สถานการณ์ตลาดหุ้นตกอยู่ในภาวะที่ย่ำแย่อีกครั้ง ดัชนีปักหัวลง และมีแนวโน้มว่าจะหลุดแนวรับ 1,550 จุด เพราะปัจจัยลบที่กดดันรอบด้าน
หุ้นเพิ่งจะฟื้นเพียงไม่กี่วัน ดัชนีเฉียดทะลุ 1,600 จุด แต่หลังจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ถล่มทลาย โดยเฉพาะดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ และนักลงทุนต่างชาติเทขาย หุ้นก็ปรับฐานลงทันที
นักลงทุนรายย่อยในประเทศไม่ได้ตื่นตระหนกเทขายหุ้นออก และยังซื้อต่อเนื่อง 12 วันทำการ แต่กองทุนในประเทศ พอร์ตโบรกเกอร์ และนักลงทุนต่างชาติผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันถล่มขาย
และขายจนดัชนีถอยร่นมาปิดที่ 1,570.51 จุด เมื่อวันจันทร์ที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา
ข่าวดีในช่วงนี้ขาดแคลน ทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุนมีแต่มุมมองในแง่ร้าย และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดในเดือนพฤศจิกายนนี้ กลับมาสร้างความกังวลอีกครั้ง เพราะคาดว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75%
ผลที่ตามมาคือ จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย การลงทุนทั่วโลกจะชะลอลง เพราะต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น ขณะที่ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยจูงใจให้ฝากเงินมากขึ้น โดยไม่ต้องดิ้นรนลงทุนให้เกิดความเสี่ยง
เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวทำให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบ เพราะประเทศคู่ค้าชะลอคำสั่งซื้อ รายได้การส่งออกหดตัวลง โดยเฉพาะในปีหน้า เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบตามไปด้วย จนปริมาณนักท่องเที่ยวอาจลดน้อยลง
ถ้าการส่งออกชะลอตัว อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไม่คึกคัก เศรษฐกิจจะขาดเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อน และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนคงไม่เติบโตมากนัก
ค่าเงินบาทกลับมาอ่อนตัวอีกครั้ง และเกือบแตะ 38 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยภายในประเทศต่ำ และเป็นตัวกระตุ้นให้ต่างชาติทยอยขายหุ้น ซ้ำเติมภาวะตลาดหุ้นให้เลวร้ายขึ้น
เพราะแรงซื้อในประเทศขาดแคลน จะมีแต่นักลงทุนรายย่อยเท่านั้นที่ใจกล้า ซื้อไม่อั้น แต่ถึงวันหนึ่งคงหมดแรง หมดสตางค์ที่จะช้อนหุ้น และเต็มไปด้วยคนติดหุ้น
หุ้นกลุ่มธนาคารซึ่งถูกประเมินว่าจะรับอานิสงส์จากดอกเบี้ยขาขึ้น แต่ราคาหุ้นกลับปรับตัวลง เพราะนักลงทุนกังวลหนี้เสียมากกว่า เช่นเดียวกับหุ้นกลุ่มนอนแบงก์ กำลังปรับฐานกันยกแผง เพราะแรงกดดันจากความกังวลหนี้เสีย ซึ่งเป็นผลพวงเศรษฐกิจตกต่ำ
แทบไม่มีหุ้นกลุ่มใดน่าสนใจช้อนเก็บเลย แม้แต่หุ้นกลุ่มเปิดเมืองที่ถูกเทขายจนสร้างจุดต่ำสุดใหม่ในรอบปีหลายตัว หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าก็เจอปัญหาต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นจนทรุดลง
กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งหุ้นบริษัท เคซีอี อิเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE และหุ้นบริษัท ฮานา ไมโคร อิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA ก็จมดิน
การปรับตัวลงรอบนี้ นักลงทุนรายย่อยเป็นผู้แบกน้ำหนักโดยตรง เพราะช้อนหุ้นเก็บอย่างเดียว หุ้นปรับตัวลงก็ซื้อ หุ้นขึ้นแรงๆ ก็ซื้อ โดยไม่รู้ว่าคิดอะไรกันอยู่ หรือคิดจะขายตอนไหน
เพราะเพดานขาขึ้นแคบมาก ความเสี่ยงสูง และแทบมองไม่เห็นโอกาสทำกำไร แต่นักลงทุนรายย่อยกลับเก็บสะสมหุ้น จนหุ้นเต็มพอร์ตไปตามๆ กัน
ต่างชาติถล่มหุ้นหนักๆ มา 2 วันติดแล้ว วันละกว่า 3 พันล้านบาท และดูเหมือนว่ารอบนี้คงเอาจริง ขายจริง แม้มีแรงกระตุ้นให้ต้องขายหุ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน และย้ายเงินกลับไปถือดอลลาร์ ผลตอบแทนสูงกว่า
ช้าเกินไปที่จะห้ามนักลงทุนรายย่อยซื้อเสียแล้ว เพราะส่วนใหญ่ช้อนเก็บหุ้นไว้เต็มไม้เต็มมือ
ถ้าฝรั่งถล่มขายหนักๆ ต่อเนื่อง รอบนี้หุ้นมีโอกาสไหลลงลึก รายย่อยคงแบกหุ้นต้นทุนสูงกันอ่วม
จะคิดซื้อถัวเฉลี่ยอาจเจ็บหนักเข้าไปอีกในยามหุ้นปรับฐานรอบใหญ่