ผลสำรวจใหม่ชี้คนอเมริกันกว่าครึ่งมองคริปโตฯ เป็น “อนาคตทางการเงิน” ทั้งที่นวัตกรรมนี้เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยได้ยินมาก่อนเมื่อทศวรรษที่แล้ว ขณะที่โพลอีกชิ้นพบว่า คนอเมริกัน 1 ใน 5 ลงทุน เทรด หรือใช้คริปโตฯ ตอกย้ำว่าสินทรัพย์ดิจิทัลยังคงได้รับความนิยมอย่างมากและลงหลักปักฐานรวดเร็วและมั่นคงแค่ไหน
สัปดาห์ที่แล้ว สตาร์กแวร์ หนึ่งในบริษัทที่พัฒนาโซลูชันการปรับขนาดอีเธอเรียม ได้เผยแพร่ผลสำรวจที่พบว่า คนอเมริกัน 53% คิดว่าคริปโตฯ จะเป็น “อนาคตทางการเงิน” และตัวเลขพุ่งเป็น 70% ในกลุ่มคนอายุ 25-34 ปี และ 60% สำหรับคนอายุ 35-44 ปี
ผู้ตอบแบบสำรวจประมาณ 17% ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล และสัดส่วนนี้เพิ่มเป็น 28% ในหมู่คนอายุ 25-34 ปี
เอลี เบน-แซสซัน ประธานสตาร์กแวร์ บอกว่า ที่น่าสังเกตคือระบบที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยได้ยินมาก่อนเมื่อทศวรรษที่แล้ว มาวันนี้กลับถูกยกให้เป็น “อนาคตทางการเงิน”
เขายังรู้สึกว่าข้อมูลนี้บ่งชี้ว่า โลกกำลังจะพบการเปลี่ยนแปลงทางการเงินครั้งใหญ่ที่สุดนับจากการคิดค้นบัตรเครดิต ขณะที่คนหนุ่มสาวถูกดึงดูดเข้าหาบริการการชำระเงินทางเลือก
จากรายงานฉบับนี้ นักลงทุนยังคงติดตามและเปลี่ยนแปลงการลงทุนของตัวเอง โดยพบว่า 82% ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนติดตั้งแอปติดตามและอัปเดตมูลค่าคริปโตฯ ประมาณ 50% ของคนเหล่านี้จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงการถือครองของตัวเองเล็กๆ น้อยๆ ทุกวัน และ 27% ทำวันละหลายรอบ มีเพียง 15% ที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลยตลอดสัปดาห์
ขณะเดียวกัน แม้ผลสำรวจนี้พบว่าคริปโตฯ ได้รับความไว้วางใจอย่างสูง แต่ผู้ตอบแบบสำรวจจำนวนมากบอกว่า มีปัญหาในการทำความเข้าใจแนวคิดของเทคโนโลยีบล็อกเชน โดย 36% สารภาพว่า คริปโตฯ ยากเกินกว่าจะเข้าใจ อย่างไรก็ตาม มีถึงกว่า 40% บอกว่า เคยได้ยินคำว่า “ไบแนนซ์” และ “บล็อกเชน” และ 34% คุ้นเคยกับคำว่า “NFT”
นอกจากนั้น ช่วงปลายเดือนที่ผ่านมาเอ็นบีซียังเปิดเผยผลสำรวจอีกชิ้นที่พบว่า คนอเมริกัน 1 ใน 5 ลงทุน เทรด หรือใช้คริปโตฯ ตอกย้ำว่า สินทรัพย์ดิจิทัลยังคงได้รับความนิยมอย่างมาก แม้บรรดาสมาชิกสภาพากันเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงในตลาดและเร่งดำเนินการเพื่อควบคุมอุตสาหกรรมนี้ก็ตาม
ผลสำรวจชิ้นนี้พบว่า ผู้ชาย 50% ในกลุ่มอายุ 18-49 ปี มีกิจกรรมเกี่ยวข้องกับคริปโตฯ
ข้อเท็จจริงที่ว่า 21% ของกลุ่มตัวอย่าง 1,000 คนบอกว่า เคยใช้หรือลงทุนในคริปโตฯ อย่างน้อยหนึ่งครั้ง แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมใหม่นี้ลงหลักปักฐานรวดเร็วและมั่นคงแค่ไหน
แฟนคลับคริปโตฯ บอกว่า สินทรัพย์อย่างบิตคอยน์ อีเธอเรียม และสเตเบิลคอยน์นำเสนอการทำธุรกรรมที่รวดเร็วยิ่งขึ้น ต้นทุนต่ำลง มีความเป็นส่วนตัว ปลอดภัย และโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินสำหรับผู้ที่ไม่มีบัญชีเงินฝาก
แต่สำหรับแกรี่ เกนส์เลอร์ ประธานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของอเมริกา (เอสอีซี) มองว่า ถ้าสภานิติบัญญัติไม่พยายามอย่างจริงจัง ตลาดคริปโตฯ จะมีสภาพเหมือน “บ้านป่าเมืองเถื่อน” และนั่นอาจเป็นสาเหตุที่มีผู้ตอบแบบสำรวจของเอ็นบีซีเพียง 19% ที่มองคริปโตฯ ในแง่บวก แต่มีถึง 25% ที่มองแง่ลบ ส่วนอีก 56% รู้สึกเฉยๆ หรือไม่แน่ใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมคริปโตฯ
อย่างไรก็ตาม ตลาดคริปโตฯ ขยายตัวเร็วมาก กระทั่งเมื่อต้นเดือนมีนาคมประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของอเมริกา ต้องลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารให้หน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลศึกษาความเสี่ยงและประโยชน์ของคริปโตฯ
แม้คณะบริหารของสหรัฐฯ มีท่าทีกังวลกับแนวโน้มการฉ้อโกงและการระดมทุนสำหรับกิจกรรมผิดกฎหมาย แต่ปรากฏการณ์นี้สะท้อนชัดเจนว่า อเมริกามีผลประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกำกับดูแลเพื่อติดตามตรวจสอบสกุลเงินดิจิทัล
ทั้งรีพับลิกัน และเดโมแครตต่างยอมรับแนวโน้มประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่ขณะนี้มีมูลค่าหลักล้านล้านดอลลาร์ กระนั้น หลายคนเตือนว่า การขาดการกำกับดูแลของภาครัฐจะทำให้ผู้บริโภคตกอยู่ในความเสี่ยงของการถูกหลอกลวงและความเสี่ยงจากความผันผวนรุนแรงของราคาคริปโตฯ