"หมอโอภาส" ดำรงตำแหน่งปลัด สธ.ทางการวันแรก เข้าสักการะพระพุทธรูปประจำกระทรวง เผยใช้บทเรียน "โควิด" พัฒนาระบบสาธารณสุขไทย เดินหน้าตามนโยบาย Health For Wealth สร้างสุขภาพ สร้างเศรษฐกิจ ลุยงานดิจิทัลทางการแพทย์ สั่ง รพ.ตั้งกลุ่มงานดิจิทัลโดยเฉพาะ เชื่อบรรจุข้าราชการรุ่นโควิด 4.5 หมื่นตำแหน่ง รพ.เคลียร์หนี้ มีเงินบำรุง เป็นจุดแข็งพัฒนางาน ย้ำให้ลงทุน ก่อสร้าง กระตุ้นเศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 1 ต.ค. เมื่อเวลา 09.00 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ เดินทางเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ โดยสักการะพรพพุทธนิรามัย พระพุทธรูปประจำกระทรวง ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ศาลพระพรหม พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบรมชนกและพระบรมราชชนนี พระอนุสาวรีย์กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระพุทธมหานาคปฏิมากร และพระอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ก่อนเกินทางไปถวายสังฆทานวัดพุทธปัญญา
นพ.โอภาสให้สัมภาษณ์ว่า ภาพรวม 1 ต.ค.เป็นต้นไป สถานการณ์ประเทศไทยระบบสาธารณสุขเปลี่ยนแปลงจากเดิมค่อนข้างมาก จากผลกระทบโควิดทั้งด้านบวกและด้านลบ เช่น ความสูญเสียชีวิตและเศรษฐกิจ แต่ผ่านไปแล้วคงต้องมองเป็นบทเรียนในการจัดการ ซึ่งองค์การอนามัยโลกเดือนนี้น่าจะมีการประชุมทบทวนการประกาศภาวะฉุกเฉิน สำหรับประเทศไทยที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากคนทั้งประเทศทำให้ผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยดี ทั้งจากฝ่ายนโยบาย รัฐบาล ศบค. สธ. , ระบบสาธารณสุขเรามีความเข้มแข็งเรื่องการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค การรักษา การสนับสนุนหายา วัคซีน การกระจายกำลังคน บุคลากรทางการแพทย์ทุกสังกัด อสม. และประชาชนที่ร่วมมือร่วมใจกัน ตื่นตัวและให้ความร่วมมืออย่างดี เป็นจุดแข็งที่เราต้องมาพัฒนาปรับปรุงระบบสาธารณสุขต่อไป
ข้อดีของโควิดทำให้เราแก้ปัญหาบุคลากร เรื่องปริมาณและกระจายตัว ครั้งนี้ก็ได้รับการบรรจุข้าราชการ 4.5 หมื่นอัตรา ก็แก้ปัญหาไปได้มาก ทำให้มีขวัญกำลังใจในการทำงาน ทำให้เป็นจุดสร้างความเข้มแข็งต่อไปในอนาคต ขณะที่เรื่องการเงิน โดยเฉพาะหน่วยบริการที่มีปัญหาเรื่องหนี้สิน เงินบำรุงของ รพ.ที่ไม่พอจ่ายเงินเดือนลูกจ้าง ก็ทำให้เงินบำรุงดีขึ้นมาก เชื่อว่าระยะ 3 ปีข้างหน้าจะพัฒนา รพ.ทุกหน่วยงานของเรา จะเป็นจุดแข็งในการพัฒนาตอ่ไป
มาตรการจะทำอะไรก็จะยึดนโยบายของรัฐบาลแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนปฏิรูประบบสาธารณสุข และนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ในเรื่อง Health for Wealth ระบบสุขภาพกับความมั่งคั่ง ซึ่งไม่ได้แปลว่าตัวเงิน มั่งคั่งทั้งสุขภาพกายที่ดี เป็นต้นทุนทรัพย์สินสำคัญของประเทศ ทำอย่างไรให้ 2 เรื่องนี้สมดุลไปด้วยกัน อย่างโคิวดเราทราบว่าควบคุมโรคมากไป สังคมเศรษฐกิจก็ทรุดตัวลง สุดท้ายมีผลสุขภาพประชาชนเป็นวงจร จึงต้องไปด้วยกันใน 2 เรื่องนี้ ภาพรวมมี 5 เรื่อง คือ สร้างความเข้มแข็งประชาชนเรื่องสุขภาพ , ความเข้มแข็งหน่วยบริการ , การดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งเรามีปัญหาเรื่องโครงสร้างประชากร โควิดทำให้เราเร่งเข้าสู่สังคมสูงอายุเร็วขึ้นกว่ากำหนด เดิมเด็กเกิดล้านกว่าคนก็ลดมาเรื่อยๆ เหลือ 5 แสนราย จำนวนมากเป็นเด็กต่างด้าว โจทย์คือทำอย่างไรผู้สูงอายุสุขภาพดี ทำงานได้เหมาะสมกับตัวเอง , การพัฒนาระบบสาธารณสุข เงินบำรุงขณะนี้มีมาก นอกจากพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของ รพ.และหน่วยงานต่างๆ ยังไปกระตุ้นเศรษฐกิจได้ด้วย เมื่อมีการสร้างหรือลงทุน ซึ่งเที่ยวนี้จะลงทุนกระจายทุกอำเภอ ก็จะหมุนเวียนเศรษฐกิจควบคู่กันไป และเรื่องระบบข้อมูล ซึ่งเดิมข้อมูลสุขภาพจะอยู่กับ รพ. ต้องทำให้เป็นของประชาชน จะมีการพัฒนาดิจิทัล และเอาดิจิทัลมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ประชาชน
"วันจันทร์ที่ 3 ต.ค.นี้จะมีการประชุมถ่ายทอดนโยบาย โดยให้ รพ.ประเมิน รพ.ตัวเอง ศักยภาพทางการเงินและให้ลงทุน รพ.ไหนไม่สามารถสร้างอาคารจอดรถให้ประชาชน มีความเดือดร้อนเวลามา รพ.ก้ให้เร่งสร้าง , บ้านพักเจ้าหน้าที่ทรุดโทรม ไม่มีเงินก่อสร้างก็ต้องรีบก่อสร้าง , การอนุรักษ์พลังงาน เช่น โซลาร์รูฟโซลาร์เซลล์ เพื่อประหยัดพลังงานและอนุรักษ์โลกก็เร่งสร้าง หรือเคยมีปัญหาเรื่องน้ำเสียไม่มีงบประมาณมาจัดการ ก็เร่งสร้าง รวมถึงเรื่องอื่นๆ ตึกคนไข้ต่างๆ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เป็นต้น เป็นเรื่องที่ สธ.จะลงทุนด้วยเงินบำรุง จะสั่งการ รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป และรพ.ที่พร้อมตั้งกลุ่มงานดิจิทัลทางการแพทย์เพื่อให้บริการประชาชน เดิมเรามีเทเลเมด แต่ดิจิทัลทางการแพทย์กว้างขวางกว่าเดิม ซึ่งเราเคยคิดว่าเทเลเมดจะใช้ในประชาชนห่างไกลในดอย ป่าเขา ทะเล แต่ตอนนี้ดิจิทีลน่าจะเหมาะชุมชนในเมืองที่แออัด มารอรับบริการนาน ถ้าปรับตรงนี้ได้จะรักษาใน รพ.สะดวกขึ้นลดแออัด รพ.ได้" นพ.โอภาสกล่าว