ธปท.เปิดฟังความคิดเห็นภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงิน เพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยส่วนใหญ่ให้ความสนใจเกี่ยวกับ virtual bank และโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ธปท.นำความเห็นเพื่อหาจุดสมดุลระหว่างการสนับสนุนนวัตกรรม กับการดูแลความเสี่ยง
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเปิดงานเสวนา Financial Landscape Consultation Session : เปิดมุมมองภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย ว่า ธปท. ได้มีการเปิดตัว consultation paper ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืนเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ได้สื่อสารมุมมองและการปรับวิธีคิดเกี่ยวกับภูมิทัศน์ภาคการเงินไทยในระยะข้างหน้า เพื่อเปิดรับฟังความเห็นจากสาธารณชน โดยในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ธปท.ได้รับความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางและแนวนโยบายในเรื่องนี้จากหลายช่องทาง ทั้งอีเมล/website จากประชาชน และจากการเดินสายหารือกับ stakeholders กลุ่มต่างๆ ทั้งหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแล ภาคเอกชน และภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยมีข้อสรุปดังนี้
ด้วยโลกเปลี่ยนเร็ว การวางทิศทางนโยบายเพื่อปรับภูมิทัศน์ภาคการเงินใหม่จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ธปท. จึงต้อง
(1) ปรับวิธีคิด เพื่อหาจุดสมดุลระหว่างการสนับสนุนนวัตกรรม กับการดูแลความเสี่ยง
(2) ปรับวิธีการ โดยสื่อสารสิ่งที่ ธปท. คิด รับฟังในวงกว้างขึ้น และมีความยืดหยุ่นโดยสามารถปรับเปลี่ยนทบทวนทิศทาง/แนวนโยบายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้
สำหรับวันนี้เป็นอีกเวทีสำคัญที่ ธปท. จะได้รับฟังความเห็นของแต่ละภาคส่วนเกี่ยวกับทิศทาง/แนวนโยบายที่ ธปท. นำเสนอในรายงานฉบับนี้เกี่ยวกับการปรับภูมิทัศน์ภาคการเงินไทยในแต่ละด้านที่สำคัญว่ามีความสมดุลและเหมาะสมหรือไม่ และจะร่วมกันผลักดันให้เกิดผลสำเร็จได้อย่างไร ทั้งในเรื่อง (1) digital หรือการเปิดให้ใช้ประโยชน์จาก tech มาพัฒนาบริการทางการเงินให้ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการได้ดีขึ้นและทั่วถึงขึ้น (2) ความยั่งยืน sustainability บทบาทภาคการเงินสนับสนุนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนทั้งเรื่อง green และหนี้และการเงินของภาคครัวเรือน (3) แนวทางการกำกับดูแล สง. ในลักษณะ resiliency คือ กำกับอย่างยืดหยุ่น และเท่าทันความเสี่ยง
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาพบว่าคนให้ความสนใจเรื่อง digital โดยเฉพาะ virtual bank และโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ เช่น CBDC กันมาก แต่จริงๆ แล้วยังมีอีกหลายเรื่องที่สำคัญ เช่น
- การผลักดัน open data และ risk-based pricing ให้ผู้ให้บริการนำข้อมูลลูกค้าที่เก็บหลายที่มาใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ โดยเฉพาะข้อมูลทางเลือก เช่น การจ่ายค่าน้ำค่าไฟ เพื่อให้ลูกค้าที่ไม่มี track record กับ สง. มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อในระบบมากขึ้นด้วยราคา risk-based pricing
- การวางรากฐานให้ภาคการเงินช่วยเศรษฐกิจปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม เช่น Thai taxonomy การจัดหมวดหมู่กิจกรรมตามระดับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ standard practice ให้ธนาคารประเมินความเสี่ยงและมีผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนธุรกิจให้ปรับตัว
- การช่วยครัวเรือนปรับตัวสู่โลกการเงินดิจิทัล และช่วยคนที่มีหนี้ไปต่อได้
นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสที่ดีที่พวกเราจะได้รับฟังความเห็นครบรสทุกด้าน ผ่านการแลกเปลี่ยนมุมมองจากผู้เข้าร่วมเสวนา ทั้ง 4 ท่าน
- คุณขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย
- คุณวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย
- คุณสันติธาร เสถียรไทย ประธานทีมเศรษฐกิจ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท SEA Group
- คุณเมธินี จงสฤษดิ์หวัง Thailand Country Consulting Leader and Executive Director บริษัท Deloitte Consulting ที่เป็นผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ มาช่วยให้ความเห็นอันเป็นประโยชน์และแลกเปลี่ยนมุมมอง
หลังจากวันนี้ ธปท. ยังเปิดรับฟังความเห็นจากทุกๆ ท่านจนถึง 28 ก.พ. ซึ่งเราจะนำความเห็นและข้อแนะนำที่ได้รับไปปรับปรุงทิศทาง/แนวนโยบายการปรับภูมิทัศน์ภาคการเงินไทยเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละภาคส่วนได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งนำไปกำหนดแนวทางการร่วมกันผลักดันให้ชัดเจนเป็นรูปธรรมขึ้นต่อไป