xs
xsm
sm
md
lg

กรุงไทยแนะใช้เมกะเทรนด์โลกพลิกสู่ “โมเดลเศรษฐกิจใหม่” ฟื้นธุรกิจเข้มแข็งยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรุงไทยเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยปี 65 ฟื้นตัวขึ้น แนะเร่งใช้ “เมกะเทรนด์โลก” ปรับตัวสู่ “โมเดลเศรษฐกิจใหม่” ฟื้นธุรกิจเติบโตเข้มแข็งยั่งยืน ชูโรดแมปสมาคมธนาคารไทย ยกระดับประเทศพร้อมแข่งขันระดับโลก

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB)
กล่าวในงานสัมมนา iBusiness Forum หัวข้อ “2022 Next economic chapter. New opportunities and challenges ก้าวต่อไปเศรษฐกิจไทย 2565 โอกาสและความท้าทายใหม่” ว่า ในปี 2565 เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่เส้นทางการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น หลังจากเผชิญกับสถานการณ์วิกฤตในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยที่ประชุมร่วมคณะกรรมการภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ครั้งล่าสุดได้คาดการณ์ว่าปี 2565 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้มากขึ้นที่ 3.0-4.5% เทียบกับปี 2564 ที่ขยายตัว 0.5-1.5% แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีอัตราการฟื้นตัวไม่เท่ากันในแต่ละภาคส่วน และยังมีความเปราะบางสูง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และกำลังซื้อของครัวเรือนที่ถูกกดดันจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นรวดเร็วจากผลกระทบของโควิด-19

สำหรับแนวโน้มต่อจากนี้ ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการเงินประเมินในทิศทางเดียวกันว่าต้องเร่งใช้โอกาสจากตัวขับเคลื่อนใหม่ๆ (New growth driver) และกระแสเมกะเทรนด์ของโลก เพื่อเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง บนแนวคิดของการเติบโตอย่างทั่วถึงและยั่งยืน โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่เข้าไปเปลี่ยนโฉมการดำเนินธุรกิจจะเป็นไปในวงกว้างและเข้มข้นขึ้น ซึ่งประเทศไทยมีความตื่นตัวและเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดทิศทางของทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคการเงิน ในการปรับตัวสู่โมเดลเศรษฐกิจใหม่ คือ Bio-Circular-Green Economy (BCG Economy) เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงการให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างทั่วถึง ตามกรอบแนวคิด “สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล” (Environment Social and Governance - ESG) ซึ่งจะเป็นการดำเนินธุรกิจให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรมและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระยะยาวให้แก่ธุรกิจรายย่อย เพื่อให้ภาคธุรกิจขนาดเล็กมีโอกาสในการเติบโตได้อย่างมั่นคง

"เมกะเทรนด์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงนี้จะเป็นตัวที่กำหนดทิศทางของทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคการเงินในการปรับตัวสู่โมเดลเศรษฐกิจใหม่ของไทย โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิสรัปชัน ทำให้เกิดนวัตกรรมการเงินที่หลากหลายเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจและประชาชน ซึ่งสถาบันการเงินไทยมีความตื่นตัวในการนำเทคโนโลยีทางการเงินมาปรับปรุงวิธีการดำเนินงานและรูปแบบธุรกิจของตัวเอง เพื่อให้แข่งขันได้ในบริบทที่คนไทยเข้าสู่ยุคของดิจิทัลไฟแนนซ์อย่างเข้มข้น เห็นได้จากการทำธุรกรรมโอนเงินผ่านโมบายแบงกิ้งที่คาดว่าอาจมีปริมาณสูงถึงกว่า 15,000 ล้านธุรกรรมในปี 2564 เติบโตจากในปี 2560 ที่มีเพียง 1,300 ล้านธุรกรรม เช่นเดียวกับการทำธุรกรรมผ่านระบบพร้อมเพย์ที่อาจมีจำนวนสูงถึงกว่า 9,400 ล้านธุรกรรม เติบโตขึ้น 10 เท่าจากปี 2560"

