สธ.เปิดแผนคุม "โควิด" หลังยุบ ศบค. ปรับเป็นโรคเฝ้าระวัง 1 ต.ค.นี้ ยันเตียง ยา บุคลากรเพียงพอ มี 4 รูปแบบเฝ้าระวัง ทั้ง รพ. - เป็นกลุ่มก้อน อาจประกาศระบาดเฉพาะพื้นที่ - เฝ้าระวังนอก รพ. และการกลายพันธุ์ เชื่อตรวจจับการระบาดทัน คาดปี 66 ระบาดเหมือนไข้หวัดใหญ่ ยังรับวัคซีนตามสมัครใจ ย้ำรักษาฟรีตามสิทธิ เน้นผู้ป่วยนอก
เมื่อวันที่ 26 ก.ย. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัด สธ. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 ของกระทรวงสาธารณสุข หลังยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน - ยุบ ศบค.
นายอนุทินกล่าวว่า หลังปรับ "โควิด 19 " เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เริ่มวันที่ 1 ต.ค.นี้ ขณะที่ ศบค.ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งหมด มีผลวันที่ 30 ก.ย.นี้ ให้หน่วยงานต่างๆ นำมาตรการตามกฎหมายเข้ามาแก้ไขปัญหาตามปกติ ในส่วนของ สธ.มี พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เป็นเครื่องมือหลักบริหารสถานการณ์ในระยะถัดไป มีกลไกทั้งระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับพื้นที่ดำเนินการ อาจลดระดับความเข้มข้นของมาตรการลง เพื่อให้สังคมและเศรษฐกิจเดินหน้า นอกจากนี้ สธ.ยังจัดทำแผนปฏิบัติการควบคุมโรคโควิด 19 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เป็นกรอบการดำเนินงานให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะเสนอต่อ ครม.อนุมัติต่อไป ยืนยันว่า กลไกนี้ยังบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง ส่วนการดูแลรักษา ยา ขอให้สบายใจว่า ยังมีมาตรการดูแลเช่นเดิมต่อไป ภาวะฉุกเฉินยังใช้สิทธิ์ UCEP เข้ารักษาพยาบาลที่ไหนก็ได้หากวินิจฉัยว่าต้องรักษาเร่งด่วน โดยสรุปสิทธิไม่ได้ลดไปไหน แต่ผ่อนคลายเพื่อให้คล่องตัวและดำเนินชีวิตได้ตามปกติ
นพ.สุระ กล่าวว่า สำนักงานปลัด สธ.มี รพ. 900 กว่าแห่ง และ รพ.สต.กว่า 9,000 แห่ง บุคลากรกว่า 4 แสนคน คิดว่ามีความพร้อมที่เพียงพอ โดยเรามี 73,000 เตียง วันที่ 25 ก.ย.มีคนไข้โควิดนอน รพ. 4,800 คนคิดเป็น 6% ของเตียง ส่วนใหญ่อยู่ในเตียงระดับ 2.1 และ ระดับ 1 ที่อาการไม่รุนแรง ประมาณ 90% อยู่เตียงระดับ 2.2 และ 3 ประมาณ 10% ถือว่าเตียงมีเพียงพอรองรับทุกระดับ ส่วนยาขณะนี้ฟาวิพิราเวียร์มีคงเหลือ 5.6 ล้านเม็ด ใช้เฉลี่ย 5.8 หมื่นเม็ดต่อวัน พอใช้ 3.1 เดือน ยาโมลนูพิราเวียร์คงเหลือ 20.3 ล้านเม็ด ใช้เฉลี่ย 1.48 แสนเม็ดต่อวัน เพียงพอใช้ 4.5 เดือน และยาเรมดิซีเวียร์คงเหลือ 2.3 หมื่นขวด ใช่เฉลี่ย 1.2 พันขวด เพียงพอใช้ครึ่งเดือน โดยจัดซื้อยาฟาวิพิราเวียร์เพิ่ม 10 ล้านเม็ด เพียงพอใช้ 5.5 เดือน โมลนูพิราเวียร์ 35 ล้านเม็ด เพียงพอใช้ 7.2 เดือน และเรมดิซีเวียร์ 3 แสนขวด เพียงพอใช้ 8.2 เดือน ในอนาคตถ้ามีการใช้ยาน้อยลง เพราะผู้ป่วยน้อยลง ก็จะมียาใช้ได้เพียงพอมากกว่าที่ประมาณ โดยย้ำว่าเตียง ยา และบุคลากรทางการแพทย์มีเพียงพอ
