โกลบอล คอนซูเมอร์ แจง 3 แนวทางปลดล็อคเครื่องหมาย “C” เดินหน้าเพิ่มรายได้แตะ 10,000 ล้านบาทภายใน 5 ปี ยกระดับศักยภาพการผลิตรองรับดีมานส์ตลาด คุมต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย พร้อมลุยเจรจาทำ M&A ธุรกิจใหม่ๆ เสริมศักยภาพการเติบโต ต่อยอดสู่ Sustainable Food ตอกย้ำวิสัยทัศน์ “ผู้นำอุตสาหกรรมด้านการผลิตอาหารระดับโลก” ผู้บริหารยืนยันปี 2566 จ่ายปันผลได้ตามแผน
นายนพพร ภัทรรุจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกลบอล คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOCON ผู้นำการผลิตและจำหน่ายสินค้าอาหารและบรรจุภัณฑ์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่หลักทรัพย์ของบริษัทฯ ถูกขึ้นเครื่องหมาย “C” จากการมีส่วนผู้ถือหุ้นน้อยกว่า 50% ของทุนชำระแล้วสำหรับงบการเงินประจำปี 2564 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 นั้น ล่าสุดบริษัทฯ ได้จัดประชุมเพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้ถือหุ้น นักลงทุน และผู้ที่เกี่ยวข้อง (Public Presentation) เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยได้ชี้แจงสาเหตุเกิดจากการปรับกลยุทธ์ในการบริหารงานด้วยการตั้งสำรองค่าเผื่อการด้อยค่าในสินทรัพย์และตั้งสำรองค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในปี 2564 จากการยกเลิกธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม A&W และ Kitchen Plus ซึ่งเป็นธุรกิจที่ขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง
แต่ช่วงเดือนมกราคม 2565 บริษัทฯ ได้รับเงินเพิ่มทุนจากการใช้สิทธิแปลงสภาพตามใบสำคัญแสดงสิทธิ GLOCON-W4 จำนวน 266.40 ล้านบาท และได้รับเงินเพิ่มทุนจากการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิม (Right Offering : RO) จำนวน 381.54 ล้านบาท ส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่เพิ่มขึ้นจาก 914.10 ล้านบาท เป็น 1,562.04 ล้านบาท (ยังไม่รวมผลประกอบการในไตรมาส 1 ปี 2565 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565) หรือคิดเป็นอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้นจาก 45.91% เป็น 59% ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลับมามากกว่า 50% (ปรากฏในงบการเงิน ไตรมาส 1/65)
นายนพพร บอกเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้วางแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพผลการดำเนินงานด้วยการผลักดันรายได้เติบโตต่อเนื่องเป็น 3,000 ล้านบาท ในปี 2565 และขยับแตะ 10,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี (2565-2570) จากแผนการย้ายโรงงานอาหารแช่แข็งไปยังจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งจะเพิ่มกำลังการผลิตได้ถึง 3 เท่า เบื้องต้นตั้งเป้ายอดขายจำนวน 1,046 ล้านบาท ในปี 2565 รวมถึงแผนย้ายโรงงานผลไม้อบแห้ง ซึ่งมีระบบสาธารณูปโภคที่ดีมีมาตรฐานระดับสากลรองรับการขยายกำลังการผลิตในอนาคตได้อีกกว่าเท่าตัว ตั้งเป้ายอดขายเพิ่มเป็น 605 ล้านบาทในปี 2565 นอกจากนี้ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ยังมีการเติบโตต่อเนื่อง คาดรายได้ปี 2565 แตะ 742 ล้านบาท จากการเพิ่มปริมาณการใช้ของธุรกิจในเครือ และการขยายฐานลูกค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับธุรกิจเทรดดิ้งที่ยังเติบโตต่อเนื่องจากยอดขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งบริษัทฯ จะมีการรับรู้รายได้จากธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหาร ประเภทลูกชิ้นและไส้กรอก ภายใต้แบรนด์ “ลูกชิ้นทิพย์” อีกราว 550 ล้านบาท ในปี 2565 (เริ่มรับรู้ตั้งแต่มีนาคม 2565)
ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังวางแนวทางลดค่าใช้จ่ายด้วยการปรับปรุงศักยภาพด้านการผลิตให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเพียงพอต่อความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น พร้อมกับควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับประมาณการรายได้ ควบคู่ไปกับการเดินหน้ามองหาโอกาสทางธุรกิจด้วยการขยายฐานลูกค้าใหม่ให้มากขึ้น เพิ่มสินค้าให้หลากหลายและตรงต่อความต้องการของลูกค้า รวมถึงการเข้าไปลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ (M&A) เพื่อเสริมศักยภาพของกลุ่มธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนสู่ Sustainable Food ตอกย้ำวิสัยทัศน์การก้าวสู่ความเป็น “ผู้นำอุตสาหกรรมด้านการผลิตอาหารระดับโลก” ซึ่งจากแผนงานทั้งหมดข้างต้นมั่นใจสามารถจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้ภายในปี 2566
ทั้งนี้ ปัจจุบัน บมจ.โกลบอล คอนซูเมอร์ แบ่งธุรกิจเป็น 3 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย 1.ธุรกิจอาหารแปรรูปแช่แข็ง อาหารกึ่งสำเร็จรูปพร้อมทาน ลูกชิ้นทิพย์ และผลไม้อบแห้ง สัดส่วน 73% 2.ธุรกิจผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทต่างๆ สัดส่วน 24% 3.ธุรกิจเทรดดิ้ง สัดส่วน 3%