วันนี้ (28 ก.ย.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้มีการวางกลไกติดตามประเมินผลของโครงการ/แผนงานตาม พระราชกำหนด (พ.ร.ก.)ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งในแง่ของผลต่อเศรษฐกิจ รวมถึงรวบรวมปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) ทุก 6 เดือน โดยมีคณะกรรมการประเมินการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนด (คปก.) กระทรวงการคลัง ดำเนินการประเมิน
ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 65 คปก. ได้รายงานผลประเมินโครงการ/แผนงานภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ พ.ศ 2563 (พ.ร.ก.กู้เงิน พ.ศ.2563) รอบ 6 เดือน ครั้งที่1 โดยได้คัดเลือกโครงการ/แผนงานเพื่อดำเนินการประเมินจากโครงการที่มีขนาดใหญ่ กระจายทั่วประเทศ วงเงินกู้สูง มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีนัยสำคัญ จำนวน 19 โครงการ วงเงินดำเนินการรวม 8.05 แสนล้านบาท เทียบกับพ.ร.ก.กู้เงิน พ.ศ.2563 ที่มีวงเงินรวม 1 ล้านล้านบาท
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การประเมินระหว่างเดือนม.ค.-มิ.ย. 65 พบว่าทั้ง 19 โครง มีผลการเบิกจ่ายรวม 7.95 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 98.84 ของวงเงินทั้ง 19 โครงการ มีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับดีมาก และสามารถสร้างมูลค่าและผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จำนวน 2.65 ล้านล้านบาท มีรายได้กลับคืนภาครัฐ จำนวน 5.12 แสนล้านบาท เกิดความคุ้มค่าต่อการใช้จ่ายงบประมาณ 3.24 เท่า
ทั้งนี้ มีการประเมินแยกตามแผนงาน 3 แผนงาน ประกอบด้วย
แผนงานที่1 แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 จำนวน 9 โครงการ อาทิ โครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชยและเสี่ยงภัย สำหรับการปฏิบัติงานของ อสม. และ อสส. ในการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโควิด19 ในชุมชน ระยะที่1-4 โครงการค่าบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โครงการจัดหาเครื่องช่วยหายใจเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด19 เป็นต้น กรอบวงเงินรวม 3.37 หมื่นล้าน
มีการเบิกจ่าย 3.36 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99.76 ของกรอบวงเงิน มีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับดีมาก สามารถสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม โดยการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงและประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 รวมทั้งประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและมีความเชื่อมั่นต่อการให้บริการและการรักษาพยาบาล
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า แผนงานที่ 2 แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยาและชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 6 โครงการ อาทิ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 โครงการเราชนะ เป็นต้น
กรอบวงเงินรวม 6.36แสนล้านบาทเบิกจ่ายรวม 6.34 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99.69 ของกรอบวงเงิน มีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับดีมาก สร้างมูลค่าต่อเศรษฐกิจ จำนวน 2.09 ล้านล้านบาท มีรายได้กลับคืนภาครัฐ จำนวน 4.05 แสนล้านบาท รวมทั้งสามารถชะลอการเกิดหนี้เสียและเกิดการกระจายรายได้สู่ภูมิภาค
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ในส่วนของ แผนงานที่ 3 แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วย โครงการกำลังใจ และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่1-3 วงเงินรวม 1.35 แสนล้านบาท เบิกจ่าย 1.27 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 94.60 สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม 5.55 แสนล้านบาท มีรายได้กลับคืนภาครัฐ จำนวน 1.07 แสนล้านบาท รวมทั้งลดความตึงเครียดของประชาชน ลดการเลิกการจ้างงาน เพิ่มทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และส่งเสริมการเป็นสังคมไร้เงินสด
อย่างไรก็ตาม การประเมินด้านประสิทธิภาพและด้านความยั่งยืนของแผนงานที่3 อยู่ในระดับพอใช้ เนื่องจากโครงการกำลังใจไม่ได้รับความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายตามที่คาดการณ์ไว้และโครงการกำลังใจและโครงการคนละครึ่งมีลักษณะเป็นการช่วยเหลือหรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น