เลขาฯ สมช. เผย ศปก.ศบค.เตรียมส่งไม้ต่อกรมควบคุมโรค รับผิดชอบโควิด จ่อยกเลิก ศบค. ส่วนถอดหน้ากากต้องค่อยเป็นค่อยไป เผย ชุดแก้ ศก. จับตาค่าเงินบาทผันผวน
วันนี้ (22 ก.ย.) เมื่อเวลา 12.20 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ว่า ที่ประชุมวันนี้การหารือเรื่องสำคัญ ได้แก่ การรับทราบสถานการณ์ปัจจุบันที่ดีขึ้นตามลำดับ ผู้ป่วยลดลง ผู้เสียชีวิตลดลง กระทรวงสาธารณสุขจะต้องเป็นผู้ดำเนินการต่อเพื่อให้ตัวเลขน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย เรื่องที่สองคือแผนการเปลี่ยนผ่านสู่โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังนั้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้รับความเห็นชอบจาก ศบค.ไปแล้ว และมีการประกาศเป็นโรคติดต่อที่ไม่ร้ายแรงเมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่ง ศปก.ศบค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาแผนรองรับ เพื่อเตรียมกลไกต่างๆ ให้กลับไปสู่กลไกปกติของประเทศ คือให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบ มีคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และ คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯ เป็นกลไกบริหารจัดการ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขทำแผนเพื่อใช้กลไกเหล่านี้ เพื่อให้ประชาชนทราบแนวทางปฏิบัติหลังการเปลี่ยนผ่านว่าต้องทำอย่างไร รวมทั้งองค์กรต่างๆ จะได้รับคำแนะนำการปฏิบัติ รวมถึงต้องมีแผนเผชิญเหตุรองรับ โดยย้ำว่า กระทรวงสาธารณสุขมีแผนรองรับช่วงการเปลี่ยนผ่านเพื่อไม่ให้กลับไปสู่ความเสียหายขนาดใหญ่
พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ที่ประชุม ศปก.ศบค. เห็นชอบเตรียมเสนอ ศบค. ชุดใหญ่ ที่จะมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ รักษาราชการแทนนายกฯ เป็นประธาน เพื่อพิจารณายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในวันที่ 23 ก.ย. หากที่ประชุมเห็นชอบยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ต้องยุบ ศบค.อย่างแน่นอน รวมทั้งยุบหน่วยงานภายใต้ ศบค. และคำสั่งต่างๆ ที่ออกโดย ศบค. ก็ต้องยกเลิกทั้งหมด และจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. แล้วจะมีกลไกรองรับ คือ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ซึ่งเราเตรียมการมาเป็นลำดับไว้แล้ว โดยจะให้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ตั้งศูนย์ปฏิบัติการที่เดิมมีอยู่แล้วแต่อาจต้องปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ อย่างไรก็ตามการประชุมวันนี้ถือเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของศปก.ศบค. ยกเว้น ศบค.ชุดใหญ่ จะมีข้อสั่งการอะไรพิเศษที่ต้องดำเนินการต่อ
เมื่อถามว่า การเสนอให้มีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในช่วงนี้ สืบเนื่องจากประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกใช่หรือไม่ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ไม่เกี่ยว แต่เราดูภาพรวมของประเทศ ซึ่งหัวใจสำคัญคืออยากให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศกลับมาสู่ภาวะปกติ และอยากให้ประชาชนมีอาชีพมีรายได้ ซึ่งที่ผ่านมาตัวเลขด้านการท่องเที่ยวดีมาก ชดเชยกับภาวะวิกฤตเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศหรือสถานการณ์ของโลก
เมื่อถามว่า มีข้อกังวลในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้หรือไม่ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า สิ่งที่กังวลเป็นพิเศษคือเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน ถ้ายกเลิกแล้วไม่ใช่ถอดหน้ากากหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรการเลย ยังต้องมีมาตรกรป้องกันส่วนบุคคล เพราะจะเห็นว่าทุกวันนี้ยังมีคลัสเตอร์ย่อยๆ ในกลุ่มสังคมที่มีการรวมตัวกัน แต่ภาพรวมภูมิคุ้มกัน ประชาชนในประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีมาก มียาเพียงพอ โรงพยาบาลและหมอเพียงพอ เมื่อถามว่า จะสามารถเปิดให้ทุกคนใช้ชีวิตปกติ ถอดหน้ากากได้ในชีวิตประจำวัน เหมือนที่สหรัฐฯหรือประเทศอื่นๆ ที่มีการประกาศไปแล้ว ช่วงเวลาใด พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ช่วงนี้เราก็ปกติ ทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลทำมาจะเห็นว่าทุกอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อไม่ให้เสียหายทีเดียว โดยเราต้องคำนึงความเสียหายของประชาชนเป็นหลัก จึงต้องค่อยๆ ปรับตัว
พล.อ.สุพจน์ ยังกล่าวถึงการทำงานของคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ ว่า ขณะนี้คณะกรรมการชุดดังกล่าวยังคงทำหน้าที่อยู่ ซึ่งมีการดำเนินการทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการมาตลอด โดยมีการประสานข้อมูล ซึ่งเรื่องใดที่เป็นเรื่องสำคัญก็มีการรายงานเข้าที่ประชุม ครม. และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ตามที่เห็นจากการออกมาตรการต่างๆของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาในภาพใหญ่ แก้ไขปัญหาภาคธุรกิจ และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ เมื่อถามว่า มีการจับตาค่าเงินบาทที่มีความผันผวนในขณะนี้หรือไม่ พล.อ.สุพจน์ ยอมรับว่า เรื่องค่าเงินมีการคิดผูกไว้ตั้งแต่ต้น เพราะค่าพลังงานที่สูงขึ้นส่งผลกระทบกับค่าเงินเฟ้อ และค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องก็ให้ความระมัดระวังในเรื่องดังกล่าว
พล.อ.สุพจน์ ยังกล่าวถึงการที่ประเทศรัสเซียระดมพลไปทำสงครามกับประเทศยูเครน จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างไร ว่า สถานการณ์ดังกล่าวยืดเยื้อต่อไป สิ่งที่ทำได้ก็คือรัฐบาลมีการปรับนโยบายออกมาในหลายเรื่อง ทั้งการลดการใช้พลังงาน มาตรการการทำงานที่ออกมาใหม่ ที่สอดคล้องกับภาวะโลกในปัจจุบัน และความคิดของคนรุ่นใหม่ ซึ่ง สมช.เองก็พยายามคิดว่าจะปรับแผนตามนโยบายของรัฐบาลอย่างไร