลังใจ เป็นต้น โดยมีผลการดำเนินงานในภาพรวมอยู่ในระดับดีมาก (A) ผลการประเมินตามหลักเกณฑ์การประเมินทั้ง 5 ด้าน ด้านความสอดคล้องและความเชื่อมโยง ด้านประสิทธิผล และด้านผลกระทบ อยู่ในระดับดี (a) สำหรับ
ด้านประสิทธิภาพ และด้านความยั่งยืนอยู่ในระดับพอใช้ (b) เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปและการรอตรวจสอบทุจริตในการเข้าร่วมโครงการของผู้ประกอบการ อันส่งผลต่อประสิทธิภาพในการดำเนินโครงการ
อีกทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น จึงส่งผลให้โครงการไม่เกิดความยั่งยืน
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ คือ สร้างมูลค่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จำนวน 555,690.78 ล้านบาท มีรายได้กลับคืนภาครัฐสูงสุด จำนวน 107,248.32 ล้านบาท รวมทั้งมีความคุ้มค่า 3.45 เท่า จำนวนผู้รับประโยชน์ 57.40 ล้านราย
ผลกระทบทางสังคมที่สำคัญ คือ ลดความเครียดของประชาชน ลดการเลิกจ้างงาน เพิ่มทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) ให้ดีขึ้น และส่งเสริมการเป็นสังคมไร้เงินสด (Cashless Society)
ข้อเสนอแนะที่สำคัญ
ด้านการบริหารจัดการ : ควรมอบหมายให้หน่วยงานที่มีความพร้อมในด้านทรัพยากร เช่น ระบบงานระบบเทคโนโลยี ทรัพยากรบุคคล และหน่วยงานในพื้นที่ในการให้บริการแก่ประชาชน รวมทั้งปรับระบบการบริหารจัดการให้มีความยืดหยุ่นเพื่อตอบสนองพฤติกรรมการใช้จ่ายและการบริโภคที่เปลี่ยนไป
ด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการจัดทำฐานข้อมูล : การบริหารความเสี่ยงของระบบในการให้บริการ การจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาระบบเทคโนโลยี รวมทั้งการวางนโยบาย ระบบและกลไกต่างๆ ในอนาคตให้สามารถรองรับสังคมไร้เงินสด (Cashless Society)
ด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ : เน้นการสื่อสารข้อมูลข่าวสารบนช่องทางหลักนอกเหนือจากการสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์ โดยต้องมีความถี่ในการสื่อสารที่ถูกต้องเหมาะสมและต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถศึกษารายงานการประเมินผลโครงการ รอบ 6 เดือน ครั้งที่ 1 ได้ที่ www.pdmo.go.th