xs
xsm
sm
md
lg

หนีตายหุ้น SMK / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK ประกาศผลประกอบการไตรมาสแรกปีนี้มีผลขาดทุนที่น่าตื่นตกใจ และจะเป็นชนวนให้เกิดการถล่มขายหุ้น จนราคาดิ่งจมดิน

SMK แจ้งผลประกอบการไตรมาสแรกผ่านตลาดหลักทรัพย์ หลังปิดการซื้อขายหุ้นวันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีผลขาดทุน 29,421.37 ล้านบาท ลดลง 16,794.48% เมื่อเทียบกันกับระยะเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 176.23 ล้านบาท

ผลขาดทุนที่เพิ่มขึ้นสูงเกิดจากเงินค่าสินไหมทดแทนโควิดที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ประกาศขึ้นเครื่องหมาย SP พักการซื้อขายหุ้น SMK เนื่องจากไม่ส่งงบการเงินไตรมาสแรกภายในเวลาที่กำหนด

ก่อนถูกพักการซื้อขาย หุ้น SMK ปรับตัวลงแรง เพราะนักลงทุนกังวลผลกระทบจากการรับประกันโควิด และทำให้บริษัทประกันหลายแห่งต้องล่มสลายลง ไม่สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนผู้ทำประกันโควิดได้

บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ของกลุ่มนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ประกาศปิดกิจการ เพราะผลกระทบจากค่าสินไหมทดแทนผู้ทำประกันโควิดไปก่อนแล้ว

หุ้น SMK ถูกเทขายจนราคารูดลงมาปิดต่ำสุดที่ 6.05 บาท ในวันที่ 9 พฤษภาคม แต่หลังจากนั้นมีแรงซื้อกลับ จนราคาพุ่งทะยานชนเพดานสูงสุดติดต่อ 3 วัน ก่อนจะถูกเทขายจนปรับตัวลงอีกครั้ง และปิดครั้งสุดท้ายในวันที่ 17 พฤษภาคมที่ 11.90 บาท

ไม่ต้องวิเคราะห์ว่า เมื่อปลด SP เปิดการซื้อขายใหม่หุ้น SMK จะมีทิศทางอย่างไร เพราะนักลงทุนคงจะเทขายหนีตาย จนราคาร่วงลงไปกองกับพื้นติดฟลอร์สนิทหลายวัน

ตัวเลขผลขาดทุนจำนวนเกือบ 3 หมื่นล้านบาท ในไตรมาสแรก

จะทำให้ส่วนของทุนติดลบทันที โดยบริษัทมีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท ซึ่งระหว่างปี 2561-2563 มีกำไรสุทธิปีละประมาณ 700 ล้านบาท แต่ปี 2564 ขาดทุนสุทธิ 4,753.81 ล้านบาท

วันที่ 18 พฤษภาคม SMK แจ้งตลาดหลักทรัพย์ถึงการยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง และวันที่ 19 พฤษภาคม ตลาดหลักทรัพย์ได้สั่งแขวนเครื่องหมาย C หลังศาลรับคำร้องการขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท

โครงสร้างผู้ถือหุ้น SMK มีกลุ่มดุษฎีสุรพจน์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ มีผู้ถือหุ้นรายย่อย 1,859 ราย ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 15.91% ของทุนจดทะเบียน

จากหุ้นที่มีกำไรติดต่อหลายปี จ่ายเงินปันผลกว่า 2 บาทต่อหุ้นตลอด 4 ปี (2560-2563) แต่หลังจากวิกฤตโควิด ทำให้ SMK เข้าสู่ฐานะล้มละลาย และคงไม่สามารถจ่ายค่าสินไทมทดแทนให้ผู้ทำประกันชีวิตได้

ประชาชนที่ทำประกันโควิดไว้ถูกลอยแพมาหลายบริษัทแล้ว ซึ่งน่าจะรวมผู้ทำประกันโควิดกับบริษัท สินมั่นคงประกันภัยด้วย และจะตกอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่ต้องยื่นต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอรับชำระหนี้

ส่วนผู้ถือหุ้นคงจะแย่งชิงกันขายหุ้น SMK ถ้าตลาดหลักทรัพย์ปลด SP เปิดให้ซื้อขายใหม่

เพราะชะตากรรม SMK จะต้องเข้ากลุ่มฟื้นฟูการดำเนินงาน โดยต้นปีหน้า หลังจากรายงานงบการเงินปี 2565 จะถูกแขวนป้าย SP พักการซื้อขาย เพื่อเริ่มต้นกระบวนการแก้ไขเหตุแห่งการเพิกถอนออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียน เพราะส่วนของทุนติดลบ

นักลงทุนที่ทยอยขายหุ้น SMK ทิ้งก่อนหน้า คงประเมินแล้วว่า สถานการณ์ของบริษัทประกันภัยแห่งนี้ไม่ดี ถูกผลกระทบจากการรับประกันโควิดจนหมดอนาคต

ใครจะคาดคิดว่า SMK จะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนประกันโควิดเกือบ 3 หมื่นล้านบาท และเพียงไตรมาสเดียวผลประกอบการขาดทุนกว่า 2.9 หมื่นล้านบาท

การประกาศผลประกอบการไตรมาสแรก เป็นการปิดฉากของ SMK และผู้ถือหุ้นรายย่อยจะกลายเป็นผึ้งแตกรัง แห่ขายหนีตายหุ้น SMK








กำลังโหลดความคิดเห็น