บริษัท อินเตอร์ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC สร้างตำนานมหากาพย์มหาโกงในตลาดหุ้น โกงกันจนบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ล่มสลาย อดีตผู้บริหารบริษัทฯ ถูกฟ้องร้องมากมาย ล่าสุด ถูกผู้ถือหุ้นฟ้องดำเนินคดีอาญาเพิ่มอีก 1 คดี
นายจรัส สุขแกแข ผู้ถือหุ้นบริษัท อินเตอร์ฟาร์อีสท์ แคป เมเนจเมนท์ จำกัด (ICAP) บริษัทลูก IFEC ได้ยื่นฟ้อง นายสิทธิชัย พรทรัพย์อนันต์ กรรมการบริษัท และพวกต่อศาลอาญาในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ พร้อมเรียกค่าเสียหายชดใช้ ICAP จำนวน 123.8 ล้านบาท
ในคำบรรยายฟ้องระบุว่า นายสิทธิชัย และพวก ซึ่งเป็นกรรมการ ICAP ปี 2559 ได้ทำบันทึกข้อตกลงกับบริษัท ไฟเบอร์วัน จำกัด และบริษัท ดิจิตอลคอร์ปอเรชั่น จำกัด เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 โดย ICAP สนใจจะซื้อหุ้นทั้ง 2 บริษัทสัดส่วน 70% ของทุนจดทะเบียน ในวงเงิน 400 ล้านบาท
ICAP จ่ายเงินมัดจำเพื่อตรวจสอบโครงการจำนวน 50 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขบริษัท ไฟเบอร์วัน ต้องส่งมอบใบหุ้นจำนวน 100% มูลค่า 50 ล้านบาทของบริษัท ดิจิตอลคอร์ปอเรชั่น จำกัด เพื่อเป็นหลักประกัน และมีการชำระเงินมัดจำเพิ่มเติมอีก 50 ล้านบาท
ต่อมาพบว่า นายสิทธิชัย และพวกไม่มีการดำเนินการใดต่อ และหุ้นที่วางไว้เป็นหลักประกันมูลค่า 50 ล้านบาท ไม่อยู่ในความครอบครองของ ICAP
นอกจากนั้น ผู้ถือุห้น IFEC ได้ตรวจพบจากรายงานผู้สอบบัญชีของบริษัทปี 2564 ซึ่งระบุว่า คณะกรรมการ IFEC ชุดปี 2558-2559 สร้างความเสียหาย โดยจ่ายเงินมัดจำเพื่อศึกษาโครงการลงทุน 8 โครงการ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น สร้างความเสียหายกว่า 600 ล้านบาท
เพราะหลังจ่ายเงินมัดจำ บริษัทไม่ดำเนินโครงการต่อ ละทิ้งโครงการโดยไม่เรียกเงินมัดจำคืน
และยังอนุมัติเงินเกือบ 400 ล้านบาท ซื้ออุปกรณ์ที่ต้องใช้ในโครงการลงทุน แต่ผู้ตรวจสอบบัญชีพบว่า ไม่มีอุปกรณ์ที่สั่งซื้อในความครอบครองของบริษัท ซึ่งการวางเงินมัดจำแล้วทิ้งและจ่ายเงินซื้ออุปกรณ์ เป็นวิธีการถ่ายเทเงินของบริษัท
นายจรัส เรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สอบสวนผู้กระทำผิดในการวางมัดจำและทิ้งโครงการ สร้างความเสียหายให้ IFEC นับพันล้านบาท เพราะหากไม่รีบดำเนินการ จะทำให้ตัวการที่สร้างความเสียหาย โยกย้ายทรัพย์สิน บริษัทอาจเรียกร้องความเสียหายมาชดเชยให้ผู้ถือหุ้นกว่า 30,000 รายไม่ได้
นายสิทธิชัย เคยดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและอดีตกรรมการผู้จัดการ IFEC ถูก ก.ล.ต.กล่าวโทษต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ใน ความผิดทุจริตต่อหน้าที่ ทำให้ IFEC ได้รับความเสียหาย โดยร่วมกับพวกซื้ออาคารสำนักงานใหม่ 7 ชั้นของ IFEC ในราคา 60 ล้านบาท แต่ชำระเงินจริงเพียง 40 ล้านบาท โดยเงินอีก 20 ล้านบาท ถูกนำไปใช้ประโยชน์ของนายสิทธิชัย และพวก
นายสิทธิชัย เคยเป็นมาร์เกตติ้งหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดของบริษัทหลักทรัพย์ ก่อนจะถูกนายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ อดีตประธานกรรมการ IFEC ชักชวนเข้ามาร่วมลงทุนใน IFEC แต่ต่อมาเกิดความขัดแย้ง จนนายสิทธิชัย ลาออกเมื่อปลายปี 2559 และเกิดการฟ้องร้องกันไปมาในหลายคดี
แต่คดีที่นายสิทธิชัย ฟ้องนายวิชัย ในข้อหาฟ้องเท็จ ศาลตัดสินจำคุกนายวิชัย เป็นเวลา 2 ปี
อย่างไรก็ตาม เมื่อปลายปี 2562 นายสิทธิชัยและภรรยา นางกนกวรรณ พรทรัพย์อนันต์ พร้อมพวกรวม 8 ราย ถูก ก.ล.ต.ดำเนินคดีทางแพ่ง ในความผิดสร้างราคาหุ้นบริษัท เธียรสุรัตน์ จำกัด (มหาชน) หรือ TSR และสั่งปรับนายสิทธิชัย เป็นเงิน 4.5 ล้านบาท
หุ้น IFEC ถูกตลาดหลักทรัพย์ขึ้นเครื่องหมาย SP พักการซื้อขายตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2561 โดยปัจจุบันอยู่ในกลุ่มฟื้นฟูการดำเนินงาน และอยู่ในข่ายอาจถูกถอน ซึ่งผู้ถือหุ้นจำนวนกว่า 3 หมื่น ตกอยู่ในสภาพสิ้นหวัง เพราะไม่เห็นโอกาสที่หุ้นจะกลับเข้ามาซื้อขายใหม่
ความพินาศของ IFEC เกิดจากการโกง โดย ก.ล.ต.ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษอดีตผู้บริหารบริษัทในความผิดทุจริตหลายคดี เช่นเดียวกับการกล่าวโทษอดีตผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนอื่นนับสิบคดีที่โกง และนำหายนะมาสู่ผู้ถือหุ้น
แต่คดีเงียบหายไปในกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ
ผู้ถือหุ้นที่ลุกขึ้นมาฟ้องอดีตผู้บริหาร IFEC ด้วยตัวเอง จะทำให้คดีโกงในบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้เข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาล โดยไม่ถูกตัดตอนเสียก่อน
ประเด็นที่น่าตั้งคำถามคือ ทำไม ก.ล.ต.จึงตรวจสอบไม่พบความผิดการโกงในบริษัทลูก IFEC ทั้งที่มีรายงานผู้ตรวจสอบบัญชีเป็นเบาะแสะที่จะกล่าวโทษดำเนินคดี
ทำไมผู้ถือหุ้นจึงต้องเหน็ดเหนื่อยในการลุกขึ้นมาทวงสิทธิของตัวเอง ทั้งที่ ก.ล.ต.มีอำนาจหน้าที่ปราบคนโกงในตลาดหุ้น และปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนผู้ลงทุน