ขณะที่ตลาดคริปโตฯ ขยายตัวทั่วโลกและสินทรัพย์ดิจิทัลได้รับความนิยมมากขึ้น The Conversation เว็บไซต์ข่าวที่ไม่หวังผลกำไร ได้ทำการสำรวจเพื่อวิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่าง “บุคลิกภาพด้านมืด” กับทัศนคติต่อคริปโตฯ รวมทั้งค้นหาว่า คนแบบไหนที่ยินดีรับความเสี่ยงและลงทุนเพื่อเก็งกำไรในสกุลเงินดิจิทัล
ผลการวิจัยที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ The Conversation เมื่อสัปดาห์ที่แล้วในรายงานชื่อ “บุคลิกภาพด้านมืดและบิตคอยน์ : อิทธิพลของบุคลิกภาพด้านมืดต่อทัศนคติเกี่ยวกับคริปโตและความตั้งใจในการลงทุน” เกี่ยวข้องกับการสำรวจความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่าง 566 คน เกี่ยวกับทัศนคติต่อคริปโตฯ และแผนการลงทุนในคริปโตฯ
บุคลิกภาพด้านมืดในที่นี้ ได้แก่ การชอบบงการ (Machiavellianism) หลงตัวเอง (narcissism) โรคจิต (psychopathy) และซาดิสม์ (sadism)
The Conversation ระบุว่า บุคลิกภาพด้านมืดมักเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมชอบเสี่ยง รายงานชิ้นนี้ยังตรวจวัดสื่อกลาง 3 อย่างที่เป็นเหตุผลในการซื้อคริปโตฯ ได้แก่ ความเชื่อมั่นในทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด (เช่น ความไม่ไว้ใจรัฐบาล) การคิดบวก (มองชีวิตแง่บวก) และความกลัวที่จะพลาดโอกาส (FOMO หมายถึงความรู้สึกว่า สิ่งที่ดีกว่ากำลังเกิดขึ้นกับคนอื่น)
ในบรรดาผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด 566 คน 26% บอกว่า ถือคริปโตฯ อยู่ และ 64% สนใจลงทุนในคริปโตฯ ที่สำคัญคือ งานวิจัยพบว่า บุคลิกภาพด้านมืดเป็นแรงขับเคลื่อนการซื้อคริปโตฯ
เกี่ยวกับบุคลิกภาพด้านมืด 4 แบบ การหลงตัวเองเชื่อมโยงกับทัศนคติต่อคริปโตฯ ที่มีการคิดบวกเป็นสื่อกลาง โดย The Conversation อธิบายว่า คนที่หลงตัวเองจะมั่นใจตัวเองสูงเกินไปและพร้อมมากกว่าที่จะทำสิ่งต่างๆ เช่น ลงทุนที่มีความเสี่ยงในตลาดหุ้นหรือการพนัน และการวิจัยพบว่า พวกหลงตัวเองชอบคริปโตฯ เพราะมีความศรัทธาแรงกล้าในอนาคต และเชื่อมั่นว่าชีวิตตัวเองจะดีขึ้น
พวกชอบบงการเกี่ยวข้องกับความตั้งใจในการลงทุนที่มีความเชื่อมั่นในทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดของรัฐบาลเป็นสื่อกลาง คนที่มีบุคลิกนี้ชอบคริปโตฯ เพราะไม่ไว้ใจนักการเมืองและหน่วยงานของรัฐบาล และผู้สนับสนุนคริปโตฯ จำนวนมากเชื่อว่า รัฐบาลคอร์รัปชัน ซึ่งคริปโตฯ สามารถหลีกหนีการคอร์รัปชันได้
สำหรับบุคลิกภาพแบบโรคจิตมีผลในแง่ขัดขวางความสามารถในการรับรู้ เข้าใจ และจัดการอารมณ์เนื่องจากขาดความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์และการเข้าใจคนอื่น งานวิจัยพบว่า บุคลิกนี้ส่งผลต่อความเห็นที่มีต่อคริปโตฯ ผ่าน FOMO กล่าวคือคนที่มีบุคลิกนี้ชอบคริปโตฯ เพราะกลัวพลาดโอกาสในการได้รับผลตอบแทนการลงทุนที่คนอื่นได้รับ
สุดท้ายผลวิจัยพบว่า ซาดิสม์ หรือการชอบความก้าวร้าวและการเห็นคนอื่นเจ็บปวด เชื่อมโยงกับ FOMO โดยปราศจากการคิดบวก ส่งผลให้คนกลุ่มนี้ชอบคริปโตฯ เพราะไม่อยากพลาดผลตอบแทนการลงทุน และในมุมมองของบุคลิกภาพนี้ ทั้งความพึงพอใจที่เห็นคนอื่นเจ็บปวดและความกลัวพลาดโอกาสล้วนเชื่อมโยงกับความเห็นแก่ตัว
สรุปคือ ทั้งกลุ่มซาดิสม์และโรคจิตต่างไม่มีความคิดแง่บวกต่อโอกาสของตัวเอง หรือเท่ากับว่า คนเหล่านี้ไม่ได้ลงทุนในคริปโตฯ เพราะความชอบแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม The Conversation ย้ำว่า ผลวิจัยนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่สนใจคริปโตฯ มีบุคลิกภาพด้านมืด แต่เป็นการศึกษาจากคนกลุ่มเล็กๆ ที่สนใจคริปโตฯ และมีบุคลิกภาพเหล่านี้เท่านั้น