นายจรัส สุขแก้ว ผู้ถือหุ้นบริษัทอินเตอร์ ฟาร์อีสท์ แคป เมเนจเมนท์ ICAP บริษัทลูกของบริษัท IFEC ที่อื้อฉาว เปิดเผยว่า วันนี้บริษัท ICAP ได้ฟ้องดำเนินคดีกับนายสิทธิชัย พรทรัพย์อนันต์ และพวก ที่ศาลอาญาเป็นคดีเลขที่ อ.1277/2565 โดยฟ้องในกรรมการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ พร้อมทั้งเรียกเงินค่าเสียหายคืนให้กับบริษัท ICAP จำนวน 123.8 ล้านบาท
จากกรณีที่นายสิทธิชัย และพวก ที่เป็นคณะกรรมการบริษัท ICAP ในปี 2559 ได้ร่วมกันทำบันทึกข้อตกลงกับบริษัทไฟเบอร์วันจำกัดและบริษัทดิจิตอลคอร์ปอเรชั่นจำกัด ในวันที่ 7 เมษายน 2559 ว่า บริษัท ICAP สนใจที่จะลงทุนในบริษัททั้งสองโดยจะเข้าซื้อหุ้นเป็นสัดส่วน 70% ของหุ้นทั้งหมด บริษัท ICAP มีความประสงค์ที่จะศึกษาและตรวจสอบสถานะของบริษัททั้งสองโดยจะทำการศึกษาโครงการ ก่อนที่จะทำสัญญาซื้อขายหุ้นดังกล่าวในราคา 400 ล้านบาท
บริษัท ICAP ได้ชำระเงินมัดจำเพื่อเข้าตรวจสอบโครงการจำนวน 50 ล้านบาทไปตามบันทึกข้อตกลงตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2559 โดยในวันที่จ่ายเงินมัดจำ บริษัท ไฟเบอร์วันจำกัด จะต้องส่งมอบใบหุ้นจำนวน 100% มูลค่า 50 ล้านบาท ของบริษัทดิจิตอลคอร์ปอเรชั่นจำกัด ให้เป็นหลักประกันพร้อมบันทึกหลังใบหุ้นระบุโอนหุ้นทั้งหมดให้กับบริษัท ICAP เพื่อเป็นหลักประกันและชำระเงินมัดจำเพิ่มเติมให้อีก 50 ล้านบาท ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2559
ต่อมาบริษัท ICAP ตรวจสอบพบว่าเงินมัดจำ 100 ล้านบาท ที่นายสิทธิชัยและพวกจ่ายให้กับบริษัทไฟเบอร์วันจำกัดและพวกไม่มีการดำเนินการใดต่อ และหุ้นที่วางไว้เป็นหลักประกันมูลค่า 50 ล้านบาท หายไปไม่อยู่ในความครอบครองของบริษัท ICAP จึงได้ฟ้องนายสิทธิชัยและพวกเป็นคดีอาญาฐานกรรมการกระทำความผิดพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ พร้อมทั้งเรียกเงินที่เสียหายไปคืน
กรณีวางเงินมัดจำจำนวนมากและทิ้งโครงการนั้น ผู้ถือหุ้นของบริษัท IFEC ได้ตรวจพบจากรายงานของผู้สอบบัญชีบริษัท IFEC ปี 2564 ที่ระบุว่า คณะกรรมการบริษัท IFEC ชุดปี 2558 ถึง 2559 ได้มีการกระทำความเสียหายโดยจ่ายเงินมัดจำเพื่อศึกษาโครงการลงทุน 8 โครงการเช่นจะลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ที่ประเทศญี่ปุ่น แล้วอนุมัติให้บริษัทลูกเข้าร่วมลงทุนหรือเข้าซื้อหุ้นพร้อมกับวางเงินมัดจำสร้างความเสียหายรวมกันมากกว่า 600 ล้านบาท โดยหลังจากที่จ่ายเงินมัดจำแล้ว บริษัทก็ไม่ดำเนินโครงการต่อ ละทิ้งโครงการและไม่เรียกเงินมัดจำคืน นอกจากนี้กรรมการบริษัทยังอนุมัติให้จ่ายเงินซื้ออุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการร่วมทุนในแต่ละโครงการเป็นจำนวนเงินสูงถึงเกือบ 400 ล้านบาทโดยผู้สอบบัญชีตรวจพบว่าไม่มีอุปกรณ์ดังกล่าว อยู่ในความครอบครองของบริษัท
การวางเงินมัดจำแล้วทิ้ง และจ่ายเงินซื้ออุปกรณ์สำหรับโครงการลงทุนแต่ไม่มีสินค้าที่ซื้อให้ตรวจนับ เป็นวิธีการถ่ายเทเงินของบริษัทมหาชนไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวของผู้บริหาร เป็นสาเหตุหลักที่สร้างความล่มสลายให้กับบริษัท IFEC
นายจรัสเรียกร้องขอให้สำนักงาน กลต. รีบเข้ามาสอบสวนเพื่อกล่าวโทษผู้กระทำความผิดในกรณีวางเงินมัดจำแล้วทิ้งโครงการ เพราะนายชัยยุทธ อังศุวิทยา ผู้สอบบัญชี ได้ตรวจพบความเสียหายมากกว่า 1 พันล้านบาทแล้ว เกรงว่าหากสำนักงาน กลต. ไม่รีบดำเนินการจะทำให้ตัวการผู้สร้างความเสียหายให้กับบริษัท IFEC โยกย้ายทรัพย์สินไปให้คนใกล้ชิดอันจะทำให้บริษัทไม่สามารถเรียกร้องความเสียหายคืนมาชดเชยให้กับผู้ถือหุ้นมากกว่า 30,000 รายได้ในที่สุด
นายสิทธิชัย เคยถูกสำนักงาน กลต. กล่าวโทษไปแล้ว 2 คดี คือ กล่าวโทษและดำเนินคดีนายสิทธิชัย กรณีทุจริตจากการซื้อที่ดินและอาคารสำนักงานเจ็ดชั้นเพื่อเป็นสำนักงานแห่งใหม่โดยมีเงินจำนวน 20 ล้านบาท ถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของนายสิทธิชัย พฤติกรรมดังกล่าวจึงเป็นการแสวงหาประโยชน์มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเอง และสำนักงาน กลต. กล่าวโทษและดำเนินคดีนายสิทธิชัย กรณี ทำให้สภาพการซื้อขายหุ้นบริษัท เธียรสุรัตน์ จำกัด ( มหาชน ) ผิดไปจากความเป็นจริง ปัจจุบันนายสิทธิชัยยังคงมีข่าวว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังบริษัทในตลาดหลักทรัพย์หลายบริษัทที่มีนักลงทุนสนใจราคาหุ้นที่เคลื่อนไหว