กสิกรไทย ผนึกเจเอ็มที ร่วมทุน 10,000 ล้านบาท จัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด (JK AMC) บริษัทร่วมทุนแห่งแรกในไทย ระหว่างธนาคารพาณิชย์และบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ตามนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์โควิด ชี้การจัดตั้งบริษัท JK AMC ขึ้นมาส่งผลดีต่อการบริหารจัดการหนี้เสียของธนาคารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพิ่มโอกาสให้ลูกหนี้ได้รับข้อเสนอการชำระหนี้ที่เหมาะสม เมื่อปรับตัวดีขึ้นจะสามารถเข้าถึงการขอสินเชื่อในระบบต่อไป เริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่มิถุนายนนี้ กสิกรฯ เผยโอนขายหนี้ให้ 5 หมื่นล้านในปีนี้
นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้สินทรัพย์ด้อยคุณภาพ หรือ NPL มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น การร่วมลงทุนกับกลุ่มบริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) (JMT) จัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด (JK AMC) ขึ้นมา จึงเป็นอีกทางเลือกในการบริหารหนี้เสียของธนาคาร เพิ่มเติมจากการบริหารจัดการเองภายใน หรือการเปิดประมูล โดยธนาคารจะเลือกวิธีการบริหารที่มีประสิทธิภาพและให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด ในส่วนของการขายหนี้เสียให้ JK AMC นอกจากธนาคารจะได้รับเงินจากการขายหนี้แล้ว ธนาคารจะได้รับส่วนแบ่งจากผลกำไรของการบริหารหนี้จาก JK AMC ด้วย ในฐานะผู้ถือหุ้น JK AMC ในสัดส่วนร้อยละ 50 ซึ่งธนาคารลงทุนผ่านบริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด (KVISION) ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยมีแผนโอนขายหนี้ NPL ให้ JK AMC จำนวน 50,000 ล้านบาท ภายในปี 2565 ซึ่งการขายหนี้ในครั้งนี้จะส่งผลให้ NPL และการตั้งสำรองในอนาคตของธนาคารลดลง ทำให้ธนาคารมีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มจากการปล่อยสินเชื่อใหม่ได้
"โดยปกติแล้วการปล่อยสินเชื่อของธนาคารจะมี 3 รูปแบบด้วยกันคือ วงเงินสินเชื่อขนาดใหญ่ หรือการปล่อยกู้ร่วมกับธนาคารอื่น อันนี้ หากเป็นหนี้เสียขึ้นมาจะมีความยุ่งยาก มีเรื่องทางกฎหมายเข้ามาหรือต้องมีการประสานกันในหลายสถาบันการเงิน ส่วนนี้ธนาคารจะบริหารจัดการเอง ขณะที่กลุ่มหนี้อย่างหนี้บ้าน หรือรถ หรือสินเชื่อบุคคลอันนี้ทาง JMT มีความชำนาญกว่า ผลที่ออกมาน่าจะดีกว่าเช่นกัน ขณะที่การจัดตั้ง AMC ด้านการร่วมทุนนั้น นอกจากการขายเอ็นพีแอลแล้ว จะมีในส่วนของเงินปันผลหรือผลขาดทุน ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการหนี้"
