วิกฤตการณ์ที่เกิดเคยขึ้นมา และกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน คนรุ่นบุกเบิกในธุรกิจรับสร้างบ้านที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายสังเวียน ย่อมมีหลักการคิด และเตรียมความพร้อมในการนำพาองค์กรให้อยู่รอดปลอดภัยบนความไม่แน่นอน และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางอยู่! บริษัท รอแยลเฮ้าส์ จำกัด หนึ่งในบริษัทรับสร้างบ้านที่ยังในปัจจุบันยังคงโลดเล่นอยู่ในธุรกิจรับสร้างบ้าน และเป็นอีกแบรนด์ที่พยายามชูคอนเซ็ปต์ความต่าง ภายใต้สโลแกน "สร้างบ้านด้วยสมอง"นายศักดา โควิสุทธิ์ ผู้ก่อตั้งบริษัท รอแยลเฮ้าส์ จำกัด แม้จะได้ส่งไม้ต่อให้ทายาทรุ่น 2 (คนรุ่นใหม่) ในการรันธุรกิจรับสร้างบ้าน แต่เจ้าตัวมาเป็นที่ปรึกษา คอยให้คำแนะนำและกลั่นกรองความคิดของคนรุ่นใหม่
โดยนายศักดา กล่าวว่า แม้ตนเองจะผ่านสนามมาเยอะ แต่สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในตอนนี้ พูดตรงไปตรงมา "ต้องเดากับเฮง" ที่ใช้คำนี้ ถ้าเราย้อนไปช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่า โลกเปลี่ยนเร็ว เพราะเทคโนโลยีมาเร็ว การสื่อสารมันเร็ว ความเร็วจะส่งเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น สมัยก่อนเทคโนโลยีช้า จะเดาหรือทำนายก็ถูก แต่เราดูปลายปี 64 บอกว่าจะดีขึ้น พอเข้าสู่เดือนมีนาคม 65 ประเทศรัสเซียบุกยูเครน เพี้ยนไปหมดแล้ว ข่าวสงครามมีความตื่นเต้นและเปลี่ยนแปลงเร็ว ตอนต้นๆ สถานการณ์ดูจะแย่ แต่วันนี้ น้ำมันลงเพราะอะไร เกิดจาก
1.ประเทศจีนปิดเมืองล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ ดีมานด์หายไป 2.สถานการณ์สงครามยืดเยื้อ นึกว่าจะกินหมู ก็ต้องมีการเจรจา น้ำมันก็จะถูกลง อันนี้คือ 2 เด้ง นี้คือตัวอย่าง "เดาอย่างไรก็ไม่มีทางถูก ใครเดาถูกก็มีเฮง"
เรื่องดาต้าเบส คนรุ่นเก่ า(ตัวผม) ถ้าไปใช้ดาต้าเบส วันนี้ก็ไม่รอดหรอก แต่สิ่งที่คุณรุ่นเก่ารอดมาได้ คือ ความโชคดี ผมอยู่มา 30 ปี อยู่ช่วงนาทีทอง ถือว่าอยู่ได้นาน **เป็นความโชคดีของคนรุ่นเก่า มีระยะเวลาในการสะสมความมั่งคั่ง ตอนช่วงที่ดี ถ้าเรารู้จักเก็บ รู้จักการลงทุนที่ดี หมายถึงลงทุนเพื่ออนาคตไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่มีคนรุ่นใหม่และผู้ใหญ่ในสังคมจะบอกว่า จะคืนกำไรให้ชีวิต ใช้แบรนด์หรูๆ ไปพักผ่อนที่หรูๆ กินอาหารดีๆ นี่คือหลักคิดของคนที่คิดคืนกำไรให้ชีวิต
