โบรกเกอร์ประเมิน กนง. มีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 3-4 ปีนี้ อย่างน้อย 0.25% หลังเงินเฟ้อเดือน พ.ค.พุ่งแตะ 7.1% สูงสุดในรอบ 13 ปี และมีแนวโน้มยังสูงต่อเนื่องในเดือนถัดไป ขณะที่ จับตา ล่าสุดเวิล์ดแบงก์ หั่นเป้าจีดีพีโลกเหลือ 2.9% จากผลกระทบรัสเซีย-ยูเครน หนุนราคาน้ำมันและสินค้าทั่วโลกพุ่ง อาจปรับเป้าจีดีพีไทยตามด้วย ส่วนมติ กนง. วานนี้ คงดบ.ต่อ 0.5%
ASPS-กสิกร คาด กนง.ขึ้นดบ. Q3-4 ที่ 0.25%
บทวิเคราะห์หลักทรัพย์ จาก บล.เอเซียพลัส ประเมินว่า จากการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปเดือน พ.ค.65 ของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 7.1% สูงสุดในรอบ 13 ปี และมีแนวโน้มยังสูงต่อเนื่อง มิ.ย.65 นั้น ประเด็นดังกล่าว สร้างแรงกดดันต่อ กนง.ที่ปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายอยู่ระดับต่ำเพียง0.5% โดยคาดมีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ในช่วงปลายไตรมาส 3 หรือ ต้นไตรมาส 4 และหากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะปรับขึ้นที่ 0.25%
ทั้งนี้ตามกลไกจะกดดันให้P/E ตลาดลดลง 0.99 เท่า กดดันดัชนีเป้าหมาย SET ลดลง 88 จุด จากเดิมที่กำหนดเป้าหมาย SET Index ปี 2565 ไว้ที่ 1810 จุด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า หากเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาด และหากแรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศยังไม่ทุเลาลง ในขณะที่การท่องเที่ยวทยอยฟื้นตัวได้ ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว กนง. ก็อาจจะพิจาณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายให้มีความเหมาะสมได้ โดยอาจจะดำเนินการปรับขึ้นครั้งละ 0.25% จำนวน 1-2 ครั้งในช่วงปลายปี โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์
ทั้งนี้ หาก กนง. ยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้ไทยมีแนวโน้มที่จะเผชิญแรงกดดันจากเงินทุนไหลออกและทิศทางค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ซึ่งส่งผลให้กนง. อาจจำเป็นต้องให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเสถียรภาพมากขึ้นในระยะข้างหน้า
ขณะที่ เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้กนง. อาจให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจลดลงได้ อย่างไรก็ดี คาดว่ากนง. อาจยังไม่รีบส่งสัญญาณเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมที่จะถึงนี้และเลือกที่จะพิจารณาตัวเลขที่สำคัญทางเศรษฐกิจเป็นรอบๆ การประชุมไป
โนมูระ เห็นต่างคาด กนง. ขึ้นดบ. ต้นปี 66
ด้าน บล.โนมูระ พัฒนสิน ประเมินว่าเงินเฟ้อในเดือน มิ.ย.65 ยังสูงต่อเนื่อง คาดอยู่ที่ 6.7% จากเดือน พ.ค.ที่อยู่ 7.1% โดยเงินเฟ้อที่เร่งตัวมาจากด้าน Supply side โดยกนง.ได้คาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่าเงินเฟ้อจะเกินกรอบที่วางไว้ แต่จะทยอยปรับลดลงในช่วงไตรมาส 4/65 ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ไม่แข็งแกร่งนั้น จึงมองว่า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้มีโอกาสน้อย แต่จะปรับขึ้นในช่วงไตรมาส 1-2 ปี 66
กนง. มีมติคง ดบ.นโยบาย ที่ 0.5%
