ปลัด สธ.มีหนังสือถึง นพ.สสจ.49 จังหวัดให้ทำตามแนวทางบริหารถ่ายโอน รพ.สต. ลงนามเมื่อ อบจ.พร้อม มีการจ้างพนักงานกระทรวงและลูกจ้าง จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการรองรับฯ มี 4 คณะ มอบ สสอ.รับเรื่องร้องทุกข์
เมื่อวันที่ 2 ต.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการถ่ายโอนสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษานวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 49 แห่ง ว่า สธ.ได้มีหนังสือถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ทั้ง 49 จังหวัดแจ้งแนวทางการบริหารการถ่ายโอน โดยร่วมมือกับ อบจ.เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน และดูแลบุคลากรสาธารณสุขให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด รวมถึงสนับสนุนช่วยเหลือแก้ไขปัญหา เพื่อให้การถ่ายโอนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งนี้ เมื่อได้รับมอบอำนาจจากปลัด สธ.แล้ว และเอกสารต่างๆ มีความพร้อมครบถ้วน ให้ นพ.สสจ.ลงนามถ่ายโอนได้ โดยเรื่องการจ้างพนักงานกระทรวงสาธารณสุขและลูกจ้างเงินบำรุง ให้ประสาน อบจ.ลงนามรับรองการจ้างต่อเนื่องก่อน โดยในระยะเปลี่ยนผ่าน ให้สนับสนุนยา เวชภัณฑ์ หน่วยแพทย์ ออกให้บริการที่ รพ.สต.ที่ถ่ายโอน เพื่อลดผลกระทบการบริการประชาชน และให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อรองรับการถ่ายโอนภารกิจฯ กำกับ ติดตาม แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงรับข้อร้องเรียนต่างๆ
สำหรับแนวทางการบริหารการถ่ายโอน สอน.และ รพ.สต.ระดับจังหวัด แบ่งเป็น 1.ก่อนการถ่ายโอน ให้จัดทำและทบทวนแผนพัฒนาสุขภาพระดับจังหวัด เพื่อเสนอแนวคิดการจัดบริการภายในจังหวัด ชี้แจงเจ้าหน้าที่ให้ทราบขั้นตอน แนวทางปฏิบัติกรณีการถ่ายโอน สร้างการมีส่วนร่วม รับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และจัดเตรียมข้อมูลเบื้องต้นเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ที่อาจเกิดผลกระทบต่อการจัดบริการหลังการถ่ายโอน
2.ระหว่างการถ่ายโอน ให้ตรวจสอบรายชื่อบุคลากร รายละเอียดบัญชีครุภัณฑ์ ที่ดิน สิ่งก่อสร้าง เพื่อเตรียมการส่งมอบ กรณีมีข้อขัดข้องนำเสนอคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) เพื่อแก้ไข รวมถึงจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อรองรับถ่ายโอนฯ ประชาสัมพันธ์เรื่องการเข้ารับบริการ และมีสายด่วนรับข้อเสนอแนะ/ปัญหาจากประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่ถ่ายโอน
3.หลังการถ่ายโอน ให้มีการติดตามกำกับโดยยึดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดบริการสาธารณสุขของ สอน./รพ.สต. จัดช่องทางรับข้อร้องเรียนการจัดบริการ และมอบหมายสาธารณสุขอำเภอเป็นหน่วยรับเรื่องร้องทุกข์ ปัญหาและอุปสรรคจากประชาชน/เจ้าหน้าที่
นพ.โอภาสกล่าวว่า สำหรับศูนย์ปฏิบัติการเพื่อรองรับการถ่ายโอนภารกิจ สอน.และ รพ.สต. ให้ อบจ. มี นพ.สสจ.เป็นประธาน ผอ.รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป รอง นพ.สสจ. เป็นรองประธาน หัวหน้ากลุ่มงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทน ผอ.รพ.ชุมชน ผู้แทนสาธารณสุขอำเภอ ผู้แทน รพ.สต. หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์ และนิติกร สสจ. ร่วมกันเป็นกรรมการ มีคณะทำงาน 4 ด้าน คือ ด้านวิชาการและติดตามประเมินผล ดูแลการถ่ายโอน วิเคราะห์ผลกระทบ, ด้านบริหารจัดการ ดำเนินการเกี่ยวกับการถ่ายโอนบุคลากร ครุภัณฑ์ ที่ดิน สิ่งก่อสร้าง วิเคราะห์แก้ไขปัญหาการเงิน การคลัง การส่งต่อผู้ป่วย, ด้านกฎหมาย ให้คำแนะนำเกี่ยวกับกฎหมาย/ระเบียบเกี่ยวกับการจัดบริการสุขภาพ การประกอบวิชาชีพเวชกรรม และด้านสื่อสารประชาสัมพันธ์ จัดทำช่องทางสื่อสาร/คอลเซ็นเตอร์ ชี้แจงขั้นตอนการรับบริการ