โดย ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทาลิส จำกัด
เมื่อวันอังคารที่ 19 เมษายนที่ผ่านทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้ออกมาปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกลงเหลือ 3.6 % ในปี 2565 จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมกราคมว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตที่ 4.4% และยังปรับลดการเติบโตในปี 2566 จาก 3.8% เป็น 3.6% เช่นเดียวกัน การปรับในครั้งนี้ได้ส่งสัญญาณแก่นักลงทุนเป็นนัยยะว่าเราได้ผ่านจุดสูงสุดของวัฏจักรรอบนี้ไปแล้ว
สาเหตุหลักในการปรับลดประมาณการในครั้งนี้นั้นมาจากสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ยังคงยืดเยื้อซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการค้าโลกผ่านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากราคาพลังงานรวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆที่ได้มีการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้เองแล้วประเทศเครื่องจักรสำคัญอย่างจีนก็ยังคงเจอความท้าทายจากการใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อยับยั้งการระบาดของเชื้อไวรัส COVID 19 ที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตอยู่เป็นระยะ เศรษฐกิจที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวในขณะที่เงินเฟ้อยังปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้นจะเป็นโจทย์สำคัญต่อผู้ออกนโยบายอย่างแน่นอน
ในส่วนของบ้านเรานั้นทางธนาคารแห่ง
ประเทศไทยได้มีการปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน โดยแบงก์ชาติคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 และ 2566 จะเติบโตอยู่ที่ 3.2% และ 4.4% ตามลำดับ ซึ่งลดลงจากประมาณการเดิมที่ 3.4% และ 4.7% โดยมีปัจจัยอย่างค่าครองชีพที่สูงขึ้นเป็นตัวกดดันต่อภาคครัวเรือนรวมถึงกลุ่มเปราะบาง เพราะหากเราดูสัดส่วนตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนต่อ GDP ในปัจจุบันนั้นสูงถึง 90% และหากราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะยิ่งส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน
ท่านผู้อ่านอาจจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า “Sell in May and Go Away” เป็นประโยคที่เกิดจากสถิติในอดีตว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นในเดือนพฤษภาคมนั้นมักจะมีผลตอบแทนที่ไม่ค่อยดีนัก หากพิจารณาจากสภาวะตลาดปัจจุบันที่มีปัจจัยกดดันได้แก่ สงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียยังคงยืดเยื้อ เงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง Fed ที่กำลังลดสภาพคล่องอีกทั้งช่วงนี้กำลังเข้าสู่ช่วงประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสแรกของปี
การชะลอตัวทางเศรษฐกิจได้สะท้อนสู่ตลาดหุ้นการปรับลดประมาณคาดการ์ณกำไรของบริษัทจดทะเบียนในช่วงที่ผ่านมาที่นักวิเคราะห์ต่างปรับลดการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนเป็นปัจจัยกดดันต่อภาพการลงทุน อีกทั้งปัจจัยที่ผมที่กล่าวไปก่อนหน้านั้นน่าจะสร้างความผันผวนในระยะสั้นอยู่ไม่น้อย สิ่งที่นักลงทุนทำได้ในช่วงที่ความผันผวนเพิ่มขึ้นนั้นคือการควบคุมความเสี่ยง รวมไปถึงการกระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์ต่างๆ อย่างไรก็ตามแล้วท่ามกลางความผันผวนย่อมสร้างโอกาสในการลงทุนได้เช่นเดียวกันครับ