อย่างไรก็ดี วานนี้ ( 8 พ.ค.) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อปี โดย 3 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ต่อเนื่องและมีโอกาสฟื้นตัวดีกว่าที่ประเมินไว้ จากอุปสงค์ในประเทศและแรงส่งจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น
ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ประเมินไว้เดิม จากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันและการส่งผ่านต้นทุนที่มากและนานกว่าคาด แต่ก็ยอมรับว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะมีความจำเป็นลดลง
จับตาหั่นเป้าจีดีพีไทย หลังเวิล์ดแบงก์ลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลก
นอกจากนี้ ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส เผยผ่านบทวิเคราะห์ว่า ธนาคารโลก (World Bank) ได้ปรับลดการเติบโตของเศรษฐกิจโลกหรือ GDP Growth ในปีนี้ลงเหลือ +2.9% (จากเดิมเคยคาดไว้ที่ +4.1% เมื่อต้นปี) จาก 1. ผลกระทบจากการทำสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน 2. การที่จีนใช้มาตรการ Lock Down ที่เข้มงวด ทำให้การผลิตและบริโภคลดลง และ 3. ภาวะห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกที่ขัดข้อง จนทำให้เกิดอัตราเงินเฟ้อสูง
โดยประธาน World Bank กล่าวว่าเศรษฐกิจโลกกำลังกลับมาอยู่ในจุดอันตรายอีกครั้ง และมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะStagflation หรือภาวะเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวที่อ่อนแอ แต่ค่าเงินเฟ้อกลับพุ่งขึ้นสูง
สำหรับไทย World Bank ได้ปรับประมาณการ GDP ลงจาก 3.9% เหลือ 2.9% ซึ่งสอดคล้องกับสำนักวิจัยต่างๆ ได้ออกมาปรับลดตัวเลขคาดการณ์ GDP Growth ก่อนหน้านี้ที่คาดว่า GDP Growth ปี 65 อยู่ในกรอบ 2.5% - 3.5%
อย่างไรก็ตามหลังจากที่รัฐบาล ตัดสินใจเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา โดยผ่อนคลายมาตรการควบคุมจนใกล้ภาวะปกติ คาดทำให้ภาคธุรกิจต่างๆ กลับมาเปิดดำเนินการได้ตามปกติเหมือนช่วงเวลาก่อนที่ Covid-19 จะระบาด และเป็นตัวหนุนให้ GDP Growth ไทย Downside จำกัดกว่าประเทศอื่นๆ
สรุป การปรับลดประมาณการ GDP ของ World Bank ในหลายประเทศนั้เป็นการเปิด Downside ให้กับประมาณการอีกครั้ง โดยต้องติดตามสถานการณ์สงครามยูเครน-รัสเซีย ที่ยังคงยืดเยื้อและเงินเฟ้อยังทรงตัวระดับสูง
กสิกร คาดเป็น Sentiment ลบต่อสินทรัพย์เสี่ยง-ตลาดหุ้นระยะสั้น
ด้าน บล.กสิรไทย ระบุว่า Word Bank ปรับลดคาดการณ์ GDP Growth ของโลกปีนี้เหลือ 2.9%YoY(จากรอบ ม.ค.คาด 4.1%) ส่วนปี 66 คาดโต 3% ประเมินจากผลกระทบจากสงคราม รัสเซีย-ยูเครน หนุนราคาน้ำมันและสินค้าทั่วโลกกดดันเศรษฐกิจ หากดูรายประเทศ ปรับลด (-) ลงเกือบทุกประเทศในปี 65 คือ (จีนปี 65 ปรับลง 0.8% เหลือโต 4.3%, สหรัฐปรับลง 1.2% เหลือโต 2.5%,ยุโรป ปรับลง 1.7% เหลือโต 2.5% ส่วนประเทศไทย ปรับลง 1% เหลือโต 2.9% (ถือว่าอยู่ในระดับคาดการณ์ของสำนักเศรษฐกิจที่คาดอยู่ในกรอบ 2-3%)
ส่วนประเทศที่ปรับเพิ่ม(+) ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ผลิตน้ำมัน อาทิ อิหร่าน, ซาอุดิอาระเบีย ฯลฯ และประเทศ ตุรกี อาร์เจนติน่า โดยรวม KS ประเมินเป็น Sentiment ลบต่อสินทรัพย์เสี่ยงและตลาดหุ้นในระยะสั้น โดยเชื่อว่าตลาดหุ้นโลกได้ตอบรับเศรษฐกิจชะลอไประดับนึง