นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวถึงกรณีความชัดแย้งระหว่าง ยูเครนและรัสเซียว่า เป็นอีกปัจจัยที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากหากเกิดความรุนแรงและลุกลามไปถึงประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศในกลุ่มนาโต้จะส่งผลกระทบในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันที่จะสูงขึ้น เนื่องจากรัสเซียเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 11-12% ส่งผลให้ราคาน้ำมันยังคงมีราคาสูงอยู่อย่างน้อย 3 เดือนข้างหน้า จากปัจจุบันที่ราคาน้ำมันสูงทะลุ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลไปแล้ว รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ จะมีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย และในที่สุดจะกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
ส่วนผลกระทบต่อประเทศไทยนั้น เนื่องจากมีสัดส่วนของนักท่องเที่ยวรัสเซียอยู่ในระดับสูง อาจจะส่งผลกระทบภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ช้า จากเดิมที่คาดว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะก่อนโควิดในอีก 2 ปี อาจจะเลื่อนออกไปเป็นปี 2026 รวมถึงผลกระทบที่จะได้รับจากราคาน้ำมันที่สูง ส่งผลต่อเนื่องไปสู่ราคาสินค้าที่แพงขึ้น ซึ่งหากเกิดสถานการณ์ดังกล่าวภาครัฐจะต้องมีมาตรการต่างๆ ออกมาเพิ่มเติมเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน
นอกจากนี้ สถานการณ์ขัดแย้งของยูเครนกับรัสเซียจะทำให้ตลาดเงิน-ตลาดทุนมีความผันผวน เนื่องจากจะมีการดึงเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัย เช่น ทองคำมากขึ้น โดยในช่วง 1 เดือนข้างหน้าที่ระดับ 31.90-33.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
"สถานการณ์ยูเครนกับรัสเซียยังเป็นอีกตัวแปรที่ทำให้หลายฝ่ายมองว่า อาจทำให้เฟดลดความเข้มข้นในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยลง เนื่องจากหากสถานการณ์รุนแรง อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงมองว่าอัตราเงินเฟ้อน่าจะเข้าสู่ช่วงขาลงแล้ว หลังปัญหาห่วงโซ่อุปทานเริ่มคลี่คลาย ทำให้ความจำเป็นในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วไม่กดดันมากเท่าช่วงก่อน"
สำหรับค่าเงินบาทในปีนี้มองที่ระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินบาทไม่น่าจะอ่อนค่ามากเท่าในปีก่อนที่เงินบาทอ่อนค่าสุดในภูมิภาคที่ 10.3% ขณะที่ปัจจัยในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น หลังมีจำนวนผู้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้น่าจะเกินดุลได้ประมาณ 3,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังเริ่มเปิดประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กสิกรไทยยังคงกรอบประมาณการจีดีพีปี 65 ที่ 2.8-3.7% และจะมีการทบทวนตัวเลขต่างๆ ในเดือนหน้า โดยยังมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องของตัวเลขการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่สูงขึ้นค่อนข้างมากในช่วงนี้ จะส่งผลต่อการตัดสินใจดำเนินมาตรการควบคุมที่เข้มข้นขึ้นหรือไม่ รวมถึงสถานการณ์ขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง