xs
xsm
sm
md
lg

"ประสาร" ชี้ 5 ปัจจัยที่เป็นโอกาส-ความท้าทายในตลาดทุนไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แสดงปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "บทบาทตลาดเงิน ตลาดทุน สู่จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย" ในงานสัมมนา SET ก้าวสู่ปีที่ 48 ขับเคลื่อนตลาดทุนแห่งอนาคต ว่า ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯ ประสบความสำเร็จในการทำหน้าที่เป็นสถาบันสำคัญในตลาดทุน ทั้งแง่การลงทุน และการระดมทุนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นกลไกสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรทุน และขับเคลื่อนการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ มี 5 เรื่องสำคัญที่จะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายในตลาดทุนไทย ซึ่งเป็นแนวโน้มทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการในตลาดทุน คือ 1.พัฒนาการทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ 2.ความท้าทายจากสถานการณ์โควิด 3.กระบวนการ Digitalization 4.พัฒนาการด้านสินทรัพย์ดิจิทัล 5.ความยั่งยืนกับการพัฒนาตลาดทุนไทย

เรื่องที่ 1 พัฒนาการทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ หรือความเสี่ยงด้าน Geopolitics มีมากขึ้น ซึ่งส่งผลและเชื่อมโยงกับตลาดทุนไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ครอบคลุมเหตุการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ ความขัดแย้งทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนในระบบเศรษฐกิจ และการดำเนินธุรกิจทั้งในประเทศและระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก เช่น ปัญหาทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา-จีน ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน

ซึ่งความเสี่ยงด้าน Geopolitics เหล่านี้จะมีผลกระทบเชื่อมโยงต่อตลาดทุนโลกและตลาดทุนไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ต้นทุนการประกอบธุรกิจจากความผันผวนของราคาพลังงาน อัตราเงินเฟ้อ ความผันผวนของค่าเงิน การเคลื่อนย้ายเงินทุน การท่องเที่ยว ตลอดจนการนำมาซึ่งมาตรการแทรกแซงการนำเข้า-ส่งออกสินค้า และการทำธุรกรรมภาคการเงิน ซึ่งเชื่อว่าสถานการณ์จะยังทอดยาวไปอีกพอสมควร และอาจเกิดผลกระทบในเชิงโครงสร้างต่อตลาดทุนไทยและตลาดทุนโลกในอนาคตได้

เรื่องที่ 2 ความท้าทายจากสถานการณ์โควิด โดยนับตั้งแต่การเริ่มระบาดของโควิดในประเทศจีนเป็นครั้งแรกเมื่อปลายปี 62 ทุกภาคส่วนในโลกล้วนได้รับผลกระทบทางด้านระบบสาธารณสุข และลุกลามต่อเนื่องมาเป็นปัญหาเศรษฐกิจและสังคมตามมา โดยในส่วนของประเทศไทย จากผลกระทบโควิดดังกล่าว เศรษฐกิจไทยเริ่มจะฟื้นตัวได้ในปี 64 ที่ 1.6% จากในปี 63 ที่เศรษฐกิจไทยติดลบไป 6.1% โดยในปี 64 SET Index เริ่มฟื้นตัว และบริษัทจดทะเบียนเริ่มมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น หลายองค์กรได้ปรับตัวเพื่อรับการแข่งขัน นำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนานวัตกรรมและธุรกิจในแบบ new economy มากขึ้น

แม้ภาพรวมจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งการฟื้นตัวของตลาดทุน แต่ในแต่ละภาคส่วนต่างได้รับผลกระทบและมีการฟื้นตัวที่แตกต่างกัน หรือเป็น K shape โดยอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่ฟื้นตัวได้ดีจะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากสถานการณ์โควิด ในขณะที่บางอุตสาหกรรมต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว เพราะได้รับผลกระทบอย่างมากจากการระบาด เช่น การท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ซึ่งการลดช่องว่างในการฟื้นตัวของแต่ละภาคธุรกิจนี้จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการของภาครัฐ รวมทั้งอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชนในการผลักดันให้ภาคธุรกิจสามารถแข่งขันได้ดีขึ้นและเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งในส่วนของ ตลท.ได้มีส่วนในการผลักดันและช่วยเหลือกลุ่ม SMEs/สตาร์ทอัปให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดียิ่งขึ้น เช่น การจัดตั้ง Live Platform ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเพื่อเป็นแหล่งความรู้และช่วยเตรียมความพร้อมให้ SMEs/สตาร์ทอัปเข้าสู่ตลาดทุน ในขณะที่ภาคธุรกิจเองจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป นำดิจิทัลเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการทำธุรกิจ และแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ

ทั้งนี้ ตลาดทุนไทยถือเป็นทางเลือกในการระดมทุนในช่วงวิกฤตหลายช่วงที่ผ่านมา และเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถของเศรษฐกิจไทยสู่ระดับภูมิภาค

เรื่องที่ 3 กระบวนการ Digitalization ซึ่งก่อนที่จะเกิดวิกฤตโควิด หลายธุรกิจได้เริ่มมีการนำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการพัฒนาการทำงานในด้านต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตของธุรกิจ และแหล่งรายได้ใหม่ๆ แต่เมื่อเกิดการระบาดของโควิด ได้ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต และการประกอบธุรกิจในวงกว้าง ทำให้หลายองค์กรต้องเร่งกระบวนการ Digitalization ให้รองรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และผลักดันองค์กรให้เข้าสู่ Digitalization อย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น

