โฆษก ศบค. เผย “ประวิตร” นั่งหัวโต๊ะ ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปิดฉากเกือบ 3 ปี ศบค. มีผล 30 ก.ย.นี้ “อนุทิน” รับไม้ต่อ 1 ต.ค. ยัน มีแผนรองรับ ขอบคุณทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือ
วันนี้ (23 ก.ย.) เมื่อเวลา 12.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ว่า เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้รายงานว่า ปัจจุบันสถานการณ์ภาพรวมการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกดีขึ้น ผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิตลดลง สอดคล้องกับสถานการณ์ในประเทศที่ผู้ประกอบการขับเคลื่อนกิจการได้ปกติ กระทรวงสาธารณสุขปรับโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ที่ประชุม ศบค.จึงมีมติเห็นชอบยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ที่ประกาศมาตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค. 63 และขยายมารวมทั้งสิ้น 19 ครั้ง รวมทั้งบรรดาข้อกำหนด ประกาศ คำสั่งที่นายกรัฐมนตรี และครม. ใช้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งหมด โดยให้มีผลในวันที่ 30 ก.ย. 65 เป็นต้นไป ถือเป็นการสิ้นสุดของ ศบค.
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า หลังจากนี้ เมื่อไม่มี ศบค.แล้ว นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.สาธารณสุข จะเป็นผู้กำกับดูแลตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ โดยมีแผนปฏิบัติการควบคุมโรครองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ควบคุมโรคให้อยู่ในสถานการณ์เฝ้าระวังหรือรุนแรงน้อย ซึ่งวางแผนทางไว้ 4 ระดับ โดยสถานการณ์ปัจจุบันอยู่ในระดับเฝ้าระวังที่อัตราป่วยเสียชีวิตน้อยกว่า 0.1% อัตราครองเตียงอยู่ระหว่างที่ 11-24% จะให้หน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคเป็นระดับอำเภอ แต่ถ้าอัตราการป่วยเสียชีวิตขยับไปที่ 0.1-0.5% อัตราครองเตียง 25-40% จะถือเป็นระดับรุนแรงน้อย ศูนย์ปฏิบัติการจะเป็นระดับจังหวัดและเปิดศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคขึ้นมา หรือถ้าไปถึงระดับรุนแรงปานกลาง มีอัตราป่วยเสียชีวิตมากกว่า 0.5% อัตราครองเตียง 41-75% จะเปิดศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงสาธารณสุข หากเข้าขั้นระดับรุนแรงมากที่อัตราป่วยเสียชีวิตมากกว่า 1% อัตราครองเตียงมากกว่า 75% จะเปิดศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์ฉุกเฉินระดับประเทศ ทั้งนี้ นายอนุทิน เน้นย้ำว่า เตียงในระบบสาธารณสุขมีเป็นแสนเตียง สามารถรองรับได้ แต่ถึงอย่างไรประชาชนยังต้องป้องกันตัวเองกันต่อไป
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ขณะที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การติดเชื้อ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 752 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 752 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 794 ราย อยู่ระหว่างรักษา 8,235 ราย อาการหนัก 523 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 244 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 9 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,677,090 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,636,163 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 32,692 ราย ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์ว่าจากนี้จนถึงปี 66 อาจเกิดการระบาดเป็นระลอกเล็กๆ ขึ้นบ้างตามสถานการณ์ แต่จะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ เนื่องจากปัจจุบันอัตราการครองเตียงอยู่ที่ 8.3% ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้รายงานข้อมูลการท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 21 ก.ย.65 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาทั้งสิ้น 5,257,196 คน มีรายได้จากนักท่องเที่ยวสะสม 211,974 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวคนไทยอยู่ที่ 432,889 ล้านบาท
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับโครงสร้างการดำเนินการในระยะสิ้นสุด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เรื่องของวัคซีนจะมีคณะกรรมการสร้างเสริมคุ้มกันโรคแห่งชาติภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติมาทำหน้าที่ดูแลตรงนี้ ส่วนการจัดหาและกระจายวัคซีนเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ส่วนการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายใต้ได้รับวัคซีนจะมีคณะกรรมการพิจารณาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์มาดูแล ดังนั้น หลายคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับวัคซีนเข็มต่อไปจำไม่มีค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบอนุมัติแผนจัดหาวัคซีนเดือน ต.ค. 65 ตามกรมควบคุมโรคเสนอ เห็นชอบแผนการประชาสัมพันธ์โควิด-19 สู่การเป็นโรคประจำถิ่น รับทราบความก้าวหน้าการวิจัยวัคซีน เห็นชอบการจัดจดหมายเหตุการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย และรับทราบการประมวลผลสัมฤทธิ์การปฏิบัติป้องกันและควบคุมโรค
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร ได้ขอบคุณประชาชนที่ร่วมมือ ขอบคุณผู้ประกอบการที่ร่วมใจ และภาครัฐที่ทำงานกันอย่างเข้มแข็งจนผ่านพ้นและเปลี่ยนผ่านมาถึงปัจจุบัน ศบค.ชุดใหญ่ ดำเนินงานมาตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้วางแผนป้องกันเอาไว้ และขอให้การดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตนในฐานะโฆษก ศบค.ขอขอบคุณทุกภาคส่วนด้วยเช่นกัน