ทั้งนี้ เพื่อตอบโจทย์รองรับการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่ภูมิทัศน์ภาคการเงินไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไป ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิกได้ร่วมมือกันพัฒนาและขับเคลื่อนมาตรการหลายด้าน เพื่อเร่งนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาอำนวยความสะดวกด้านธุรกรรมทางการเงินให้แก่ภาคธุรกิจและประชาชน ตั้งแต่ระดับนโยบาย จนถึงมาตรการในทางปฏิบัติ ซึ่งจะมุ่งเน้นส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่โลกการเงินใหม่อย่างยั่งยืน ทั้งภาคการเงินและภาคครัวเรือน รวมทั้งคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการพัฒนานวัตกรรมและการบริหารจัดการความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงิน ตลอดจนความเสมอภาคทั้งผู้ให้บริการรายเดิมและรายใหม่ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและดิจิทัล เพื่อพัฒนาการให้บริการภายใต้บริบทการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ในส่วนของสมาคมธนาคารไทยตระหนักถึงโจทย์ที่ท้าทาย จึงได้วางโรดแมปในช่วง 3 ปีข้างหน้า เพื่อมุ่งส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน เพิ่มประสิทธิภาพและความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงิน ตลอดจนยกระดับการแข่งขันของประเทศไทยในระดับภูมิภาคและระดับโลก ใน 4 Theme ได้แก่
1.การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (Enabling Country Competitiveness) ซึ่งเทคโนโลยีถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะยกระดับขีดความสามารถการดำเนินธุรกิจให้ภาคธุรกิจในระยะต่อไป สอดคล้องกับภูมิทัศน์ภาคการเงินไทยที่จะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของภาคธุรกิจเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ มุ่งมั่นผลักดันการวางกรอบแนวทางและสนับสนุนระบบ Open Banking ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศ บนแนวคิดที่ลดความซ้ำซ้อนและเชื่อมโยงข้อมูลอย่างครบวงจร
2.การเป็นผู้นำการให้บริการทางการเงินในภูมิภาค (Regional Championing) สนับสนุนผู้ประกอบการและนักลงทุน เชื่อมโยงระบบโครงสร้างทางการเงินระหว่างกันในภูมิภาค เพื่อรองรับโอกาสใหม่ๆ ของภาคธุรกิจจากการขยายตลาดสู่ภูมิภาคอาเซียน ซึ่งถือเป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีศักยภาพการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
3.การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน (Sustainability) ผลักดันให้การดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนคำนึงถึงหลักการ ESG โดยสมาคมธนาคารไทยจะมีส่วนผลักดันให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่ BCG Economy ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยในการพัฒนาและนำแนวปฏิบัติด้านการธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking) ไปใช้ดำเนินธุรกิจ รวมถึงจัดทำ ESG Declaration อย่างชัดเจนและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล นอกจากนี้ สมาคมธนาคารไทยยังมุ่งมั่นที่จะร่วมกันแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดยสร้างกลไกการเพิ่มวินัยทางการเงินและส่งเสริมการออมเงิน โดยเฉพาะการออมเผื่อเกษียณ เพื่อช่วยให้ภาคครัวเรือนหรือกลุ่มเปราะบางอยู่รอดและปรับตัวสู่โลกใหม่ ตลอดจนมุ่งลดความเหลื่อมล้ำ โดยส่งเสริมให้ประชาชนและภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินได้มากขึ้น
4.การให้ความสำคัญด้านทรัพยากรมนุษย์ (Human Capital) พัฒนา Pool of Talents ที่มีทักษะตอบโจทย์โลกอนาคต โดยสมาคมธนาคารไทยจะเดินหน้า Upskill & Reskill พนักงาน ซึ่งปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีอยู่กว่า 1.36 แสนราย ให้มี Digital Literacy มากขึ้น มุ่งยกระดับให้สมาคมธนาคารไทยมีบทบาทเป็นฮับระดับชาติในด้านองค์ความรู้และการวิจัยของอุตสาหกรรมการเงิน เพื่อตอบโจทย์โลกการเงินที่เปลี่ยนไป สอดรับกับ Business model ของภาคธนาคารที่มุ่งสู่ Digital banking และเน้น Agility อย่างเต็มรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 และบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โรดแมปและยุทธศาสตร์ทั้ง 4 Themes ของสมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงานของภาคธุรกิจและยกระดับเศรษฐกิจไทย และจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยไปด้วยกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น