นพ.โอภาสกล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งผู้ป่วยรายใหม่ใน รพ. ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิตลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้เรามีการเปิดกิจกรรม แข่งกีฬา จัดเทศกาลต่างๆ ประชาชนมาร่วมกันเนืองแน่นและมีนักท่องเที่ยว ไม่ได้เป็นเหตุให้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เพราะคนมีภูมิคุ้มกัน 92% จากวัคซีนและติดเชื้อโดยธรรมชาติ ซึ่งสำรวจเมื่อ เม.ย.-พ.ค. 2565 ซึ่งกำลังจะสำรวจใหม่รายงานผลช่วงต้น ต.ค. โดยคาดว่าปี 2566 การระบาดอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงเป็นตามฤดูกาลคล้ายไข้หวัดใหญ่ อาจมีการระบาดเกิดขึ้นเป็นระยะบางพื้นที่ 1-3 ครั้งต่อปี ส่วนระบบเฝ้าระวังต่อจากนี้ ยังมีการติดตามอข้อมูลอย่างเป็นระบบ ประกอบด้วย 4 ระบบ คือ 1.การเฝ้าระวังผู้ป่วยใน รพ. Hospital Base ซึ่งมีการดำเนินการแล้ว 2.การเฝ้าระวังเป็นกลุ่มก้อน เช่น โรงเรียน ตลาด ชุมชน ศูนย์พักพิง มีทีมไปสอบสวนโรค และประกาศพิจารณาโรคระบาดเฉพาะพื้นที่ 3.การเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงเฉพาะนอก รพ. เช่น โรงเรียน สถานศึกษา บ้านพักคนชรา ผับบาร์ แรงงานต่างด้าว และ 4.การเฝ้าระวังสายพันธุ์กลายพันธุ์ ขอให่มั่นใจว่าระบบรัดกุมได้มาตรฐานสากล สามารถตรวจจับการระบาดควบคุมโรคได้ทันท่วงที
นพ.โอภาสกล่าวว่า การฉีดวัคซีนประชาชนรับได้ตามสมัครใจ ไม่เสียค่าใช้จ่าย ฉีดได้ตามสถานพยาบาลที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม.กำหนด โดยสามารถรับสถานพยาบาลใกล้บ้านอย่าง รพ.สต.ที่มีการกระจายวัคซีนไปแล้ว ขณะนี้มีวัคซีนในมือและสัญญาซื้อ 42 ล้านโดส ยืนยันว่าวัคซีนมีเพียงพอ หากจำเป็นหากมีวัคซีนใหม่ที่มีประสิทธิภาพก็สามารถจัดหามาได้ ย้ำว่าทุกคนฉีดได้ตามสมัครใจตามเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนกลุ่มเสีย่งสูง ผู้ป่วยโรคเรื้อรังมารับวัคซีนตามประกาศกำหนด ส่วนปีต่อไปฉีดกี่ครั้งอาจฉีดปีละ 1-2 ครั้ง แต่ข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สธ.จะนำข้อมูลมาประมวลและแจ้งให้ทราบเป็นระยะ
ส่วนการตรวจ ATK เราพบว่า คนไม่มีอาการการได้ผลบวกต่ำมาก หากอาการสงสัยโอกาสผลบวกมีมากกว่า จคงแนะนผู้ที่มีอาการทางเดินหายใจ ปฏิบัติตนตามมาตรการ DMHT สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ ตรวจ ATK ได้ ส่วนประชาชนทั่วไปให้สวมหน้ากากเมื่อเข้าไปในสถานที่แออัด เช่น ขนส่งสาธารณะ รพ. สถานที่ดูแลผู้สูงอายุ/เด็กเล็ก ตรวจ ATK เมื่อมีอาการป่วยตามความจำเป็น ไม่แนะนำตรวจในคนที่ไม่มีอาการ สำหรับหน่วยงาน องค์กร สถานประกอบการ คัดกรองอาการป่วยของพนักงานเป็นประจำ หากมีพนักงานป่วยจำนวนมากให้รายงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที
