xs
xsm
sm
md
lg

ROBOT..หุ่นยนต์เขมือบรายย่อย (จบ) / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มูลค่าซื้อขายหุ้นในแต่ละวันคาดว่าสัดส่วนประมาณ 30-40% เป็นมูลค่าการซื้อขายจากหุ้นยนต์สมองกล หรือ ROBOT ซึ่งสามารถสั่งซื้อขายในอัตราความเร็วสูงมาก จึงอยู่ในฐานะได้เปรียบนักลงทุนรายย่อย

ตลาดหุ้นในหลายประเทศไม่เปิดโอกาสให้ใช้ ROBOT ซื้อขายหุ้น เช่น ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย ตลาดหุ้นเวียนนาม หรือแม้ตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้วอย่างฮ่องกง ซึ่งยอมให้ ROBOT สั่งซื้อขายได้ แต่จำกัดจำนวนคำสั่งที่ซื้อขายในแต่ละวินาที และหากต้องการส่งคำสั่งซื้อขายถี่ยิบจำนวนมากต้องเปิดช่องทางการส่งผ่านคำสั่งเพิ่มเติม ทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น และไม่คุ้มต่อการทำกำไรระยะสั้นจากการใช้ ROBOT

แต่ตลาดหุ้นไทย ต่างชาติใช้ ROBOT เทรดได้เต็มรูปแบบ ไม่มีข้อจำกัดใด แม้จะกอบโกยเงินจากตลาดหุ้นไทยนับพันล้านบาทมาหลายปีแล้ว จากคำสั่งซื้อขายที่ได้เปรียบนักลงทุนรายย่อยหลายขุม

โบรกเกอร์ที่เปิดบัญชีให้ลูกค้าที่ใช้ ROBOT แม้จะได้ค่านายหน้าเพียงน้อยนิด แต่ถือว่าบริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงไม่ได้ตระหนักถึงความเสียเปรียบของนักลงทุนรายย่อย

ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ได้รับค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นจาก ROBOT ที่มีคำสั่งซื้อขายถี่ยิบ เพราะจะมีกำไรจากการดำเนินงานมากขึ้น สามารถแบ่งปันโบนัสงามๆ ในหมู่ผู้บริหารและพนักงานตลาดหลักทรัพย์ปีละหลายๆ เดือน

แต่นักลงทุนรายย่อยถูก ROBOT สูบกินไปทีละน้อย จนในที่สุดอาจเหลือแต่กระดูก เสียหายจนหมดตัว และต้องเดินออกจากตลาดหุ้น เหมือนตลาดหุ้นสิงคโปร์ ซึ่งนักลงทุนรายย่อยมีสัดส่วนการซื้อขายเหลือเพียงประมาณ 20% จากเดิมที่เคยมีสัดส่วนประมาณ 50% เพราะถูก ROBOT จนต้องเดินหันหลังจากตลาดหุ้นสิงโปร์

นักลงทุนต่างชาติในอดีตส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนระยะยาว เป็นนักลงทุนสถาบันหรือกองทุน แต่ปัจจุบัน สัดส่วนนักลงทุนต่างชาติที่เป็นนักเก็งกำไรระยะสั้นมีมากขึ้น และใช้ ROBOT เป็นเครื่องมือโกยเงินจากตลาดหุ้นเกิดใหม่

เพราะตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้ว ตลาดหุ้นที่มีขนาดใหญ่ ROBOT ไม่มีช่องทางในการทำเงินได้มากนัก เนื่องจากมาร์เกตแคปหุ้นแต่ละตัวมีจำนวนมาก จน ROBOT ไม่อาจลากหุ้นหรือทุบหุ้นได้

มูลค่าซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติซึ่งบางวันมีสัดส่วนกว่า 50% ของมูลค่าซื้อขายหุ้นรวมทุกกลุ่ม โดยคาดว่าประมาณ 80% เป็นมูลค่าการซื้อขายจากต่างชาติที่ใช้ ROBOT

ไม่ว่าจะเป็นหุ้นตัวไหนถ้า ROBOT เข้าไปลุยด้วย โอกาสการทำกำไรของนักลงทุนรายย่อยจะลดน้อยลงเพราะ ROBOT ชิงทำกำไรส่วนหนึ่งตัดหน้าไปก่อนหน้า ปล่อยให้นักลงทุนรายย่อยแย่งชิงกำไรกันเองเป็นกลุ่ม ซึ่งบางคนอาจทำกำไรได้ แต่รายย่อยส่วนใหญ่มักขายทำกำไรไม่ทัน ต้องติดหุ้น แบกหุ้นต้นทุนสูงไว้ในพอร์ตนานหลายปี

ในรอบ 5 ปี นักลงทุนรายย่อยมียอดซื้อหุ้นสุทธิรวมกันกว่า 4 แสนล้านบาท โดยปี 2561 มียอดซื้อหุ้นสุทธิ 120,799.73 ล้านบาท ปี 2562 มียอดขายหุ้นสุทธิ 21,462.97 ล้านบาท ปี 2563 มียอดซื้อหุ้นสุทธิ 214,425.28 ล้านบาท

ปี 2564 มียอดซื้อหุ้นสุทธิ 111,430.04 ล้านบาท และปี 2565 ยอดขายสะสมนับจากต้นปีจนสิ้นสุดวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา จำนวนทั้งสิ้น 5,670.77 ล้านบาท

ส่วนนักลงทุนต่างชาติ ระหว่างปี 2561-2564 ขายหุ้นทิ้งตลอด โดยมียอดขายหุ้นสะสมช่วง 4 ปีรวม 640,187.74 ล้านบาท เพิ่งจะกลับมาซื้อในปีนี้ โดยมียอดซื้อหุ้นสุทธิสะสมจนสิ้นสุดวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมาจำนวน 144,249.34 ล้านบาท

นับจากปี 2561 จนสิ้นสุดวันที่ 12 ตุลาคม 2565 ต่างชาติขายหุ้นสุทธิประมาณ 5 แสนล้านบาท ขณะที่นักลงทุนรายย่อยซื้อหุ้นสุทธิประมาณ 4 แสนล้านบาท โดยต่างชาติขายหุ้นได้ในราคาที่ดี ขายช่วงดัชนีอยู่ในระดับสูง แต่นักลงทุนรายย่อยซื้อหุ้นในราคาแพง และต้องแบกต้นทุนมาตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา

ตัวเลขยอดซื้อหุ้นสะสมสุทธิประมาณ 4 แสนล้านบาท อาจเป็นตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนรายย่อยพลาดท่าให้ ROBOT เมื่อขายไม่ทัน และตัดใจขายขาดทุนไม่ได้ จึงเก็บหุ้นต้นทุนสูงสะสมไว้ในพอร์ต ปล่อยให้ ROBOT ตีหัวโกยกำไรหอบกลับบ้านไป

นักลงทุนรายย่อยแต่ละคนเฉลี่ยแล้วอาจขาดทุนไม่มาก แต่ขาดทุนกันแทบทุกคน และมีแนวโน้มที่จะขาดทุนต่อไปถ้าเข้าไปเล่นหุ้นตัวไหนและเจอเข้ากับ ROBOT

ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์จะทนดูหุ้นยนต์สมองกลเข้ามาตักตวงเงินจากประเทศไทย จะทนดูนักลงทุนรายย่อยถูก ROBOT เข่นฆ่าต่อไป และไม่คิดจะปิดกั้นช่องทาง ROBOT ในการเขมือบเงินคนไทยบ้างเลยหรือ








กำลังโหลดความคิดเห็น