ในส่วนของตลาดทุนเองได้มีการผลักดันการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการแก่ผู้ร่วมตลาด เช่น การปรับปรุงบริการบริษัทจดทะเบียน แบบ end-to-end process การใช้ระบบดิจิทัลในกระบวนการทางธุรกิจ เช่น e-Service Platform, e-Proxy Voting, e-Signature, e-Document เป็นต้น การเพิ่มช่องทางดิจิทัลแก่นักลงทุนเพื่อการเข้าถึงบริษัทจดทะเบียน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตลาดทุน เช่น การพัฒนาระบบซื้อขายกองทุน FundConnext และเชื่อมโยงการซื้อขายสินค้า-บริการกับต่างประเทศ เช่น Clearstream

อย่างไรก็ดี ดิจิทัลเทคโนโลยีอาจมีช่องว่างที่นำมาสู่ช่องโหว่ในการเข้าถึงข้อมูล มีการแฮกข้อมูลที่สร้างความเสียหายต่อองค์กร ดังนั้นองค์กรในตลาดทุนจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นอย่างมากด้วย

เรื่องที่ 4 การพัฒนาด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ในปัจจุบันสินทรัพย์ดิจิทัลได้รับความสนใจอย่างมากจากคนรุ่นใหม่ ทำให้นักลงทุนรุ่นใหม่มีตัวเลือกมากขึ้นในการลงทุนสินทรัพย์ทางเลือก นอกเหนือไปจากการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ทองคำ และสินค้าโภคภัณฑ์ ตลอดจนการลงทุนในตลาดหลัก คือ ตราสารทุน และตราสารหนี้ ซึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกและกระจายความเสี่ยงในการลงทุน เพิ่มการเข้าถึงและการมีส่วนร่วมในตลาดทุน แต่อย่างไรก็ดี มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน เนื่องจากมีสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนสูง มีความไม่แน่นอนของกฎระเบียบและการกำกับดูแล รวมทั้งความเสี่ยงในการยืนยันตัวตน และปัญหาภัยทางไซเบอร์

สำหรับประเทศไทยนั้น ภายใต้โครงสร้างการกำกับดูแลในปัจจุบัน สินทรัพย์ดิจิทัลแบ่งได้ 3 ประเภทหลักๆ คือ cryptocurrency, investment token และ utility token โดยภาคธุรกิจและกิจการต่างๆ อาจเลือกระดมทุนด้วยการออก investment token และ utility token

ตลาดหลักทรัพย์ได้มีการเตรียมพร้อม platform ที่มีลักษณะเป็น open architecture ซึ่งอยู่ระหว่างขออนุญาตทำธุรกิจ digital asset exchange ที่พร้อมเชื่อมต่อและให้บริการร่วมกับ partner ต่างๆ เพื่อให้บริการการลงทุน การระดมทุน และบริการที่เกี่ยวเนื่องในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลโดยจะเน้นให้บริการด้าน digital tokens ทั้ง utility และ investment token

เรื่องที่ 5 ความยั่งยืนกับการพัฒนาตลาดทุน การดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนนั้นต้องมีการขยายแนวคิดให้กว้างขวางขึ้น โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ สังคมและสิ่งแวดล้อม หรือปัจจัยด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) หลักธรรมาภิบาล หรือ governance ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ได้อย่างยั่งยืน 

การที่องค์กรให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมีนโยบายบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ย่อมมีผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้น ตลาดทุนไทยจะมีบทบาทในการผลักดันให้องค์กรมีการเปิดเผยข้อมูล ESG พร้อมกับการพัฒนาระบบนิเวศธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การเปิดเผยข้อมูลและรายงานด้านความยั่งยืนแก่ผู้ลงทุน นับเป็นกระบวนการสำคัญที่ช่วยให้ผู้ลงทุนและผู้ใช้ข้อมูลได้เห็นถึงมุมมองการดำเนินธุรกิจในมิติที่กว้างกว่าข้อมูลทางการเงิน ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นต่อองค์กร

นอกจากจะส่งเสริมการนำหลัก ESG มาพัฒนาการดำเนินงานตามลักษณะการประกอบการของธุรกิจแล้ว ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้ส่งเสริมเรื่อง ESG ให้ทุก stakeholders ในตลาดทุนผ่านโครงการต่างๆ เช่น การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก การจัดการขยะ การปลูกป่า และเตรียมพัฒนา ESG Data Platform เพื่อการนำข้อมูลด้าน ESG ไปใช้ในการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

นายประสาร กล่าวว่า ตลาดทุนไทยเติบโตขึ้นมาก ทั้งในแง่การเป็นแหล่งเงินทุนและช่องทางการลงทุน ส่งเสริมความคล่องตัวให้ภาคธุรกิจ ผ่านการพัฒนาบริการและโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมสนับสนุนเรื่องความยั่งยืนให้ผู้มีส่วนได้เสีย และเมื่อมองไปข้างหน้า ซึ่งน่าจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

"ก้าวต่อไปของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต้องพร้อมรับทั้งโอกาสและความท้าทายที่จะเกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือต้อง "Rethink" และ "Redesign" เพื่อปรับตัวและใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่หยุดที่จะพัฒนาตลาดทุนให้เป็นกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป" นายประสาร กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น