xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัยกรุงไทยชี้ท่องเที่ยวฟื้นชัด ลุ้นเป็นหัวหอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





นายพัชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB)
เปิดเผยจากการที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) รายงานเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2565 เติบโตที่ระดับ 2.2% และปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยทั้งปีเติบโตที่ 2.5-3.5% หรือมีค่ากลางที่ 3% จากคาดการณ์เดิมที่ 4% ว่า ศูนย์วิจัยกรุงไทย (Krungthai COMPASS) ได้คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 65 ที่ระด้บใกล้เคียงกันที่ 3% ซึ่งเป็นระดับที่ได้ปรับลดลงจากเดิมหลังเกิดสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนในช่วง1-2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งได้ส่งผลให้ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์บางชนิดสูงขึ้น และมีผลกระทบในวงกว้าง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกลงเหลือ 3% จากเดิม 3.8% เช่นกัน

ทั้งนี้ หากมองในรายละเอียดแล้ว การเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกจะมีองค์ประกอบมาจากการบริโภคภาคครัวเรือนอยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งส่วนหนึ่งก้เกิดจากมาตรการของภาครัฐที่ออกมา เช่นโครงการคนละครึ่ง การส่งเสริมการท่องเที่ยว ขณะที่ส่วนอื่นๆ เช่น การลงทุนภาครัฐที่ชะลอตัวลงไป ซึ่งน่าจะมาจากการนำงบประมาณมาใช้ในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจในปริมาณที่สูง รวมถึงโครงการลงทุนขนาดใหญ่รถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลืองได้สิ้นสุดลงแล้ว จึงทำให้งบประมาณการลงทุนขนาดใหญ่ลดลง ดังนั้น ในระยะข้างหน้ามาตรการส่งเสริมการใช้จ่ายของภาครัฐจึงยังมีความจำเป็นอยู่

อย่างไรก็ตาม ยังมีสัญญาณบวกที่ดีในเรื่องของการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ทั้งการท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศที่เข้ามา ภายหลังการผ่อนคลายมาตรการให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาได้สะดวกขึ้น โดย Krungthai COMPASS คาดการณ์ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยในปีนี้ที่ 6 ล้านคน หรืออาจจะมีแนวโน้มสูงกว่าได้อีก จากไตรมาสแรกที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยที่ 500,000 คน ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยบวกที่จะกลับเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี ในขณะที่การส่งออก และภาคอุตสาหกรรมเริ่มเห็นแนวโน้มชะลอลง

"การประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรกของสภาพัฒน์มีตัวเลขเซอร์ไพรส์ที่ภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอ ซึ่งเรามองว่าเป็นการชะลอลงเร็วกว่าที่คาดไว้ เพราะเดิมมองว่าน่าจะเป็นช่วงไตรมาส 2 หรือ 3 ซึ่งตรงนี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอยู่พอสมควร หวังว่าในช่วงที่จะเหลือของปี ภาคบริการ การท่องเที่ยวจะมีสัญญาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะชดเชยในส่วนภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอลงไป และขับเคลื่อนให้จีดีพีไทยปีนี้สามารถเติบโตได้ในระดับ 3%"

*ชี้ช่องทำธุรกิจแปลงขยะอินทรีย์รับเทรนด์ ESG**
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ยังได้นำเสนอรายงานในหัวข้อ "อัพมูลค่าขยะอินทรีย์ และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นพลาสติกชีวภาพ ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน" โดยนายพชรพจน์ กล่าวว่า ตลาดพลาสติกชีวภาพโลกยังเติบโตได้อีกมาก โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ อาทิ การบังคับใช้กฎหมายห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastics) ความตื่นตัวของผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและดูแลสุขภาพ รวมไปถึงการเร่งปรับตัวของภาคธุรกิจตอบรับกับกระแส ESG และลดก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในอนาคต ขณะที่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีชีวภาพทำให้สามารถนำขยะอินทรีย์และวัสดุเหลือใช้ในภาคเกษตรที่มีมูลค่าน้อย มา Upcycle เป็นพลาสติกชีวภาพชนิด Polylactic Acid (PLA) และ Polyhydroxyalkanoate (PHA) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าพลาสติกทั่วไปที่ผลิตจากปิโตรเคมี

“หากจะผลักดันอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ PLA และ PHA ของไทยให้สามารถผลิต เพื่อรองรับความต้องการของตลาดโลกได้มากขึ้น การนำขยะอาหารและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ มาเป็นวัตถุดิบ เป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการขยายศักยภาพการผลิต โดยที่ไม่สร้างภาระต่อภาคเกษตร สำหรับประเทศไทย คาดว่า มูลค่าตลาดพลาสติกชีวภาพประเภท PLA และ PHA รวมกันมีโอกาสเติบโตแตะ 1.9 หมื่นล้านบาทภายในปี 2026 นอกจากนี้ การนำขยะอินทรีย์และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษที่เกิดจากการฝังกลบขยะอินทรีย์และการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร ซึ่งช่วยสนับสนุนเป้าหมาย Net Zero ของประเทศ และเป็นการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สอดรับกับเทรนด์ ESG”

นายชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ นักวิเคราะห์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีขยะอินทรีย์จำพวกขยะอาหารจำนวนกว่า 12 ล้านตันต่อปี และมีวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมากถึง 160 ล้านตันต่อปี นับเป็นแหล่งคาร์บอนที่น่าสนใจ หากจะนำมาแปรรูปเป็นสารสำคัญสำหรับการผลิตพลาสติกชีวภาพ PLA และ PHA อีกทั้งเป็นวัตถุดิบที่มีราคาถูกมาก เมื่อเทียบกับพืชอาหารต่างๆ ที่นิยมใช้กัน เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด และอ้อย นอกจากจะช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบ ยังช่วยลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาพืชอาหารจำนวนมากเป็นวัตถุดิบหลัก ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ปริมาณผลผลิตของพืชอาหารเหล่านั้นค่อนข้างผันแปรมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนในแต่ละปี และที่สำคัญ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะอินทรีย์และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น การใช้ขยะอินทรีย์จำพวกเศษผักและผลไม้มาผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพ PLA อาจเพิ่มมูลค่าได้ราว 3 - 12 เท่าเทียบกับการขายเป็นอาหารสัตว์

“แม้ว่าประเทศไทยจะมีความพร้อมด้านวัตถุดิบทางเลือก แต่ผู้ประกอบการในธุรกิจพลาสติกชีวภาพไทยจำเป็นต้องพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการเติบโตธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยมีปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญ คือ มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะการทำ R&D กับ Partners ที่แข็งแกร่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้แข่งขันกับพลาสติกทั่วไปได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งค้นหานวัตกรรมใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ที่สำคัญ สามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้เร็วและได้จริง ตลอดจนสร้างเครือข่ายทางธุรกิจในห่วงโซ่การผลิต ทั้งด้านการจัดหาวัตถุดิบและตลาดที่มีศักยภาพรองรับ รวมไปถึงการทดสอบและการขอรับรองมาตรฐานสินค้า เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค”
กำลังโหลดความคิดเห็น