ด้านนายปิยะ พงษ์อัชฌา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจ มาร์ท และกรรมการ บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส กล่าวว่า แนวโน้มหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบันอยู่ที่ประมาณร้อยละ 90 ของ GDP ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ที่ไทยเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 มากว่า 2 ปี และความเปราะบางของเศรษฐกิจในปัจจุบันยิ่งจะทำให้สถานการณ์หนี้ด้อยคุณภาพมีโอกาสเพิ่มขึ้น ซึ่งหนทางในการแก้ปัญหาหนึ่งในนั้นต้องขอขอบคุณธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ได้ริเริ่มนโยบายส่งเสริมการนำกลไกของ AMC มาช่วยประชาชนในช่วงวิกฤตโควิด ทำให้ KBank และ JMT ได้หารือกันเพื่อตอบสนองนโยบายดังกล่าว โดยได้บรรลุข้อตกลงเพื่อร่วมกันจัดตั้งบริษัทร่วมลงทุน JK AMC ขึ้นมาได้ โดยกลุ่ม JMT ได้ลงทุนผ่านบริษัทย่อย บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจ จำกัด (JAM)
ทั้งนี้ JK AMC ถือเป็นบริษัทร่วมทุนแห่งแรกในไทยที่ได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ด้วย JMT มีความสัมพันธ์ที่ดีกับธนาคารกสิกรไทยมายาวนาน มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในธุรกิจนี้ รวมทั้งยังมีบริษัทในเครือที่จะช่วยให้ JK AMC ดำเนินธุรกิจได้ตามเป้าหมายและมีต้นทุนที่แข่งขันได้ นอกจากนี้ การจัดตั้ง JK AMC ยังช่วยเพิ่มโอกาสให้ลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือผ่านข้อเสนอการชำระหนี้ที่เหมาะสม เมื่อปรับตัวดีขึ้นจะสามารถกลับมาขอสินเชื่อในระบบต่อไป
นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า JK AMC มีเงินทุนเริ่มต้นในการจัดตั้งบริษัท จำนวน 10,000 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ซื้อหนี้เสียทั้งที่มีหลักประกัน (Secure) และไม่มีหลักประกัน (Unsecure) จากธนาคารกสิกรไทย สถาบันการเงิน หรือบริษัทอื่นๆ มาบริหารจัดการ โดยตั้งเป้าหมายก้าวขึ้นเป็นอันดับ 1 ของธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพภายใน 3 ปีนี้ โดยมีหนี้เอ็นพีแอลในการบริหาร 100,000 ล้านบาท ซึ่งทุนจดทะเบียนปัจจุบันที่ 10,000 ล้านบาทนั้น ทำให้บริษัทสามารถซื้อเข้ามาบริหารได้ 3 เท่าหรือ 30,000 ล้านบาท และมีหากมีความจำเป็นจะพิจารณาเพิ่มทุนต่อไป
โดยศักยภาพทางธุรกิจของ JK ที่จะส่งเสริมให้ไปถึงเป้าหมายทางธุรกิจได้คือ 1.ความเชี่ยวชาญในด้านการบริหารหนี้ของ JMT และ JMT ยังมีบริษัทในกลุ่มที่จะช่วยให้ JK AMC มีต้นทุนที่แข่งขันได้ 2.การใช้ช่องทางต่างๆ ของธนาคารช่วยประชาสัมพันธ์ทรัพย์ NPA ไปสู่ลูกค้าที่สนใจ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงผู้ซื้อทรัพย์ NPA ทั่วประเทศ และ 3.โอกาสเพิ่มมูลค่าธุรกิจอื่นๆ ให้ครบวงจร เช่น การรับปรับปรุงบ้านให้ผู้ซื้อทรัพย์ด้อยคุณภาพ และราคาที่สมเหตุสมผล การช่วยเหลือลูกค้าที่มีประวัติเครดิตที่ดี เป็นต้น โดยบริษัท JK AMC ได้ถูกจัดตั้งอย่างเป็นทางการ และเริ่มดำเนินธุรกิจตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไป
"การบริหารจัดการหนี้เสียของเราไม่ใช่การเข้าไปทวงหนี้แบบที่นึก แต่จะวางรูปแบบไว้ในแบบของที่ปรึกษาเพื่อหารือแนวทางปรับโครงสร้างหนี้ หรืออื่นๆ เพื่อให้สามารถปรับรายได้ค่าใช้จ่ายหรืออื่นๆ เพื่อให้สามารถชำระคืนหนี้ได้ ซึ่ง JMT มีประสบการณ์ด้านนี้มากว่า 20 ปี จึงเชื่อว่าจะสามารถเดินหน้าไปได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้"