"แต่คนรุ่นเก่าอย่างผม โตขึ้นมาถูกสอนในเรื่องความขยัน อดทน ซื่อสัตย์ และประหยัด นี่คือคีย์ซัคเซสของคนรุ่นเก่า เราจะมีเงินเยอะ ผมรู้จักลงทุน สิ่งที่เราไม่เก่งคือ เรื่องเทคโนโลยี แต่เราเก่งในเรื่องความเป็นจริง ที่ว่า ประชากรเกิดขึ้นเรื่อยๆ ที่ดินไม่มีงอก ประสบการณ์ก็บอกอยู่แล้วว่า ที่ดินแพงขึ้นเรื่อยๆ ผมเอาเงินไปลงทุนในที่ดิน แปลงแรกของผมเยอะ เราลงทุนไม่รู้ตัว แต่เรามีหลักคิด เพราะเราเป็นคนสร้างบ้าน สมัยก่อน ฝเวลาที่ไปตรวจงาน ไซต์งานอยู่ตรงไหน ระหว่างตรวจงานเราจะได้ประสบการณ์ที่ไม่รู้ตัว สงสัยทำไมบริเวณนี้เจริญ ทำไมถนนเส้นนี้จะเจริญ เพราะด้วยอะไร ทำไมคนปลูกบ้านบริเวณนี้เยอะ คุณนึกออกหรือป่าว เราได้ประสบการณ์โดยไม่รู้ตัว"
สำหรับหลักการบริหารธุรกิจในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นายศักดากล่าวยอมรับว่า รอแยลเฮ้าส์ไม่มีกำไร แต่เรามี Fixed Cost เยอะ มีจำนวน 12 สาขา แต่ในปี 2563 คนมาสร้างบ้านน้อยลง เราเคยทำสถิติยอดขายสูงสุด 1,000 ล้านบาท ปี 2563 เหลือไม่ถึง 600 ล้านบาท แต่ปี 2564 เริ่มดีขึ้น ตัดปี 62 ออกไป ไม่มีอะไรตื่นเต้น
"ช่วงที่เกิดโควิด ฝุ่นเยอะนั้น เราเตรียมพร้อม ช่วงปลายปี 63 เราได้ขายที่ดินออกไป 1 แปลง และปีที่ผ่านมาขายอีก 1 แปลง พอขาย 2 แปลงนี้ โควิดอยู่อีก 5 ปี เราก็ไม่เป็นอะไร เรามีกระสุนเหลือเยอะ และพอเรารู้เรื่องที่ดิน ประสบการณ์จากปี 2540 สอนให้เรารู้ว่า วิกฤตจากปี 40 พังเพราะ Cash flow และอีกเรื่องคือ สร้างบ้านไม่ดี เก็บเงินไม่ได้ คนไม่ใช้บริการ นี่คือ 2 จุดใหญ่ จะเห็นว่าที่ดินของ 12 สาขารอแยลเฮ้าส์ เราซื้อหมด ไม่ได้เช่า ตั้งอยู่บนทำเลที่เด่น ใกล้ห้าง ใกล้รถไฟฟ้า หรือบางสาขา เช่น ที่จ.สระบุรี ซื้อมาไม่แพง รวมๆมูลค่าที่ดินของ 12 สาขากว่า 200 ล้านบาท ตรงนี้เราสามารถนำไปวางเป็นหลักประกันกับธนาคาร ทำให้มีวงเงิน O/D ไว้ใช้ พูดง่ายๆ กระแสเงินสดเราไม่เคยขาด แต่เราไม่ใช้ฟุ่มเฟือย ไม่ซี้ซั้วใช้ และทีมงานที่เรามีอยู่ก็อยู่มาโดยตลอด"
สำหรับประเด็นส่งท้ายแล้ว นายศักดา มองว่า ปี 65 สิ่งที่น่ากลัวที่สุด (อันนี้เดา) คือ วัสดุก่อสร้างจะปรับขึ้นอีก ปีที่ผ่านมา เหล็กขึ้นราคามาแล้ว 40% และยังไม่หยุด แต่ด้วยที่รอแยลเฮ้าส์ อาศัยการซื้อกับซัปพลายเออร์มากว่า 20 ปี สามารถล็อกต้นทุนเหล็กได้ประมาณ 3 เดือน แต่ต้องจ่ายเงินเต็มจำนวน ที่คุณถามผมว่า เหล็กจะขึ้นอีกเท่าไหร่ อันนี้ เดายาก และที่น่ากลัวอีกอย่างคือ ราคาน้ำมัน หากรัฐบาลยังตรึงราคาดีเซลอยู่ที่ 30 บาทต่อลิตร สถานการณ์ก็ไม่เลวมาก แต่ถ้าปล่อยลอยตัวเมื่อไหร่วุ่นวายแน่ เพราะทุกอย่างคือ ค่าขนส่ง