นพ.ธเรศกล่าวว่า หลังยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สิทธิการรักษาผู้ป่วยนั้น สบส.นัดกองทุนที่เกี่ยวข้องมาหารือ ยืนยันว่ายังรักษาฟรีตามสิทธิ เช่น หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ เป็นต้น ครอบคลุมการวินิจฉัย แล็บ ยา มีการซักซ้อมจัดหาและเตรียมยาไว้กับทั้งสามกองทุนมีการเตรียมงบประมาณรองรับ ส่วนกรณีผู้ป่วยโควิด 19 มีอาการฉุกเฉินวิกฤต อาการมาก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ไอซียู หรือค่าออกซิเจนต่ำมาก สามารถใช้สิทธิ UCEP COVID Plus รักษาสถานพยาบาลทุกแห่งทั้งภาครัฐหรือเอกชน ส่วนสถานพยาบาลชั่วคราว เช่น รพ.สนาม ฮอสปิเทล เรามีการอนุญาต 4-5 หมื่นเตียง แต่มีการใช้เพียงหลัก ซึ่งหลัง ก.ย.นี้ก็จะยุติทั้งหมด หากมีสถานการณ์ฉุกเฉินสามารถออกประกาศรองรับได้ ส่วนแรงงานต่างด้าวก็รักษาตามที่มีประกันได้ฟรี หากไม่มีประกันก็ต้องจ่ายเงินเองตามระบบ
ด้าน นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีการปรับปรุงแนวทางเวชปฏิบัติดูแลรักษาโควิดเป็นครั้งที่ 25 รวมแล้ว 2 ปี 9 เดือน เรามีไกด์ไลน์ 26 ฉบับ คือ เราปรับมาโดยตลอด ซึ่งฉบับล่าสุดยังเป็นร่างที่จะเข้าที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (อีโอซี) วันที่ 28 ก.ย.นี้ โดยจะใช้วันที่ 1 ต.ค.นี้ คือ ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย ปอดปกติ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงหรือโรคร่วมสำคัญ รักษาแบบผู้ป่วยนอก ปฏิบัติตาม DMHT อย่างเคร่งครัด 5 วัน ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง หรือไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลาง แพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆ ไปว่าต้องรับไว้รักษาใน รพ.หรือไม่ ส่วนเรื่องการให้ยานั้น หากไม่มีอาการจะไม่ให้ยาต้านไวรัส ถ้ามีอาการไม่รุนแรง ปอดปกติ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง ไม่จำเป็นต้องให้ยา หรืออาจพิจารณาให้ฟ้าทะลายโจร หรือยาฟาวิพิราเวียร์ หากให้ต้องเริ่มเร็วที่สุดภายใน 3-4 วัน หากมีอาการนานกว่านั้นจะลดอาการไม่ได้
ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงแต่มีปัจจัยเสี่ยง หรือไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบ พิจารณาให้ยาต้านไวรัสตัวใดตัวหนึ่ง โดยเริ่มจากยาแพกซ์โลวิดก่อนเนื่องจากรับประทานได้ ประสิทธิภาพตามการวิจัยดีกว่าโมลนูพิราเวียร์ แต่มีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นได้มากกว่า แต่หากอาการมากเข้า รพ.ก็ใช้เรมดิซีเวียร์ ฉีด 3 วันก็ดีกว่า และโมลนูพิราเวียร์เป็นตัวเลือกถัดไป ซึ่งการเลือกยาเป็นไปตามรายงานการศึกษาวิจัย สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ใช้ยาแพกซ์โลวิดและโมลนูพิราเวียร์ไม่ได้ เนื่องจากไม่มีการศึกษาวิจัย หากอาการไม่มากให้ดูแลรักษาตามอาการ หรือมีอาการไม่มาก แต่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง อาจพิจารณาใฟ้ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นเวลา 5 วัน แต่ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงหรืออาการเสี่ยงมากก็ให้เรมดิซีเวียร์ 3 วันหรือฟาวิพิราเวียร์ 5 วัน หรือหากอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไปให้แพกซ์โลวิด ส่วนกรณีปอดอักเสบให้เรมดิซีเวียร์ 5-10 วัน